‘ตกผลึก’ จากประสบการณ์สู่ทัศนะวิจารณ์ดนตรี ของ เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี

‘ตกผลึก’ จากประสบการณ์สู่ทัศนะวิจารณ์ดนตรี
ของ เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี
เรื่อง: พิชชาณัฐ ตู้จินดา
ภาพ: ฉัตรกร เกตุมี

เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี หรือครูอ้ำ นักดนตรีหน้าเข้มอารมณ์ดี เจ้าของเสียงซอหวานมีเสน่ห์ แม้เจ้าตัวบอกปฏิเสธ เพราะยังมีนักซออีก 3 ท่าน ที่มีน้ำเสียงซอคล้ายตน (ประมาณว่าหลับตาฟังแล้วไม่รู้ว่าใครสี) หากแต่เสียงซออู้ของครูในเพลง ‘คำหวาน’ หนึ่งในเพลงประกอบฉากภาพยนตร์โหมโรงที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ YouTube.com สามารถเรียกยอดคลิกกดฟังได้กว่าครึ่งล้าน การันตีเสน่ห์เสียงซอ ‘โดนใจ’ โดยเฉพาะน้ำหนักเสียงซออิ่มหู ฟังอบอุ่นเหนือกาลเวลา เป็นความเฉพาะที่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้

ก่อนชัดเจนว่าตนเหมาะกับแนวทางสีซอแบบครูวรยศ ศุขสายชล ครูอ้ำเคยผ่านการเรียนรู้วิธีสีซอจากครูซอหลายท่านต่างสำนัก ไม่ว่าจะเป็นครูวัน อ่อนจันทร์ ศิษย์เครื่องสายครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ที่มีรูปแบบสีซอเฉพาะตน ครูเบญจรงค์ ธนโกเศศ ศิษย์ซอครูไปล่ วรรณเขจร หรือวิธีสีแบบพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) ที่มีโอกาสเรียนรู้โดยตรงจากศิษย์ในสำนัก อย่างครูอุดม อรุณรัตน์ ครูคงศักดิ์ สุขีตานนท์ ครูสุพร ชนะพันธุ์

แม้ในวัยเด็กมีเหตุให้ครูอ้ำต้องเปลี่ยนครูสอนบ่อยครั้ง แต่ทว่าเป็นความได้เปรียบ เมื่อโลกความรู้เรื่องซอของครูอ้ำกลับขยายขอบเขตกว้างขวาง มากกว่าในเบื้องต้นจะจำกัดตัวเองอยู่กับความรู้ชุดใดชุดหนึ่ง กระทั่งหลังฝากตัวเป็นศิษย์ครูธีระ ภู่มณี เรียนรู้วิธีสีซอและทฤษฎีเสียงฉบับครูวรยศ ศุขสายชล ยิ่งสัมผัสนานวันยิ่งตอกย้ำความ ‘ชอบ’ และ ‘ใช่’ กระทั่งยึดเป็นแบบฉบับสีซอของตนถึงปัจจุบัน ทั้งท้ายที่สุดส่งผลดีต่อความเข้าใจ เพราะสามารถอธิบายข้อเด่นเรื่องดีแต่ละวิธีปฏิบัติได้อย่างชัดเจน

“ครูวรยศ ท่านไม่หยุดคิดวิธีเล่นซอ ยุคที่สอนให้ครูธีระ แนวคิดยังอยู่กับขนบเดิม ช่วงนั้นท่านให้ความสำคัญกับการใช้มือขวา เรื่องน้ำหนักเสียง เสียงออกมาต้องชัด อิ่ม ครูแบ๊ว (วันชัย เอื้อจิตรเมศ) ครูโดม (โดม สว่างอารมณ์) ก็ได้วิธีสีอย่างนี้มาเช่นกัน ปัจจุบันครูวรยศไม่ได้สีแบบนั้นแล้ว ครูให้ความสำคัญกับมือซ้าย พัฒนาเทคนิค สร้างเสียงใหม่ๆ ศิษย์ยุคนี้เล่นซอเสียงจึงพลิ้วบาง โดยเพิ่มเรื่องลูกเล่นต่างๆ แทน คนชอบแบบแผนจะชอบวิธีสีแบบครูธีระ ก็เข้าใจกันว่านี่ทางครูธีระ หากแต่ความจริงแล้วเป็นช่วงที่ครูวรยศสอนครูธีระไว้อย่างนั้น

“ทุกเรื่องออกมาจากความคิดครูวรยศ แต่ครูธีระก็มีความเป็นตัวของท่านเอง รูปแบบจับคันชักซอยังให้เสียงต่างกัน จับแบบสองหยิบ เหมาะกับเพลงที่ต้องการความเร็ว เพราะคนเล่นจับคันชักน้อย ข้อมือจึงอิสระ พลิ้วไหว แต่เสียงบาง สามหยิบให้เสียงหนากว่า เพราะสีทั้งแขน ถ้าจะเปลี่ยนมาใช้ข้อมือก็ชักนิ้วกลับ ยังมีสองหยิบแบบคันชักซอจีน สองนิ้วเหนี่ยวหางม้า กรณีคันชักหย่อนต้องใช้กำลังนิ้วรั้งให้ตึง โดยเฉพาะทฤษฎี 17 เสียง ของครูวรยศ ผมถือว่าเป็นคัมภีร์เทวดา ที่จะไขเรื่องลึกลับของระบบเสียงดนตรีไทย

“วิธีกดสายซอ ผมเรียนทั้งวิธีกดด้วยข้อและปลายนิ้ว เมื่อก่อนยอมรับว่าไม่ชอบวิธีกดด้วยข้อนิ้ว แต่ตอนนี้ความคิดเปลี่ยน ผมไปเห็นวงดนตรีอาเซียน เกาหลี หลายประเทศที่ใช้ข้อนิ้วเหนี่ยวสายซอแบบครูฉลวย จิยะจันทน์ แฮกึม ซอเกาหลี ใช้นิ้วเหนี่ยว เพราะเป็นซอไม่มีรัดอก ครูกัมพูชาชื่อยุนเทียรา ใช้นิ้วกำซอเล่นอย่างเพราะ แต่พอเล่นกับวงออร์เคสตราก็เปลี่ยนมาใช้ปลายนิ้วแทน สรุปว่าเขาเล่นได้ทุกแบบ กลับมาที่ไทยล่ะ มันแล้วแต่ความนิยม ถามว่าหลับตาฟังรู้ไหม ใครกดข้อหรือปลายนิ้ว”

ครูอ้ำเรียนจบชั้นประถมฯ ที่โรงเรียนวัดอัมรินทราราม และชั้นมัธยมฯ ที่โรงเรียนจิตรลดา จบปริญญาตรีจากสาขาวิชาดุริยางค์ไทย ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอบเข้าเรียนปริญญาโทที่สาขาวิชาฯ ดังกล่าว ก่อนสรุปว่าตนเองมีความสุขกับการเล่นดนตรีมากกว่าอยู่กับตำราและตัวหนังสือ เรียนได้เพียงหนึ่งเทอมจึงหยุด พร้อมกับได้งานทำที่สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ในปี 2537

แม้ออกตัวว่าผลการเรียนวิชาสามัญจะอยู่ระดับปานกลาง โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ที่เป็นคู่ปฏิปักษ์ แต่ทว่ากลับถนัดและมีใจให้งานศิลป์มากกว่า ไม่ว่าจะเขียนรูปลายไทย ที่ครูเล่าว่าชื่นชอบถึงขึ้นจะไปสอบเป็นนักเรียนช่างศิลป์ หรือช่วงมัธยมปลายที่คว้าแชมป์ชนะเลิศเดี่ยวซอถึง 2 เวที สองสมัยซ้อน ไม่ว่าจะเป็นประลองเพลงประเลงมโหรี ครั้งที่ 2 (เดี่ยวซอสามสาย เพลงบุหลันลอยเลื่อน) ครั้งที่ 3 (เดี่ยวซอด้วง เพลงลมพัดชายเขา 2 ชั้น) และประกวดศรทอง ครั้งที่ 1 (เดี่ยวซออู้ เพลงลาวดวงเดือน) ครั้งที่ 2 (เดี่ยวซอด้วง เพลงแขกสาหร่าย 2 ชั้น) โดยมีคุณแม่ (ครูพัฒนี พร้อมสมบัติ) เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ที่ครูใช้คำว่า “แม่เป็นแรงหนุนที่ยิ่งใหญ่มาก”

ด้วยวันเวลาบวกอายุที่เพิ่มขึ้น แน่นอนว่าประสบการณ์และความรู้ที่เพิ่มพูนย่อมส่งผลต่อความคิดและทัศนคติ โดยเฉพาะมุมมองเรื่องดนตรีที่ครูบอกว่า ทุกวันนี้ทุกครั้งที่เล่นดนตรี ตนให้ความสำคัญกับเรื่องความรู้สึกในใจ การทำงานของสมอง และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น มากกว่าเน้นหนักเรื่องฝีมือเป็นหลักอย่างในอดีต เป็นความสมดุลระหว่าง ‘ทักษะภายนอก’ กับ ‘การเรียนรู้ภายในใจ’

“ตัวอย่างง่ายๆ ครูปี๊บ คงลายทอง เล่นดนตรีด้วยกันมานาน มองตาก็รู้ใจ ครูปี๊บเป็นคนให้เกียรติคนอื่น แต่ครูก็มีดีในตัว ครูเล่นตรงนี้ออกมา เรารู้เลยว่าข้างหน้าคืออะไร เราไปดักคอย ครูก็ชอบใจ บางทีครูทำเสียงปี่ล้อคนในวง สนุกสนาน อีกคนคือครูสมบูรณ์ บุญวงศ์ คนซอและจะเข้มีฝีมือ แต่รู้จักผ่อนปรน เขาเห็นว่าเราเล่นแรงมาอย่างไร ไม่เคยขืน ดีดจะเข้เรียบคอยหนุน เป็นส่วนผสมที่ลงตัว อร่อย นี่คือวงเครื่องสายปี่ชวา กรมศิลปากร

“มันสะท้อนถึงการเปิดใจยอมรับทางดนตรี อัตลักษณ์ดนตรีไทยอยู่ตรงนี้ เป็นการสังสรรค์ทางสุนทรียะ คิดว่านี่เป็นผลสำเร็จของการรวมวงดนตรีไทย ไม่ใช่ส่องไฟไปที่คนใดคนหนึ่ง ดนตรีอุษาคเนย์ก็มีลักษณะเป็นอย่างนี้เช่นกัน แต่เรากำลังหลงลืม ทำให้ดนตรีไทยเป็นดนตรีกระด้าง ใช้ทักษะหาประโยชน์ใส่ตัว ชั้นเก่งกว่าแก แกเห็นไหมชั้นทำได้ แกตามชั้นไม่ทัน อันนี้ไม่ใช่แนวทางผม

“หรือเพลงร่วมสมัยของครูบรูซ แกสตัน เพลงฟองน้ำ เขมรเหนือเขมรใต้ออกกราวตลุง สองเพลงนี้สุดๆ ไปเลย เพราะใจไปด้วยกัน ใจทุกคนไปอยู่ที่ครูด้วยความศรัทธา ขณะเดียวกันครูก็แจกใจมาที่พวกเรา มันไม่ใช่สายไฟหลายสายรวมกัน แต่เป็นสายไฟสายเดียวที่ร่วมแสดงพลัง พวกเราเล่นอะไร ครูตามได้หมด เรารู้ว่าครูจะเล่นตรงนี้ เราหนุน มีความสุขมาก แล้วดนตรีที่ออกมาจะไม่เพราะได้อย่างไร

“กับวงกอไผ่ น่าจะเพราะความสนิทสนมส่วนตัว รู้นิสัยจึงเดาทางกันถูก ตอนนี้เราไม่ได้เล่นเพลงเร็วๆ เท่าไหร่ เล่นเพลงโชว์สมองมากกว่า ต่างจากกอไผ่ตอนหนุ่ม เขมรราชบุรี ไหว้ครูมูลนิธิฯ ต้นฉบับที่คนฟังกันมาก วันดี สุขนวม ร้อง พี่นิก (อ.ชัยภัค ภัทรจินดา) ซอด้วง ผมซออู้ พี่หน่อง (อ.สหรัฐ จันทร์เฉลิม) จะเข้ พี่ประสาร (อ.ประสาร วงศ์วิโรจน์รักษ์) ขลุ่ย พี่หน่อง (อ.อานันท์ นาคคง) โทนรำมะนา ตอนนั้นผมยังเรียนอยู่ ท่อนแรกแนวกำลังตึง เราส่งสัญญาณกับพี่ๆ ให้ช้าหน่อย เขาเข้าใจว่าให้เร็วขึ้นอีกๆ ตายไปเลย ตะครุบจนจบเพลง โมโหมาก ผมเหวี่ยงซอลงพื้นเดินงอนหนีไปเลย เป็นเรื่องเล่าสนุกถึงทุกวันนี้

“หรือเรื่องแบบแผนกับสุนทรียะ เคยฟังน้าเล็ก คาราบาว สีซอไหม ไปหาฟัง สีโดนใจทุกเพลง แต่ดูมิวสิควีดีโอ น้าเล่นอะไรของน้า สีซอจีนมือกำทั้งคันชัก นิ้วมั่วไปหมดเพราะหัดเอง แต่เขาเข้าใจ บางทีมันไม่ได้มาในรูปแบบ มันมาจากใจ แต่ก็ทิ้งกันไม่ได้ แบบแผนเป็นเรื่องการสั่งสมทางภูมิปัญญา เป็นการจัดระเบียบวิธีเล่นให้มีมาตรฐาน แต่ไม่ควรเอามานำหน้าสุนทรียะจนเกินไป ผมไม่ได้บอกว่านี่เป็นสุดยอดความคิด ผมเสนอไว้ให้ช่วยกันพิจารณาเท่านั้น”

น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ก้าวแรกบนโลกดนตรีของครูอ้ำ แม้เริ่มต้นด้วยวิธีและแนวคิดขนบนิยม แต่ทว่าครูกลับไม่ยอมหยุดตัวเอง ณ จุดนั้น อาจเพราะด้วยนิสัยส่วนตัวที่ครูเผยว่า ชอบสิ่งที่พัฒนาและต่อยอดความคิดได้ (รวมถึงเรื่องเทคโนโลยีด้วย) ความต้องการสัมผัสดนตรีอื่นที่ไม่คุ้นเคยจึงเป็นเรื่องที่ครูสนใจ โดยเฉพาะผลงานดนตรีร่วมสมัยของวงฟองน้ำที่ครูติดตามซื้อฟังตั้งแต่ยุคแรก กระทั่งได้เป็นส่วนหนึ่งของวงฟองน้ำในผลงานชุดที่ 3 พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ตัวเองยิ่งขึ้นด้วยการไปเป็นนิสิตฝึกงานที่นั่น

“คิดว่าเป็นคลื่นที่ปรับเข้ากันได้ เพราะสนใจดนตรีอื่นๆ มาตั้งแต่มัธยมต้น แม่อัดเพลงนานาชาติของวงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร มาให้ฟัง จุดนั้นทำให้คิดได้ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของโลก ไม่ใช่แค่เป็นส่วนหนึ่งของดนตรีไทย คิดแบบตลกๆ ผมเหมือนไอ้มดแดง ถ้าดูหนังเรื่องนี้ มดแดงเกิดจากองค์กรช็อกเกอร์ เป็นเหล่าร้ายทำลายโลก ตอนหลังกลับใจเป็นฮีโร่ ผดุงความยุติธรรม อยู่ระหว่างสีดำกับสีขาว แต่ฟองน้ำกับกอไผ่ไม่ใช่สีดำหรอก เป็นสีผสม

“วงฟองน้ำสมัยนั้นนี่โอ้โห โอ้โหเลย ต่อต้านกันมาก หาว่าแหกคอกนอกครู วงกอไผ่ก็ขึ้นชื่อ ขึ้นชื่อว่าเป็นวงนอกคอกอันดับหนึ่ง ปี 4 วิชาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ผมตั้งใจขออาจารย์ที่ปรึกษา (อ.ปกรณ์ รอดช้างเผื่อน) ไปฝึกงานที่นั่น ฝึกงานกับฟองน้ำทำทุกอย่าง เก็บสายไฟ ม้วนสายเคเบิ้ลไมโครโฟน แบกของ ขนเครื่องดนตรี แต่ที่เด็ดสุด เราได้เล่นดนตรีกับเขา ตื่นเต้นมากๆ คือได้บันทึกเสียงซอด้วงวงมโหรี เพลงโหมโรงขวัญเมือง (อัลบั้ม Siamese Classical Music: The Mahoree Ensemble)

“ครูบรูซ แกสตัน เป็นคนเปิดประตูความคิดดนตรีร่วมสมัยให้ผม ทำให้เห็นว่า ดนตรีไทยไม่ใช่แค่เครื่องสายมโหรี วงปี่พาทย์ เพลงทยอยหรือเพลงเถา เราเจอหรือยัง ความเป็นดนตรีไทยคืออะไร แต่ครูบรูซเจอ คงโชคดีที่ครูไม่ใช่คนไทย ครูถึงเจอ ครูนำสิ่งนั้นมาต่อยอดความคิดสร้างสรรค์อีกมาก แต่ตอนนี้ฟองน้ำก็ไม่ได้เล่นอย่างนั้นแล้ว กลายเป็นร่วมสมัยแบบป็อป มันเกี่ยวกับความอยู่รอดในการทำมาหากิน

“สักตัวอย่างหนึ่งก็ได้ เพลงสุดถนนคอนกรีต คุณควรฟัง ฟังแล้วจะบ้าไปเลย เพราะดนตรีร่วมสมัยของครูนั้น ครูเอาสากลมาเล่นดนตรีไทย ไม่ใช่เอาดนตรีไทยมาเล่นเป็นสากล แต่งเพลงใหม่หมด พื้นฐานทำนองเพลงไทย แต่ใช้หลักคณิตศาสตร์ในการแต่ง สร้างจังหวะใหม่ กระสวนทำนองใหม่ หน้าทับใหม่ด้วย นำแนวคิดดนตรีอินเดียมาประยุกต์ ฟังแล้วพิสดาร อาจารย์หน่อง (อานันท์ นาคคง) จะอธิบายได้ดีกว่าผม ตอนนั้นทึ่งสุดๆ มันใช่ในสิ่งที่เราต้องการ โดยเฉพาะใช้แนวคิดดนตรีร่วมสมัยนี่แหละ ทำผลงาน อะลัว: เพลงไทยหวานๆ (Alua: Siamese Sweeties) ร่วมกับ อ.หง่าว (อ.บุญรัตน์ ศิริรัตนพันธ) เป็นงานดนตรีร่วมสมัยที่ออกมาจากความคิดผม”

จากแนวคิดดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ผลงานปรับวงเครื่องสายไทยบางส่วนของครูอ้ำ ไม่ว่าจะเป็นแขกโอด 3 ชั้น ทางฝั่งธนบุรี บุหลัน 3 ชั้น หรือโหมโรงรัตนกวี เป็นการนำความรู้ระหว่างวิธีปรับวงดนตรีไทยและทำทางเครื่องดนตรีที่ครูเคยสัมผัสซึมซับจากครูบุญช่วย โสวัตร และครูวรยศ ศุขสายชล ผนวกอย่างลงตัวเข้ากับวิธีคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่บนพื้นฐานเดิม ของครูบรูซ แกสตัน ทำให้เกิด ‘เสียงใหม่’ ในวงเครื่องสายไทยฉบับครูอ้ำ เป็นเสียงร่วมสมัยที่เหมาะกับหูคนฟังยุคปัจจุบัน

“บางท่านเข้าใจว่า ดนตรีไทยร่วมสมัยต้องทำไทยให้เป็นสากลอย่างเดียว ไม่ใช่ ร่วมสมัยที่ผมพูดถึง เป็นการนำแนวคิดและวิธีการสมัยนี้มาใช้ เป็นร่วมสมัยที่ออกมาในรูปแบบแผน ผมทดลองปรับวงด้วยวิธีนี้ 4-5 ปี แล้ว เราชินกับการเล่นดนตรีจากช้าไปหาเร็ว หรือที่เรียกเรียวหางหนู ลองใช้วิธีอื่นๆ บ้างได้ไหม ผมใช้วิธีฐานเจดีย์ เป็นขั้นๆ เริ่มจากช้าช่วงต้น พอจะเปลี่ยนแนวก็พุ่งไปเลย เป็นการดึงอารมณ์คนฟังให้ตามไปกับจังหวะเพลง ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลมาจากครูวรยศ ศุขสายชล

“โดยส่วนตัว ผมยังอยากเห็นซอไทยมีมาตรฐานกว่านี้ สร้างเครื่องดนตรีใหม่ๆ เกี่ยวกับซอ ขยายช่วงเสียงให้กว้างขึ้น เพราะช่วงเสียงซอไทยยังอยู่ประมาณวิโอล่า ไม่ถึงเชลโลด้วยซ้ำ เพิ่มมิติเสียง ประยุกต์วิธีเล่นและสร้างสำเนียงใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความลึกซึ้งทางอารมณ์ ความฝันอีกอย่าง คือผมอยากทำวงเครื่องสายไทยที่ใช้คนจำนวนมาก

“วิธีเล่นยังเป็นแบบไทย ใช้ระบบเสียงไทย ตะวันตกเขาแยกเสียงประสาน (Harmony) แต่ผมนึกถึงการทำทาง (Heterophony) ซอด้วงเล่นทางหนึ่ง ซออู้เล่นอีกทางหนึ่ง อาจเรียบเรียงบางช่วงให้หนีจากรูปแบบเดิม แต่ไม่ทิ้งของเก่า เช่นสีทำนองหลักแล้วค่อยๆ ห่างขึ้น คือมีตัวถี่ตัวห่าง ห่างมากห่างน้อย คิดว่าถ้าจะทำก็ทำได้ แต่ยังไม่มีโอกาส เพราะต้องใช้กำลังในการรวบรวมลูกศิษย์ ขอให้ติดตามฟังก็แล้วกัน”

ทุกวันนี้ นอกจากงานหลักที่สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ครูอ้ำยังจัดเวลาส่วนหนึ่งไว้ให้กับลูกศิษย์ที่สนใจเรียนซอ กับอีกหลายสถาบันการศึกษาที่เชิญครูไปเป็นอาจารย์พิเศษ ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (เริ่มสอนตั้งแต่ปี 47 รวมเวลา 10 ปี) คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ หรือที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ช่วงบ่ายแบ่งเวลาว่าง ‘เดินห้าง’ กิจกรรมส่วนตัวที่ครูบอกว่าเป็นการผ่อนคลายที่ดีที่สุด และอยู่ดูแลลูกสาววัยน่ารัก 2 คน คือน้องน้ำอุ่น (พัดชา) และน้องน้ำอบ (อัญชยา)

สำหรับผลงานบันทึกเสียงซอล่าสุดของครูอ้ำที่หาฟังได้แล้วในรูปแบบซีดี คืออัลบั้มชุด Siam Vacation ผ่อนคลายสบายซอ ชุดที่ 2 ครูสีซออู้เพราะๆ ร่วมกับเสียงเปียโนจาก อ.ชัยภัค ภัทรจินดา (เปียโนไฟฟ้า) และ อ.ธนรัช อนุกูล (อคูสติกเปียโน) (ชุดที่ 1 ครูอ้ำสีซอด้วงร่วมกับเสียงเปียโนจาก อ.อมร พุทธานุ) และนอกจากผลงานแสดงสดร่วมกับวงดนตรีต่างๆ เดินทางทั่วทั้งในและหลายประเทศ ที่สำคัญครูยังมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม ASIA Traditional Orchestra จัดขึ้น ณ ประเทศเกาหลีใต้ ตั้งแต่ปี 2550 ต่อเนื่องยาวนานถึง 7 ปี เป็นการเปิดโลกดนตรีร่วมกับนักดนตรีจากหลายชาติในกลุ่มประเทศอาเซียน ครูอ้ำแบ่งปันประสบการณ์ดังกล่าวเป็นผลึกความคิดอีกชั้นที่ทิ้งท้ายให้ฟังอย่างน่าสนใจ

“ขยับมานอกกะลา คุณจะรู้ว่าคุณเป็นแค่ธุลีเม็ดหนึ่งในจักรวาล การเดินทางเป็นการติดปีก ไม่ใช่เพื่อบินให้สูง แต่บินไปหาความประเทืองปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ ต้องเปิดใจด้วยนะ บางคนปิดใจไปร้อยครั้งก็ไม่เห็น เห็นอะไร เห็นว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลก ดนตรีไทยไม่ใช่ที่หนึ่ง ถามว่าวงออร์เคสตราเป็นของประเทศไหน ใครตอบได้ เล่นอย่างนี้แบบเยอรมนี อย่างนี้แบบรัสเซีย อธิบายแบบนี้ดีกว่าไหม แล้วมองมาที่ไทย

“นักดนตรีกัมพูชาสีซอเล่นโพซิชั่นแม่นกว่าคนไทยอีก คุณภาพการเรียนการสอนดนตรีในประเทศอาเซียน โดยเฉพาะเรื่องซอ ไทยเราอ่อนสุด ผมกล้าพูด อย่างน้อยเขาก็ได้เปรียบเรื่องโน้ตสากล เขมร มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ มีการใช้โน้ตสากล พม่า เวียดนาม ใช้โน้ตสากล แล้วก็โน้ตตัวเลขแบบจีน คุณอ่านเขียนโน้ตสากลได้ คุณก็ติดต่อกับโลกได้ ไทยเราจะตามเขาไปถึงไหน

“ส่วนใหญ่เขารู้จักซอกัมพูชามากกว่าซอไทย บางทีเข้าใจผิด ถามว่านี่กัมโบเดียหรือเปล่า ไม่ใช่เพราะความดีของดนตรี แต่อยู่ที่แรงสนับสนุนและวิธีการจัดการ กัมพูชาเขารุกไปหาโลกมากกว่าเรา พร้อมทั้งเรื่องภาษา ทุนทรัพย์ แรงใจ เราติดอุปสรรคเรื่องการจัดการ เราไม่รุกหา จะว่ารับก็ไม่รับ นั่งเฉยๆ มีมาก็ไป แค่ภาษาอังกฤษเราก็จอดแล้ว”

“ดนตรีเป็นความสุขแบบปัจเจก รสนิยมบังคับกันไม่ได้ ผมไม่ได้ให้ทุกคนคิดว่าดนตรีต้องพัฒนา บางคนชอบอยู่เฉยๆ บางคนอยากถอยหลังกลับไป ไม่ผิดครับ ส่วนตัวผม ผมชอบก้าวไปหาสิ่งใหม่ๆ แต่ไม่ทิ้งทุนเดิม ไม่ก้าวไปตามอำเภอใจตัวเอง ส่วนใหญ่สังคมดนตรีไทยใจยังแคบ ไม่เรียนรู้ความแตกต่าง เขามีแนวคิดอย่างไร เสน่ห์ดนตรีของเขาคืออะไร หาจุดเด่นหรือความเป็นเขา มองอย่างนี้จะมีความสุข มากกว่ามานั่งเหยียดกันไหม นี่ทางบ้านนอก ผิดทางผิดครู

“เพราะใจนี่แหละ สุดท้ายจะนำไปสู่ความสันติสุขของมวลมนุษยชาติ”

—————————————————————————————————————————————————–
เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี เกิด 11 สิงหาคม 2514 ทายาทคนเดียวของนายเริงเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี และครูพัฒนี พร้อมสมบัติ เป็นศิษย์เครื่องดนตรีประเภทซอของครูซอหลายท่าน อาทิ ครูวัน อ่อนจันทร์ ครูเบญจรงค์ ธนโกเศศ (ศิลปินแห่งชาติ) ศ.อุดม อรุณรัตน์ ครูสุพร ชนะพันธุ์ ครูคงศักดิ์ สุขีตานนท์ โดยเฉพาะศึกษาวิชาซอสามสายขั้นสูงกับครูเจริญใจ สุนทรวาทิน (ศิลปินแห่งชาติ) วิชาซอด้วง-ซออู้ ขั้นสูงกับครูธีระ ภู่มณี เรียนรู้การปรับวงดนตรีไทยกับครูบุญช่วย โสวัตร ศึกษาทฤษฎีเสียงดนตรีไทย (ทฤษฎี 17 เสียง) กับครูวรยศ ศุขสายชล และซึมซับแนวคิดดนตรีร่วมสมัยจาก อ.บรูซ แกสตัน

ผ่านงานดนตรีหลากหลายประเภท ทั้งบรรเลงสดและผลงานบันทึกเสียง ในรูปแบบประเพณีและร่วมสมัย เป็นสมาชิกนักดนตรีวงกอไผ่ วงฟองน้ำ ฯลฯ ปัจจุบันรับราชการตำแหน่งดุริยางคศิลปินอาวุโส กลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ชีวิตครอบครัวสมรสกับลิลา มหาวินิจฉัยมนตรี อาจารย์ประจำ โครงการศึกษาดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป ว.ดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล

(สัมภาษณ์วันที่ 23 ธันวาคม 2557 ห้องซ้อมเครื่องสายไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร)

ครูอ้ำ อ.เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี / ฉัตรกร เกตุมี : ถ่ายภาพ 23 ธันวาคม 2557

ครูอ้ำ อ.เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี / ฉัตรกร เกตุมี : ถ่ายภาพ 23 ธันวาคม 2557

ครูอ้ำ อ.เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี / ฉัตรกร เกตุมี : ถ่ายภาพ 23 ธันวาคม 2557

ครูอ้ำ อ.เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี / ฉัตรกร เกตุมี : ถ่ายภาพ 23 ธันวาคม 2557

ครูอ้ำ อ.เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี / ฉัตรกร เกตุมี : ถ่ายภาพ 23 ธันวาคม 2557

ครูอ้ำ อ.เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี / ฉัตรกร เกตุมี : ถ่ายภาพ 23 ธันวาคม 2557

 

ครูอ้ำ อ.เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี / ฉัตรกร เกตุมี : ถ่ายภาพ 23 ธันวาคม 2557

ครูอ้ำ อ.เลอเกียรติ มหาวินิจฉัยมนตรี / ฉัตรกร เกตุมี : ถ่ายภาพ 23 ธันวาคม 2557

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *