พลตรีประพาศ ศกุนตนาค
เมื่อ ‘รู้รัก’ จึงสมัครเข้ามาเล่น
เรื่อง: พิชชาณัฐ ตู้จินดา
ภาพ: ธีรภัทร บุญจิตติ
เชื่อว่าน้ำเสียงท่านนี้ ไม่ว่าเสียงพูด เสียงร้อง หรือเสียงขับ เป็น ‘เสียงในความทรงจำ’ ของใครหลายคน ด้วยมีผลงานทางสื่อสารมวลชนมากว่า 50 ปี โดยเฉพาะน้ำเสียงทุ้มรื่นหู จังหวะพูดน่าฟัง ออกเสียงอักขระชัดเจน เมื่อนั่งโต๊ะประกาศข่าวทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 และเป็นโฆษกรายการรวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ไม่ต่างจากเสียงร้องเสียงขับ เมื่อท่านเดียวกันต้องนั่งกลางวงปี่พาทย์มโหรี ด้วยกังวานเสียงมีพลัง ร้องเต็มคอชัดถ้อยคำ ไม่ว่าเวทีวัดเวทีพระที่นั่ง ชื่อ ‘ประพาศ ศกุนตนาค’ จึงไม่ยากแก่การจดจำ
ก่อน ‘สมัครเข้ามาเล่น’ ประสบการณ์แวดล้อมวัยเด็กชักนำและบ่มเพาะความ ‘รู้รัก’ แก่พลตรีประพาศ ไม่ว่าเป็นบุคคลใกล้ชิดอย่างคุณพ่อที่ร้องเพลงไทยได้ไพเราะ หรือรับฟังเพลงไทยจากรายการวิทยุ โดยเฉพาะรายการสังคีตศาลา กรมศิลปากร ที่ติดตามฟังติดตามบันทึกเสียงผลงานร้องสดครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ ด้วยความชมชอบถึงขอบเวทีทุกครั้งที่โอกาสอำนวย ตั้งแต่เทคโนโลยีเครื่องบันทึกเสียงยังไม่ทันสมัยพกพาสะดวกเท่าปัจจุบัน กระทั่งทุกวันนี้เทปเสียงเหล่านั้นกลายเป็นของสะสมส่วนตัวที่มักนำออกอวดใครๆ อย่างภูมิใจ
‘เทปรีล’ ม้วนโต เปิดด้วยเครื่องเล่นยี่ห้อ GRUNDIG รุ่น TK 23 ขนาดพกพา ยี่ห้อ AKAI รุ่น 1710 W ขนาดติดตั้ง ยี่ห้อ TASCAM รุ่น 34 B ที่ใช้ทำการในห้องบันทึกเสียง แม้ตัวเครื่องและม้วนเทปอายุอานามจะมากกว่าวัยเกษียณ แต่ทว่ายังคงทำงานเต็มประสิทธิภาพ ให้เนื้อเสียงฉ่ำใส คมชัดละเอียดไม่ติดขัด หลังแทนที่ด้วยเทปคาสเซ็ทและซีดี เทปรีลถือเป็นของหายาก เพราะหาซื้อไม่ได้แม้ในประเทศผู้ผลิต พลตรีประพาศนับเป็นเพียงไม่กี่ท่านในไทยที่เปิดเล่นเทปเสียงชนิดนี้ได้ในปัจจุบัน
“เทปรีลนี่แพง สมัยปี 02 ตัวเครื่อง 2,500 บ. ของเยอรมัน เสียงดีไม่ดีอยู่ที่เครื่องเทป เครื่องเล่นดีเสียงจะใส อย่างยี่ห้ออาไก โซนี่ พานาโซนิค สมัยนั้นร้านเครื่องเสียงห้างทุกห้างมีขาย เพลงไทยสากล สุนทราภรณ์ ไทยเดิม ความจุเทปเวลาไม่ถึงชั่วโมง เปิดบ่อยใช้บ่อยทำให้ยืด แต่ผมสำเนาไว้หลายม้วน เก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง ต้องแห้งอย่าชื้น ถูกฝุ่นถูกแดดหรือสกปรกไม่ได้ มีปัญหาเรื่องสายพานก็ไปเปลี่ยนที่บ้านหม้อ หัวเทปสกปรกต้องทำความสะอาด อันนี้สำคัญ ผมเก็บไว้ฟังเล่นที่บ้าน คนอื่นมาก็เปิดให้ฟัง
“ยืมไปไม่คืนบ้าง เสียหายบ้าง ที่มีอยู่ 20-30 ม้วน ส่วนมากเป็นผลงานเสียงร้องครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ มีเสียงร้องผมด้วยแต่ส่วนน้อย ชอบเสียงครูเหนี่ยวเพราะแก้วเสียงมีพลัง ฟังแล้วไม่หลับ บางคนผมฟังแล้วง่วง โดยเฉพาะขับเสภาดีมาก เมื่อก่อนติดตามดูละครพระไวยแตกทัพ สมิงพระรามอาสา โรงละครโรงเก่ากรมศิลปากร นักเรียนนาฏศิลป์เล่นเป็นรอบๆ ตอนครูเหนี่ยวร้องมอญร้องไห้ แทนที่คนจะดูคนรำ หันไปดูครูเหนี่ยวกันหมดโรง ครั้งนั้นผมดู 2 รอบ
“ครูเหนี่ยวตาย ไม่รู้หาฟังที่ไหนก็อาศัยฟังเทป ชอบเสภานี่ ใช้วิธีครูพักลักจำ อัดสดไม่ได้ก็อัดแห้ง คอยฟังว่าสถานีวิทยุกระจายเสียงเขาจะเปิดอะไร รายการเพลงไทยหลังข่าวครึ่งชั่วโมง อัดหัวไม่ทันเอาช่วงกลางหน่อยยังดี ได้จากท่านอธิบดีกรมศิลปากรคนเก่าบ้าง หิ้วเทปไปอัดจากคนอื่นบ้าง ผลงานเสียงครูเหนี่ยวที่ผมมีจึงค่อนข้างครบถ้วนสมบูรณ์ สมัยนั้นไปต่อเพลงที่ไหนก็หิ้วเทปรีลไปด้วยเครื่องหนึ่ง”
หลังทำความรู้จักพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการมากกว่าหนึ่งครั้ง ณ ห้องโถงเก็บเครื่องดนตรีไทย บ้านย่านสุทธิสาร กรุงเทพฯ จุดนั้นทำให้เรื่องราวของพลตรีประพาศ เริ่มเผยชัดทั้งลำดับชีวิตและงาน มักคุ้นมากขึ้นกระทั่งสัมผัสได้ถึงซุ่มเสียงแห่งตัวตน แม้ด้านหนึ่งจะมีอาชีพเกี่ยวข้องกับการทหาร แต่ทว่าก็ไม่ได้ละทิ้งความผูกพันและความสุขใจเรื่องเพลงดนตรี สามารถผสานความต่างของส่วนผสมสำเร็จเป็นรูปแบบชีวิตที่ลงตัว
โดยเฉพาะหลายบทบาทสำคัญที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ก้าวแรกตั้งแต่เป็นนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า [จปร.] ประเดิมขับเสภาและร้องเพลงไทยงานวันปิยมหาราช ที่ครั้งนั้นลีลาน้ำเสียงถูกอกถูกใจได้รับคำชมจากคึกฤทธิ์ ปราโมช บนหน้าหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เข้าทำงานกรมการทหารสื่อสารยังได้ร้องประจำวงดนตรีไทยวงโยธวาทิตของกรมฯ ออกโทรทัศน์ช่องเดียวกัน ต่อมาเป็นผู้ประกาศข่าวและเล่นละครโทรทัศน์รวมกว่า 20 เรื่อง เรื่องที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังคือเรื่องสี่แผ่นดิน รับบทพระเอกเป็นคุณเปรม ที่พลตรีประพาศบอก “ดีอย่างไรผมพูดไม่ได้ ต้องถามผู้ชม”
กิจกรรมดนตรีไทยดีๆ ที่ช่วงหนึ่งถูกถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 หลายครั้งจึงมีพลตรีประพาศเป็นผู้ประสานความสำเร็จอยู่เบื้องหลัง พร้อมทำหน้าที่เบื้องหน้าเป็นพิธีกรและร่วมร้องเพลงกับวงดนตรีไทย ไม่ว่าเมื่อปี 31 งานดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ 20 เป็นพิธีกรและร้องเพลงเขมรละออองค์ เถา กับครูละเมียด ทับสุข ครูศิริ วิชเวช วงดนตรีไทยครูอาวุโส ปี 34 ร้องสักวากับนักร้องและวงดนตรีไทยกรมศิลปากร งานการบอกสักวา เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพลายงามอาสา ปีเดียวกันร้องรับเดี่ยวซอสามสาย เพลงหกบท โดย ศ.อุดม อรุณรัตน์ รายการการกุศลมูลนิธิโรคไต ปี 37 ร้องเพลงนางครวญ เถา กับครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต วงดนตรีไทยครูอาวุโส พิธีไหว้ครูดนตรีไทย 9 สถาบัน
“ผมเป็นสมาชิกรุ่นแรกของชมรมดนตรีไทย โรงเรียนนายร้อย เล่นมากับเตรียมทหารรุ่น 1 ซ้อมหลังเลิกเรียนทุกจันทร์ พุธ ศุกร์ มีครูหลายท่านมาสอน ครูทรัพย์ วิเศษประภา ครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ ครูบุญชู ทองเชื้อ ส่วนคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ เข้ามาผมเป็นทหารแล้ว ต่อเพลงกับท่านผิดทางไม่ได้ ตาเขียว ‘ทางนี้ไม่ใช่ของดิชั้น’ ช่วงหลังๆ ได้ครูประสงค์ พิณพาทย์ พันโทเสนาะ หลวงสุนทร ครูสมชาย ดุริยประณีต มาช่วย
“ร้องเพลงออกโทรทัศน์ต้องซ้อมอย่างดี ร้องสดออกสด ผิดไม่ได้ เสียชื่อ ผมออกโทรทัศน์ตั้งแต่ช่อง 5 ให้รายการโรงเรียนนายร้อยเดือนละหน โรงเรียนก็หาสปอนเซอร์มาแขวน ทั้งร้องเพลงไทยทั้งอ่านทำนองเสนาะ เพราะทางโรงเรียนเชิญครูสะอาด อินทรสาลี มาสอนภาษาไทยทางโทรทัศน์ สอนอ่านโคลงฉันท์กาพย์กลอน ทุกครั้งก็ได้นักเรียนประพาศคนนี้อ่านเป็นตัวอย่าง กระทั่งออกจากกรมสื่อสารกลับมาเป็นอาจารย์ก็ยังร้องให้อยู่
“กับวงสื่อสารสังคีต วงดนตรีไทยของกรมสื่อสาร ยุคนั้นถือว่าเป็นวงเครื่องสายที่แข็งวงหนึ่ง ครูนิภา อภัยวงศ์ นักดนตรีหลัก ครูผ่อง โมระกรานต์ มือออร์แกนชั้นหนึ่ง ผมร้องให้วงนี้ออกทั้งวิทยุโทรทัศน์ อัดเสียงที่ห้องอัดเสียงเฉลิมเขตร์ ออกสถานีวิทยุ วปถ.1 ทุกวัน ร้องกับวรรณา อุดมศรี พูลลาภ เผยพจน์ สองคนนี้ได้เพลงมาก อัดลิเกวิทยุของสื่อสารด้วย เสียดาย เทปที่อัดที่นั่นไฟไหม้ทั้งหมด
“อยู่กรมสื่อสาร ช่อง 5 ให้รายการอีกครึ่งชั่วโมงทุกเดือน ตอนนั้นผมยังหาสปอนเซอร์ไม่เป็น ร้องด้วยจ่ายค่ารถนักดนตรีด้วย ซื้อน้ำเลี้ยงอีก ทำได้ปีเดียวสถานีเอาไปจัดเอง แต่ผมยังร้องเหมือนเดิม เมื่อก่อนสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง รอบเดือนต้องมีรายการศิลปะไทย ลิเก ดนตรี เพลงฉ่อย ลำตัด เดี๋ยวนี้กระทั่งรายการวิทยุยังหาได้น้อย เรื่องนี้พูดยาก เพราะเขาอยู่ได้ด้วยสปอนเซอร์ เรื่องอนุรักษ์มันคนละเรื่องกับธุรกิจ ผมเลยไม่พูดดีกว่า”
พลตรีประพาศยอมรับว่า ที่ตนร้องเพลงไทยได้ ส่วนหนึ่งเพราะเรียนรู้ผ่านครูพักลักจำ สังเกตลักษณะการเปล่งเสียง ปั้นคำ และสำเนียงการร้องจากเทปเสียงครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ พร้อมทั้งปรับวิธีร้องให้เหมาะสมกับเนื้อเสียงตน ซึ่งใช่ว่าทุกคนจะทำได้ ขณะเดียวกันได้ต่อร้องกับคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ที่บ้านบาตร กับครูท้วม ประสิทธิกุล ที่บ้านย่านนางเลิ้ง ได้รับคำแนะนำและมีโอกาสร่วมงานหลายครั้งกับ อ.เจริญใจ สุนทรวาทิน และครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต กระทั่งสนิทสนมตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่พลตรีประพาศบอก “ดีมากทั้งสองท่าน ไม่ปิดบังความรู้ กับครูสุดจิตต์ ถึงเวลาจำเป็นผมก็ขอต่อเพลงกับท่านทางโทรศัพท์”
พรมแดนความรู้ของพลตรีประพาศ ยังขยายขอบเขตครอบคลุมถึงเรื่องขยับกรับขับเสภา เรียนรู้และต่อไม้กรับจากครูศิริ วิชเวช โดยเฉพาะเป็นเจ้าของเสียงขับเสภาสร้างสีสันให้กับละครจักรๆ วงศ์ๆ ช่วงเช้าเสาร์อาทิตย์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ถึงปัจจุบันยาวนานกว่า 20 ปี ถ้ายังจำกันได้ดี ไม่ว่าเป็นเรื่องยอพระกลิ่น แก้วหน้าม้า นางสิบสอง โกมินทร์ ปลาบู่ทอง ดาบเจ็ดสีมณีเจ็ดแสง ขวานฟ้าหน้าดำ ฯลฯ ขับผ่านบทเสภาจากปลายปากกานักประพันธ์หลายท่าน แต่ที่ถูกใจพลตรีประพาศคือสัมผัสและการใช้คำของนักประพันธ์นามปากกา ‘วีรชน’ ที่สำคัญพลตรีประพาศยังรอบรู้และเป็นนักเลงสะสมไม้กรับอีกด้วย
“ผมมานั่งพิจารณา ทำอย่างไรเสียงกรับถึงดังแล้วกรอไม่สะดุด ครูเก่าๆ ว่าต้องไม้ชิงชัน ผมบอกไม่จริง ตามตำราเลือกกิ่งยื่นทางทิศตะวันออก เอาเคล็ด ต้นไม้ทุกต้นมันแย่งไปทางตะวันออกทั้งนั้น เพราะรับแสงอาทิตย์ กรับโบราณเอาแต่กิ่งมาทำ เขาไม่ตัดต้นไม้ รักษาป่า แต่กิ่งแก่นน้อยเนื้อเยอะ มวลไม้หนาแน่นสู้แก่นต้นไม่ได้ ผมชอบไม้พยุง ชื่อดีเป็นมงคล พยุงมีมากในอีสาน สมัยก่อนเดินทางลำบาก ภาคกลางชิงชันหาง่ายจึงนิยมกัน พยุงมวลไม้แน่นและน้ำหนักดีกว่า เรื่องนี้กรมป่าไม้พิสูจน์แล้ว
“โบราณมีกรับหญิงกรับชาย เจ้าของมือใหญ่ต้องเพิ่มขนาด ผู้หญิงมือเล็กต้องใช้กรับเล็ก ไม่อย่างนั้นจับไม่ถนัด คับมือ ครูท้วม ประสิทธิกุล จดความยาวกรับไว้ 20 ซม. ผมเพิ่งเป็น 21 ซม. ขนาดพอดี สมัยก่อนกรับทำด้วยมือ เลื่อยไม้ไสกบ ความสวยสู้เครื่องจักรไม่ได้ ผมวัดแบบจากบ้านครูจางวางทั่ว พาทยโกศล กับของหมื่นขับคำหวาน เอาวางกระดาษดินสอขีด อ.เจริญใจ สุนทรวาทิน ก็มี ของพ่อแก สมัยก่อนเขามีกรับเสภากันทุกบ้าน
“ดังไม่ดังอยู่ที่ไม้ ผมปล่อยทิ้งแห้งตามธรรมชาติ ถ้าทำขายเขาใช้วิธีอบ ไม้อบน้ำหนักไม่ได้เพราะยางไม่มี กรับเสภาดีต้องมีน้ำหนัก ไม้ทำกรับต้องเสี้ยนลายตรง ถ้ามีตาไม้หรือเสี้ยนคดให้ไว้ด้านอื่น อย่าไว้ด้านที่กระทบ ได้มาต้องแต่งส่วนกระทบให้เว้ากลาง หน้ากรับไม้เสมอกันมันจะดีดได้อย่างไร เมื่อก่อนผมแต่งวันละคู่ เอากระดาษทรายพันไม้คอยขัด แต่นานเข้ามักเพี้ยน ไม้แห้งมันโก่งต้องแต่ง หรือเอาออกตากแดดให้หมดชื้น ผมทำไว้ร่วมสองร้อยคู่ ใครไม่รู้บอก กรับเสภาต้องพลตรีประพาศ ทั้งขอทั้งถูกใจ ผมให้ฟรี ตอนนี้เหลือไม่ถึงยี่สิบ”
ทุกวันนี้ นอกจากเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 เป็นโฆษกรายการรวมการเฉพาะกิจฯ ที่พลตรีประพาศบอก “ผมบรรยายวันพระราชทานธงชัยเฉลิมพล ถ่ายทอด 6 ชั่วโมง เป็นผู้บรรยายอายุมากที่สุด บรรยายนานที่สุดด้วย จะทำจนกว่าไม่ไหว” ใช้ชีวิตส่วนตัวกับกิจกรรมยามว่างเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าเลี้ยงไก่ชนสายพันธุ์หายาก ที่ภูมิใจคือสายพันธุ์เหลืองหางขาวพระเจ้าห้าพระองค์ พบปะกับนักสะสมพระเครื่องรุ่นราวคราวเดียวกัน สะสมเครื่องดนตรีไทยอีกหลายชิ้น โดยเฉพาะซออู้เลี่ยมงาไม้ไผ่จระเข้ขบฟันที่เคยนำไปอวดในงานดนตรีไทยอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาแล้ว ที่สำคัญยังมีความสุขกับการฟัง ร้องและเล่นดนตรีไทย
“ในวงการเขาเห็นว่าผมร้องเพลงได้ ใครชวนไปร้องที่ไหนไป สนุกนะ เพราะไม่ได้เอายศไปด้วย ครูสุดจิตต์โทรมา ‘คุณประพาศไปช่วยหน่อย’ กับครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ ก็ออกงานด้วยกันบ่อย แต่รับจ้างผมไม่เอา ไปร้องที่ไหนจะบอกว่าเป็นสมัครเล่น ผิดถูกขออภัย มันได้ฟื้นเสียงฟื้นเพลง ร้องอย่างนั้นอาจผิด ไม่เป็นไร เพราะไม่ได้ออกทีวี จำเนื้อไม่ได้ชะงักก็มี เมื่อก่อนเสียงดีจริง เดี๋ยวนี้ช่วงหายใจสั้นลง ขับเสภาได้อย่างมากสองบท
“ดนตรีไทยฟังแล้วมีความสุข จิตใจมันชุ่มชื่น ยิ่งยามอายุมากเหมือนงานอดิเรก ผมถึงสะสมเครื่องดนตรีไว้ครบวง ทั้งที่ตัวเองเล่นไม่เก่งหรอก มีเอาไว้ให้คนอื่นเล่นให้ฟัง เมื่อเป็นของดีผมจึงไม่อยากให้สูญ นักศึกษาสมัยนี้เก่งทุกสถาบันครับ แต่จบแล้วส่วนใหญ่เลิก เพราะหากินลำบาก
“แม้ไปทำอาชีพอื่นก็ขออย่าทิ้ง ดนตรีไทยอยู่ได้ส่วนหนึ่งเพราะสมัครเล่นนี่แหละ”
พลตรีประพาศ ศกุนตนาค อายุ 82 ปี บิดาชื่อ ประพงศ์ รับราชการเป็นนายอำเภอสีคิ้ว จ.นครราชสีมา มารดาชื่อ พริ้ง [สกุลเดิม ศรีเพ็ญ] เป็นหลานปู่ หลวงสรรพกิจโกศล [ปาน ศกุนตนาค] เรียนสามัญที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ ปากคลองตลาด และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ก่อนเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า [จปร.] เริ่มต้นชีวิตราชการที่กรมการทหารสื่อสาร ต่อมาเข้าเรียนโรงเรียนเสนาธิการทหารบก และเป็นอาจารย์สอนวิชาทหารทั้งภาคทฤษฎี/ปฏิบัติ ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า [จปร.] เป็นนายพลเมื่อ พ.ศ.2534 ที่สำคัญเป็นผู้อ่านประกาศคณะรัฐประหาร/คณะปฏิรูป และเหตุการณ์สำคัญหลายครั้งที่เป็นสถานการณ์ความมั่นคงของชาติ
ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ สาขาเกียรติยศคนทีวี รางวัลเทพทอง ในฐานะนักวิทยุโทรทัศน์ดีเด่น โล่เชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตน์ ในฐานะผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นทางวิทยุโทรทัศน์ มีโอกาสคลุกคลีในสังคมดนตรีไทย ร้องเพลงไทยและขับเสภาได้ไพเราะ เคยต่อร้องกับครูท้วม ประสิทธิกุล คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ อ.เจริญใจ สุนทรวาทิน ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ครูนิภา อภัยวงศ์ ฯลฯ มีผลงานบันทึกเสียงขับเสภา ชุด เสภาเสนาะคำหวาน
[เรียบเรียงจากคำสัมภาษณ์ พลตรีประพาศ ศกุนตนาค/ วันพุธที่ 4 และ 11 กุมภาพันธ์ 58/ ณฐวัตร พงษ์สาริกิจ ร่วมวงพูดคุย]

เทปรีลยี่ห้อ AKAI รุ่น 1710 W กำลังเล่นเสียงขับเสภาโดยพลตรีประพาศ ศกุนตนาค เเละเพลงเต่าเห่ ที่ถูกบันทึกไว้เมื่อบรรเลงออกสถานีโทรทัศน์ช่อง 5