จุดจบ ‘ฆ้องทุบ-ฆ้องตี’ บนโลกอุตสาหกรรมดนตรีไทย

จุดจบ ‘ฆ้องทุบ-ฆ้องตี’
บนโลกอุตสาหกรรมดนตรีไทย
เรื่อง: พิชชาณัฐ ตู้จินดา
ภาพ: ธีรภัทร บุญจิตติ/ กันต์ อัศวเสนา

ทุกวันนี้ ‘ลูกฆ้อง’ ในวัฒนธรรมดนตรีไทย ทั้งฆ้องใหญ่ ฆ้องเล็ก ฆ้องมอญ ผลิตด้วยกรรมวิธี 2 ลักษณะ อย่างแรกขึ้นรูปโลหะ [ลูกฆ้อง] ด้วยวิธีบุหรือทุบด้วยแรงคน เป็นกรรมวิธีอย่างเก่าที่ใช้ศาสตร์ ‘วิชาช่างบุ’ หนึ่งในงานช่างสิบหมู่ของไทยในการผลิต อย่างหลังผลิตด้วยวิธี ‘หล่อ’ อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นนวัตกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นนับถอยหลังไม่ถึง 40 ปี ทั้งสองชนิดเรียกชื่อตามกรรมวิธีสร้าง คือ ‘ฆ้องบุ’ หรือ ‘ฆ้องทุบ-ฆ้องตี’ ในภาษาปาก และ ‘ฆ้องหล่อ’ แน่นอนว่าเมื่อมีที่มาต่างกัน คุณภาพกระแสเสียงย่อมต้องต่างกันด้วย

กล่าวอย่างกระชับเพื่อความเข้าใจ ขั้นตอนผลิตฆ้องบุเริ่มต้นด้วยหลอมทองแดงกับดีบุกเป็นเนื้อเดียวกัน ก่อนเทลงเบ้าแล้วปล่อยแข็ง เผาไฟสลับทุบก้อนโลหะดังกล่าวขึ้นรูปคล้ายขันกระทั่งได้สัดส่วน ประสบการณ์ความชำนาญเชิงช่างจะบอกได้ว่า โลหะเผาไฟสีแดงฉานอย่างไรจึงทุบไม่แตก เพราะเมื่อแตกต้องนำกลับหลอมใหม่ อุปกรณ์สำคัญอย่างคีมและค้อนหลายชนิดเลือกใช้ตามลักษณะงาน จากนั้นจึงทุบปุ่มฆ้อง ขัดแต่งกลึงผิว ขูดภายในเพื่อตั้งระดับเสียง สุดท้ายถ่วงตะกั่วเจาะรูร้อยหนังสำเร็จเป็นฆ้องบุหนึ่งลูก รายละเอียดอ่านได้จากงานเขียนหลายชิ้น [1] แต่ทว่ายังมีอีกหลายประเด็นเพิ่มเติมที่ควรเล่าแผ่สู่กันฟัง

แหล่งผลิตฆ้องบุฆ้องทุบสำคัญในอดีต ไม่ว่าเป็น โรงบุฆ้องนางทองคำ ย่านบางลำพู หรืออีกหลายโรงย่านบ้านบุบ้านเนิน ฝั่งธนฯ บ้านจ่าผูก เขียววิจิตร [ทหารเรือ] บ้านนายสนิท ตั้งอยู่ซอยนพมาศ บ้านนางเกษร ขันธ์หิรัญ หรือโป้ยเอ็ง บ้านนายป่วน แย้มบาง แต่ละบ้านคงเหลือแต่ตำนานเล่าขานจดจำ ฝากฝีมือฆ้องบุฆ้องทุบที่ทุกวันนี้กลายเป็นของเก่าหายากราคาสูง บ้านนายป่วน เป็นโรงบุฆ้องเพียงแห่งเดียวในประเทศที่ยังยืดหยัดดำเนินกิจการ สานต่อโดยนายดำรง แย้มบาง [บุตรชาย] ภายใต้ชื่อ ‘บ้านเนินฆ้องวง’

ครูสังเวียน พงษ์ดนตรี [อายุ 80 ปี] บ้านอยู่หน้าวัดสะแก อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศิษย์ครูหลวงประดิษฐไพเราะ [ศร ศิลปบรรเลง] เป็นผู้เทียบเสียงและซ่อมเครื่องดนตรีบ้านบาตรสมัยนั้น เคยขึ้นล่องซื้อขายฆ้องบุ ฝั่งธนฯ มากว่า 60 ปี โดยเฉพาะกับบ้านจ่าผูก เขียววิจิตร เล่าว่า

“บ้านจ่าผูก 2 ชั้น ริมชายน้ำติดโรงเติมน้ำเติมไฟหัวรถจักร นุ่งโสร่งอัธยาศัยดี คุยไม่ทับถมใคร ขายเครื่องใช้ลงหินเครื่องปี่พาทย์ทุกอย่าง ลูกฆ้องบ้านนี้ ‘เนื้อทอง’ ดี ใช้ได้ ยืนคุยซื้อของกับแก แกเหวี่ยงฉาบใหญ่ให้ดูเลย อวดของว่าหล่นพื้นไม่แตก ช่างชายหญิงในบ้านกว่า 10 คน ต่างหน้าที่ จ่าผูกคนคุม ตั้งแต่เครื่องกลึงยังใช้แรงคน เรียกภมร แขนข้างหนึ่งหนีบสิ่วสำหรับกลึง บ้านนี้กลึงฆ้องสวย ไม่มีเส้น มันวาวอย่างกับลงน้ำมันวานิช เสียงดีใช้ได้”

หรือ ครูชลอ ใจชื้น [อายุ 78 ปี] ชาวจังหวัดสุพรรณบุรี ข้าราชการบำนาญ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร เรียนรู้ปี่พาทย์และงานช่างเครื่องดนตรีไทยจากบ้านดุริยประณีต โดยเฉพาะเรียนต่อรางระนาดจากช่างฝน [ชาวจีน] จึงเป็นช่างสร้างเครื่องดนตรีไทยควบคู่กับการรับราชการ อีกผู้หนึ่งที่เคยเข้าออกโรงบุฆ้องหลายบ้านสมัยนั้น เล่าว่า

“บ้านยายทองคำอยู่หลังบ้านดุริยประณีต ที่นั่นฆ้องดีไม่แพ้ใคร สัดส่วนดี เสียงใช้ได้ ทุบฆ้องอย่างเดียว โรงใหญ่ ขายเฉพาะลูก ทำส่งบ้านยายแถม [นางแถม ดุริยประณีต] ด้วย ผมไปช่วยเขาเทียบเสียงบ่อยๆ หมดยายทองคำคนทำต่อคือยายทองพูล น้องสาว เมื่อก่อนทั้งร้านทั้งลูก 600 บาท หลัง พ.ศ.2500 นะ ฆ้องยายทองคำอยู่ที่บ้านบางลำพู 2 วง ฝีมือตาสนิทก็ดี รุ่นหลังยังมีที่กรมศิลปากร ธนาคารกรุงเทพอีกวง ยายเกสรเพิ่งจะดังระยะหลัง เพราะช่วงแรกช่างน้อย โรงเรียนนาฏศิลป์เปิดใหม่ๆ สั่งฆ้องยายเกสรเป็นร้อยวง”

‘เนื้อทอง’ ที่ครูสังเวียนกล่าวถึง หมายถึงเนื้อลูกฆ้องที่ผสมระหว่างทองแดงกับดีบุกในอัตราส่วน 7 : 2 หรืออีกกระแสว่า 6 : 4 [ดีบุกเป็นตัวทำให้เสียงดังกังวาน หากผสมมากเนื้อมักเละ ทุบไม่ขึ้น ทองแดงเป็นตัวทำให้เนื้อโลหะเหนียว] โลหะผสมอย่างนี้เรียก ‘สำริด’ ‘ทองสำริด’ ‘ทองม้าล่อ’ [เนื้อเดียวกับม้าล่อเครื่องดนตรีจีน] หรือเขตอีสานใต้เรียก ‘ทองห้าว’ ‘ทองเสาะ’ ส่วนผสมและสัดส่วนโลหะสำหรับบุฆ้องเป็นสูตรตายตัว หากผสมโลหะอื่นเมื่อลงมือบุมักแตก คำเล่าที่ว่า สูตรลับเสียงฆ้องกังวานใสต้องเจือ ‘ทองแท้’ หรือ ‘เงินแท้’ จึงเป็นเพียง ‘ความเชื่อ’ หาใช่ ‘ความรู้’ หรือข้อเท็จจริง

ต่างจากทองสำริดที่ใช้หล่อหัวพิณเปี๊ยะ บางช่างผสมโลหะระหว่างทองแดง ดีบุก ทองเหลือง เพราะเชื่อว่าทองเหลืองทำให้เสียงพิณเปี๊ยะโปร่งใส? หรือทองสำริดสำหรับหล่อพระพุทธรูป ที่ว่าต้องผสมสังกะสี เพราะเป็นตัวนำโลหะอื่นให้วิ่งได้ดีขณะหล่อ นอกจากนี้ ฆ้องบุทุกลูกยังต้องผ่านขั้นตอน ‘ลงหิน’ วิธีขัดแต่งผิวเนื้อฆ้องให้เรียบและสวยงามด้วยหินทราย จึงนิยมเรียกเนื้อฆ้องดังกล่าวด้วยว่า ‘เนื้อลงหิน’

ความดังกังวานของฆ้องบุยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย ไม่ว่าเป็น ขณะหลอมโลหะหรือที่เรียก ‘สุมทอง’ โลหะต้องละลายถึงที่และสมานเป็นเนื้อเดียวกันอย่างสนิท การ ‘ไว้เนื้อ’ โลหะบริเวณก้นปุ่มหรือที่เรียก ‘ตาฆ้อง’ รวมถึงฉัตรล่างว่าควรหนาบางเท่าใด หรือการขูดโลหะบริเวณใต้ฉัตรบนเพื่อตั้งระดับเสียง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของช่างโดยอาศัยความชำนาญเป็นสำคัญ รูปพรรณสัณฐาน [ขนาดปุ่มใหญ่เล็กและความสั้นยาวของฉัตรล่าง] การติดตะกั่วที่ควรเว้นร่องโดยรอบระหว่างตะกั่วกับขอบปุ่ม หรือที่เรียก ‘จมูกฆ้อง’ การผูกเชือกหนังโดยวิธี ‘ไขว้’ สำหรับลูกฆ้องสี่ลูกท้าย เป็นการเปลี่ยนทิศทางแรงบีบรัดเพื่อเพิ่มความกังวาน หรือความตึงของเชือกหนังที่เพิ่มแรงสั่นสะเทือนให้ลูกฆ้องและส่งผลโดยตรงต่อความกังวานเสียง เป็นต้น

อาจารย์ศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ [อายุ 50 ปี] ครูโรงเรียนสิงห์บุรี ตำแหน่งครูเชี่ยวชาญ หนึ่งในนักเลงสะสมฆ้องทุบฆ้องเก่าคนสำคัญ เริ่มเก็บเล็กผสมน้อยตั้งแต่เข้ารับราชการครู ทุกวันนี้มีฆ้องทุบวงใหญ่เล็กในครอบครองกว่า 40 วง นอกจากสะสมยังมีความคิดอยากทุบและกลึงลูกฆ้องด้วยตนเอง แบ่งปันประสบการณ์ให้ฟังว่า

“ลูกฆ้องหนึ่งลูกมีเสียงซ้อน 3 ส่วน ปุ่มกับฉัตรล่างฉัตรบน ปัญหาพบบ่อยๆ คือเสียงฉัตรล่างเถียงกับเสียงปุ่ม จึงแปร่ง ไม่นิ่งเป็นเสียงเดียว อาจต้องเจียฉัตรล่างให้บางลง หรือติดตะกั่วขอบฉัตรที่เรียก ‘ปลิง’ เพื่อถ่างเสียงออกจากกัน ฉัตรล่างบางนักไม่ค่อยดี เพราะทานแรงบีบเชือกหนังไม่ได้ เสียงจึงอับ ลูกไหนดังให้ใช้ขี้ผึ้งแท้ปั้นเป็นก้อนอัดห้ามเสียง แก้ได้ ฆ้องมอญชอบตะกั่วน้อย ตะกั่วมากตีไม่ดัง บางลูกไม่มีตะกั่วเลยยังเพราะ

“ถ้าร้าวหรือฉี่จะซ่อมลำบาก เคยเชื่อมบัดกรี หายจริง แต่กรอบเพราะความร้อน ตีแรงหน่อยแตกเลย ครูน้ำหว้า ร่มโพธิ์ทอง เคยเล่าให้ฟังเรื่อง ‘ฆ้องเถา’ คือลูกฆ้องทั้งวงสัดส่วนลดหลั่นได้ขนาด เรียวสวยจากใหญ่ไปเล็ก ช่างตีจะคัดที่ดีๆ มาจัดสำรับใหม่ ขนาดปุ่มขนาดฉัตรได้ระดับ อย่างครูกาหลง พึ่งทองคำ ครูชอบฆ้องหล่อ เขาว่าเสียงมันฉ่ำ ส่วนตัวยังเลื่อมใสภูมิรู้ภูมิช่างโบราณ เพื่อเป็นแบบอย่างคนรุ่นหลัง”

ฆ้องบุฆ้องทุบมีอายุใช้งานเท่าใดระบุได้ไม่ชัด แต่ทว่าสังเกตได้จาก ‘สนิมขุม’ หรือขี้กระที่ขึ้นจับผิวโลหะ ฆ้องใกล้หมดอายุสนิมขุมมักเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาลแดง หรืออาจสังเกตจากกระแสความกังวานที่ห้วนลงตามลำดับ หรือที่เรียก ‘ขึ้นกระหม่อม’ ‘ลงกระหม่อม’ แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาพร้อมกันคือเนื้อโลหะมักกรอบทำให้ลูกฆ้องแตกง่าย [บางท่านอธิบายว่า กระแสเสียงที่ห้วนลงเกิดจากความบางของปุ่มฆ้องที่ผ่านการบรรเลงมาอย่างยาวนาน?]

การทาน้ำมันบนผิวฆ้องเพื่อชะลอสนิทขุม จึงเป็นการต่ออายุฆ้องบุวิธีหนึ่ง หรือหลีกเลี่ยงการใช้ไฟสัมผัสผิวฆ้องบุโดยตรง โดยเฉพาะการติดตะกั่วด้วยเตาแก๊ส เทียน หรือไฟแช็คชนิดให้ไฟแรง เพราะทำให้เนื้อโลหะกรอบและเปราะเร็วยิ่งขึ้น [วิธีเจียเนื้อฆ้องยังต้องนำลูกฆ้องแช่น้ำส่วนหนึ่ง เพื่อลดความร้อนขณะเจีย] ทดแทนได้ด้วยการใช้เครื่องเป่าลมร้อน แช่ปุ่มฆ้องในน้ำอุณหภูมิสูง อีสานใต้ใช้เหล็กร้อนจี้ตะกั่วให้ละลายแทนการนำลูกฆ้องไปอังไฟ หรือเล่าต่อกันมาว่า บ้านจางวางทั่ว พาทยโกศล ใช้ไอน้ำจากพวยกาต้มน้ำร้อนอังลูกฆ้องเพื่อติดตะกั่ว

คุณค่าฆ้องบุฆ้องเก่าจึงไม่ต่างเครื่องถ้วยกังไสลายคราม ส่วนหนึ่งเพราะเรียกคืนไม่ได้หากชำรุด [แตกแล้วแตกเลย] ทั้งให้เสียงดังกังวานพอเหมาะด้วยเนื้อโลหะแห้งได้ที่ [เชื่อว่าต้องอายุ 5 ปี ขึ้นไป หรือเล่ากันว่า มีการนำฆ้องบุลงแช่น้ำฝนหรือน้ำครำ เพื่อเร่งคุณภาพเสียงให้ดีเร็วยิ่งขึ้น] อดีตจึงปรากฏว่ามีนักฆ้องนักปี่พาทย์นำฆ้องบุฆ้องเก่า ‘จำนำ’ หรือ ‘ขัดดอก’ เมื่อขัดสน แต่กลับกันที่ทุกวันนี้ลูกหลานคณะปี่พาทย์หลายวงนำฆ้องบุฆ้องเก่าเข้าแลกฆ้องหล่อ? ไม่ว่าตามโรงหล่อฆ้องหรือกับพ่อค้าคนกลาง [ฆ้องบุหนึ่งวงอาจแลกฆ้องหล่อได้ถึง 2 วง] ทั้งยังเป็นที่รับรู้ระหว่างนักสะสม ว่าเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุโขทัย นครสวรรค์ หลายแห่งเป็นแหล่งซื้อขายฆ้องบุฆ้องเก่าคุณภาพดี [แต่ก็ไม่พ้นสุภาษิต ‘ตาตีได้ ตาร้ายเสีย’] สนนราคาตั้งแต่หมื่นต้นๆ กระทั่งดีดถึงเพดานครึ่งแสน และด้วยหลายปัจจัยสำคัญ ‘ฆ้องหล่อ’ จึงเข้ามามีบทบาทแทนที่ฆ้องบุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เล่ากันว่า ตั้งแต่หลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความพยายามหลายครั้งในการทดลองผลิตลูกฆ้องด้วยกรรมวิธีหล่อ ทั้งจากช่างและครูดนตรีไทย [ประมาณว่าเป็นช่างในตลาดเก่าย่านสนามกีฬาแห่งชาติ ศุภชลาศัย] แต่ทว่าไม่เป็นผลสำเร็จ กระทั่งเมื่อประมาณปี 2522 เกิดธุรกิจหล่อฆ้องขึ้นอีกครั้งที่ตำบลศรีนาวา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก โดยกลุ่มโรงงานหล่อเครื่องใช้เครื่องทองเหลือง จำพวกแจกัน กระถางธูป เชิงเทียน สนับมือ หรือที่เรียกรวมว่า ‘จิวเวลรี่’ ที่ทุกวันนี้ย่านดังกล่าวกลายเป็นแหล่งผลิตฆ้องหล่อเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

นางมาลัย วิจิตรโท [อายุ 63 ปี] เจ้าของโรงหล่อฆ้องหนึ่งในสามโรงของจังหวัดนครนายก [อีก 2 โรง ชื่อนายบุญเรือน ศรีส้มป่อย นายสำราญ นิลวิไลพันธุ์] เริ่มต้นหล่อลูกฆ้องตามคำแนะนำของนักดนตรีจากอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนลงตัวทั้งสัดส่วนและสูตรผสม เคยหล่อฆ้องด้วยโลหะหลายชนิด นอกจากหล่อฆ้องยังจำหน่ายเครื่องดนตรีปี่พาทย์ครบวง เล่าว่า

“ช่วงแรกใช่ว่าคนดนตรีไทยจะยอมรับ ขายไม่ได้เป็น 10 ปี หล่อแจกันเชิงเทียนงานละเอียดจริง แต่ หล่อฆ้องเสียงต้องได้ รูปต้องสวย โลหะแต่ละอย่างมีวิธีหล่อของเขา เปิดไฟมากไฟน้อย สังเกตสีโลหะ เก็บขี้โลหะเวลาไหน อย่างไร ต้องรู้ใจ ทำได้เต็มที่วันละไม่เกิน 2 วง ถ้าหล่ออย่างเดียวได้ถึง 6 วง ไม่รวมหล่อเสียที่เป็นตามดหรือฟองอากาศ แต่ละเดือนขายได้มากสุด 20-30 วง มีให้เลือก 2 เนื้อ หนึบกับไม่หนึบ หรือดังน้อยดังมาก ราคาต่างกัน เดี๋ยวนี้ต้นทุนสูงทั้งโลหะ น้ำมันหลอม ค่าแรงค่าคน แต่ก็ยังพออยู่ได้”

ปัญหาฆ้องหล่อที่แต่ละโรงงานต้องตีโจทย์ให้แตกในช่วงเริ่มต้ม สองข้อสำคัญได้แก่ เสียงที่ได้ดังเกินพอดี หรือที่เรียก ‘เสียงโหว่ง’ ‘เสียงหร่อง’ และหมดเสียงเร็วกว่าปกติ [พูดง่ายๆ ว่าตีไม่ดัง] จึงมีการทดลองนำทองเหลืองหลายชนิดหล่อลูกฆ้องเพื่อหาความเหมาะสม ไม่ว่าเป็น ทองเหลืองธรรมดา ทองเหลืองเนื้อกลาง ทองเหลืองเนื้อแข็ง ทองเหลืองเนื้อแดง ทองเหลืองเนื้อเขียว สุดท้ายลงตัวที่ ‘ทองเหลืองน้ำยา’ ทองเหลืองชนิดพิเศษที่แม่เหล็กจับติด ทั้งมีความพยายามนำสัดส่วนและสูตรผสมโลหะฆ้องบุฆ้องทุบปรับใช้กับฆ้องหล่อ กระทั่งแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง

อาจารย์อภิชาต ภู่ระหงษ์ [อายุ 56 ปี] ข้าราชการบำนาญ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้คิดค้นสูตรฆ้องหล่อตำรับพิเศษ หลังลองผิดลองถูกกว่าปี ตั้งแต่ปี 2551 ฆ้องหล่อธรรมดาถูกปรับแต่งด้วยกรรมวิธีและสูตรเฉพาะ กระทั่งได้ฆ้องหล่อคุณภาพเสียงน่าพอใจ อาจารย์พิชิต ชัยเสรี ขนาดชื่อว่า ‘ฆ้องอภิวัฒน์’ เล่าว่า

“ฆ้องอภิวัฒน์ คุณภาพเสียงเกือบเท่าฆ้องตี ผมปรับเรื่องตะกั่วและวิธีเจียเนื้อฆ้อง ตะกั่วมีผลต่อความหนาบางของลูกฆ้อง ผมกำหนดเลยว่าตะกั่วเท่านี้ ฆ้องต้องหนาเท่าไหร่ เติมเรื่องเผาลูกฆ้องแล้วโยนน้ำ เพราะเป็นการชุบโลหะวิธีหนึ่ง เสียงที่ได้จะใส คุมเสียงให้ออกตามต้องการ ต้องดิ่ง ไม่แกว่งหรือผ่าง อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่เราทุบขอบฉัตร ก่อนหน้านี้เขาทุบพอให้เห็นว่าเป็นฆ้องทุบ ความกังวานมันอยู่ตรงนี้ ฆ้องอภิวัฒน์ตามวิธีผม หยุดทำไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 56 อนาคตยังไม่ทราบ ถ้าทำใหม่ต้องดีกว่าเดิม”

การแข่งขันบนโลกอุตสาหกรรมที่เข้มข้นในเชิงธุรกิจผลกำไร หลายปัจจัยมีผลต่อการอยู่หรือไปของฆ้องบุที่ไม่อาจปฏิเสธ ไม่ว่าเป็น จำนวนการผลิต [ช่างบุหนึ่งคนผลิตฆ้องบุได้มากที่สุด 3 ลูก หรืออาจไม่ได้เลยต่อวัน ขณะที่ฆ้องหล่ออาจผลิตได้มากที่สุดกว่า 60 วง ต่อเดือน] ราคา [ฆ้องบุรุ่นใหม่ราคามาตรฐานเฉพาะลูกทั้งวงอยู่ที่ 36,000 บาท ขณะที่ฆ้องหล่อเริ่มต้นที่ราคา 5,000 บาท สูงสุด 19,000 บาท] การเป็นที่รู้จักและอำนาจซื้อของตลาด ระบบการจัดซื้อจัดจ้างระหว่างหน่วยงานกับพ่อค้าคนกลาง ฯลฯ

การเปลี่ยนผ่านจากฆ้องบุที่เป็นงานประณีตศิลป์ใช้แรงคนผลิตในครัวเรือน ไปสู่ฆ้องหล่อที่เน้นจำนวนผลิตด้วยกรรมวิธีสมัยใหม่โดยระบบโรงงาน ยังส่งผลต่อวิธีฝึกปฏิบัติและสุนทรียรสของเครื่องดนตรี ฆ้องใหญ่ฆ้องเล็กที่เป็นฆ้องบุ ‘สร้างเสียง’ หรือ ‘ปั้นเสียง’ โดยผู้บรรเลงได้ชัดเจนกว่าฆ้องหล่อ ไม่ว่าเป็น เสียงหนึบ หนับ หนอด โหน่ง และอีกหลายเสียงที่เกิดจากกลวิธีบรรเลง โดยเฉพาะเพลงเดี่ยวที่ต้องอวดศักยภาพขั้นสูงของนักดนตรี และแสดงความงามของเสียงผ่านเครื่องดนตรีนั่นๆ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน?

เสียงกังวานกึกก้องของฆ้องหล่อเทียบไม่ได้กับความแน่น นวลเนียน และความดิ่งเสียงของฆ้องบุ จุดนี้คือความต่างสำคัญที่ฆ้องหล่อยังพัฒนาไปไม่ถึง กระแสเสียงที่ดังเกินความพอดีของฆ้องหล่อ ยังทำให้ผู้เริ่มต้นฝึกปฏิบัติฆ้องวงมักยั้งมือขณะบรรเลงกระทั่งเคยชิน [คนละเรื่องกับการฝึกประคบมือ] ส่งผลให้เมื่อต้องบรรเลงกับฆ้องบุ เสียงฆ้องจึงไม่เต็มเสียง หรือ ‘เต็มทรวง’ อย่างที่ควรจะเป็น เพราะผู้บรรเลง ‘แขยงมือ’ และไม่ได้เริ่มฝึกปฏิบัติมาแต่ต้น ทั้งฆ้องหล่อยังต้านแรงกระทบและความแกร่งของไม้ฆ้องไม้หนังได้ดีน้อยกว่าฆ้องบุ [อาจเกี่ยวกับความหนาแน่นมวลโลหะของฆ้องบุที่มีมากกว่า] เสียงที่ได้จึงอับทึบหรือที่เรียก ‘จุกอก’ มากกว่าที่จะเปล่งความกังวานได้อย่างเต็มกำลัง

ความรู้ยอดวิชาช่างบุอย่างตีลูกฆ้องอาจขาดช่วงหรือหมดในเวลาอันใกล้ หากเป็นจริงตามกล่าวเสียงฆ้องหล่อจะกลายเป็นเสียงใหม่ที่เข้ามาแทนที่เสียงฆ้องบุแต่เดิม โดยเฉพาะ อุษาคเนย์ ดินแดนที่มีเครื่องเคาะเครื่องโลหะ [วัฒนธรรมสำริด] เป็นวัฒนธรรมหลัก น่าสนใจว่า ประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย ฯลฯ เริ่มผลิตฆ้องด้วยกรรมวิธีหล่อแล้วหรือไม่ ทั้งยังยากต่อการฟื้นฟูความรู้และต้องใช้เวลานานเท่าใดจึงสำเร็จผล เพราะทั้งขั้นตอนผลิต สัดส่วนกระสวนลูกฆ้อง และสูตรผสมโลหะ ต้องอาศัยความชำนาญเชิงช่างที่ถ่ายทอดระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ เป็นงานหนักหน้าเตาไฟที่อุณหภูมิกว่า 40 องศา ไม่มีวิธีลัด ต้องใช้ความอดทนบ่มเพาะประสบการณ์ด้วยเวลาเท่านั้น [เเพ้ทางอย่างยิ่งกับเด็กยุคปัจจุบัน]

งานวิจัยและเอกสารที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นความรู้เบื้องต้นบนหน้ากระดาษ หากต้นทางความรู้ของจริงที่ทุกวันนี้ยังสัมผัสได้ด้วยตาและพูดคุยได้กับตัวบุคคล นอกจากโรงบุฆ้อง ‘บ้านเนินฆ้องวง’ ตั้งอยู่ถนนอิสรภาพ เยื้องตลาดบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ยังมีช่างบุฆ้องรุ่นเก่าที่เขตอีสานใต้อีก 2 ท่าน ได้แก่ นายสิงห์ทอง พวงพันธุ์ [อายุ 85 ปี] บ้านท่าปูน ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ สืบทอดวิชาบุฆ้องและสร้างเครื่องดนตรีปี่พาทย์จากบิดา ชื่อนายผัด [ชาวเขมรต่ำกัมพูชา] และอีกท่าน [อายุ 60 ปี] บ้านจบกหวาน ตำบลโคกสะอาด อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ชาวบ้านเรียก นายเมา [ยังสืบชื่อ-นามสกุลไม่ได้]

นายดำรง แย้มบาง [อายุ 62 ปี] เจ้าของโรงบุฆ้องเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย เรียนรู้ซึมซับวิชาบุฆ้องจากนายป่วน [บิดา] และนายชัยยงค์ [นายด้วง/พี่ชาย] เล่าว่า

“ก่อนหน้าที่นี่ตีขันตีพาน ตั้งแต่รุ่นปู่ ชื่อหนู สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แถบนี้ป่าทั้งนั้น เริ่มตีฆ้องรุ่นพ่อ อาจารย์ประสิทธิ ถาวร ก็สั่งที่นี่ ตอนนี้หัดเด็กคนหนึ่ง ชื่อแจ้ ตีไม่สวยเท่าไหร่ เราต้องมาแก้ ปล่อยขายไม่ได้ ไม่ผ่าน ยอมรับว่าลูกฆ้องสวยสู้สมัยก่อนไม่ได้ เพราะฝีมือคนตี นอกจากผมจะลงมือเอง แต่ร่างกายไม่สู้ ไม่รวยหรอก อยู่พอมีพอกิน พ่อค้าคนกลางสิรวย เวลาประมูลเอาฆ้องทุบฆ้องตีไปโชว์ แต่เอาฆ้องหล่อไปส่งเขา เจ้งสิครับ

“ช่างรุ่นเก่าตายหมด ไม่ได้ถ่ายวิชาไว้ ถ้าสนใจมาเรียนยินดีสอนฟรี แต่คุณต้องออกค่าอุปกรณ์เอง ค่าทองค่าถ่าน ก่อนเรียนควรมาดูให้ขึ้นใจสักอาทิตย์ เจองานจริงจะได้คล่องตัว ตามโรงเรียนสนใจกันมาก อาจารย์มาเอง เดี๋ยวเดียวเปิดหมด ทนร้อนทนลำบากไม่ไหว ผมก็จะทำจนกว่าไม่ไหวเหมือนกัน หมดแล้วหมดเลย ไม่ใจหาย ไม่มีคนเอาก็เรื่องของเขา”

น่ายินดีที่งานดนตรีไทยอุดมศึกษาเวียนครบอีกคำรบ หากเป็นหมุดหมายต่อยอดดอกผลกิจกรรมเดิม อย่างพากันเล่นดนตรีเพื่ออวดเพลงอวดฝีมือ หรือสังสรรค์เฉลิมฉลองพิธีเปิดปิดอย่างเอิกเกริก ที่ดูเหมือนว่าจะใหญ่โตยิ่งๆ ขึ้นทุกปี ด้วยขยับขยายริเริ่มกิจกรรมใหม่ๆ ทั้งฟื้นฟู [ที่ไม่ใช่ฟูมฟาย] รักษา ต่อยอด เพื่อสังคมดนตรีไทยอย่างเอาจริงเอาจัง ดังวิกฤตฆ้องทุบฆ้องตี ก็นับว่าวิเศษไม่น้อย ก่อนที่ความรู้หลายเรื่องจะเดินทางถึง ‘จุดจบ’ อันใกล้

อ้างอิง [สัมภาษณ์]
ศิวศิษฏ์ นิลสุวรรณ. สัมภาษณ์. 1 กุมภาพันธ์ 2558.
สังเวียน พงษ์ดนตรี. สัมภาษณ์. 1 กุมภาพันธ์ 2558.
ชลอ ใจชื่น. สัมภาษณ์. 2 กุมภาพันธ์ 2558, 12 มีนาคม 2558.
มาลัย วิจิตรโท. สัมภาษณ์. 11 มีนาคม 2558.
อภิชาติ ภู่ระหงษ์. สัมภาษณ์. 15 มีนาคม 2558.
ดำรง เเย้มบาง. สัมภาษณ์. 18 มีนาคม 2558.
สิงห์ทอง พวงพันธุ์. สัมภาษณ์. 21 มีนาคม 2558.

[เชิงอรรถ]
[1] ข้อเขียน ‘การสร้างเครื่องดนตรีไทย’ ของทวีศักดิ์ ยุกตระนันทน์ หนังสือที่ระลึกงานดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ 15 [สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตเจ้าคุณทหาร [ลาดกระบัง] ปี 26] ‘ดำรง แย้มบาง ช่างฆ้องบ้านเนิน’ และ ‘เยี่ยมบ้านฆ้องนครนายก แหล่งผลิตฆ้องคุณภาพระดับประเทศ’ ของ ดร.สนอง คลังพระศรี [วารสารเพลงดนตรี ฉบับ มิ.ย. ปี 38 และฉบับ ม.ค. ปี 48] วิทยานิพนธ์ ‘ฆ้องวง: วัฒนธรรมการสร้างและผลกระทบทางดนตรี’ ของอภิชาต ภู่ระหงษ์ [บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 40] ‘กรรมวิธีการสร้างฆ้องหล่อ: กรณีศึกษาช่างสำราญ นิลวิไลพันธ์’ ของภัฐธีร์ตา วัฒนประดิษฐ์ [คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 49] ‘กรรมวิธีการประดิษฐ์ฆ้องวงใหญ่ กรณีศึกษา: นางมาลัย วิจิตรโท’ ของชมพูนุท มากกำเหนิด [มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี]

จุดสังเกตสำคัญระหว่างฆ้องทุบกับฆ้องหล่อ นอกจากให้กระแสเสียงต่างกัน ฆ้องทุบ ช่างมักทิ้งรอยฝีค้อนจากการบุฆ้องไว้ภายใน พื้นผิวจึงไม่เรียบเกลี้ยงเกลาเหมือนฆ้องหล่อทั่วไป [กันต์ อัศวเสนา: ถ่ายภาพ, 21 มีนาคม 2558]

จุดสังเกตสำคัญระหว่างฆ้องทุบกับฆ้องหล่อ นอกจากให้กระแสเสียงต่างกัน ฆ้องทุบ ช่างมักทิ้งรอยฝีค้อนจากการบุฆ้องไว้ภายใน พื้นผิวจึงไม่เรียบเกลี้ยงเกลาเหมือนฆ้องหล่อทั่วไป [กันต์ อัศวเสนา: ถ่ายภาพ, 21 มีนาคม 2558]

ความงามกลมกลึงของลูกฆ้องหล่อปัจจุบัน และรอยบุฉัตรข้างฆ้องหล่อ กรรมวิธีหนึ่งที่พยายามทำให้เสียงฆ้องหล่อใกล้เคียงเสียงฆ้องทุบ? [กันต์ อัศวเสนา: ถ่ายภาพ, 11 มีนาคม 2558]

ความงามกลมกลึงของลูกฆ้องหล่อปัจจุบัน และรอยบุฉัตรข้างฆ้องหล่อ กรรมวิธีหนึ่งที่พยายามทำให้เสียงฆ้องหล่อใกล้เคียงเสียงฆ้องทุบ? [กันต์ อัศวเสนา: ถ่ายภาพ, 11 มีนาคม 2558]

นางมาลัย วิจิตรโท เจ้าของโรงหล่อฆ้องหนึ่งในสามโรงของ จังหวัดนครนายก พูดจาฉะฉานออกรส บอกเล่าประสบการณ์หล่อลูกฆ้อง ลองผิดถูกกระทั่งลงตัวทั้งสัดส่วนและให้เสียงที่น่าพอใจ [ธีรภัทร บุญจิตติ: ถ่ายภาพ, 11 มีนาคม 2558]

นางมาลัย วิจิตรโท เจ้าของโรงหล่อฆ้องหนึ่งในสามโรงของ จังหวัดนครนายก พูดจาฉะฉานออกรส บอกเล่าประสบการณ์หล่อลูกฆ้อง ลองผิดถูกกระทั่งลงตัวทั้งสัดส่วนและให้เสียงที่น่าพอใจ [ธีรภัทร บุญจิตติ: ถ่ายภาพ, 11 มีนาคม 2558]

นายสิงห์ทอง พวงพันธุ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ช่างสร้างเครื่องดนตรีปี่พาทย์และช่างบุฆ้องย่านอีสานใต้ ถ่ายภาพอวดคู่กับวงฆ้องใหญ่ฝีมือบุลูกฆ้องของตนเมื่อกว่า 50 ปี ก่อน [กันต์ อัศวเสนา: ถ่ายภาพ, 21 มีนาคม 2558]

นายสิงห์ทอง พวงพันธุ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ช่างสร้างเครื่องดนตรีปี่พาทย์และช่างบุฆ้องย่านอีสานใต้ ถ่ายภาพอวดคู่กับวงฆ้องใหญ่ฝีมือบุลูกฆ้องของตนเมื่อกว่า 50 ปี ก่อน [กันต์ อัศวเสนา: ถ่ายภาพ, 21 มีนาคม 2558]

นายดำรง แย้มบาง เจ้าของกิจการโรงบุฆ้องแห่งเดียวในประเทศไทย ถ่ายภาพหน้าโรงบุฆ้อง ถนนอิสรภาพ บางกอกน้อย กรุงเทพฯ ภายใต้ชื่อ “บ้านเนินฆ้องวง” [ธีรภัทร บุญจิตติ: ถ่ายภาพ, 18 มีนาคม 2558]

นายดำรง แย้มบาง เจ้าของกิจการโรงบุฆ้องแห่งเดียวในประเทศไทย ถ่ายภาพหน้าโรงบุฆ้อง ถนนอิสรภาพ บางกอกน้อย กรุงเทพฯ ภายใต้ชื่อ “บ้านเนินฆ้องวง” [ธีรภัทร บุญจิตติ: ถ่ายภาพ, 18 มีนาคม 2558]

 

Comment

  1. 2511yingying says:

    น่าเสียดายหากศิลปะวัฒนธรรมไทยจะถูกกลืนหายไปกับวัฒนธรรมใหม่จากโลกตะวันตก
    ขอสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดและสานต่องานช่างฝีมือของคนไทยโบราณที่มีความประณีต งดงาม และเป็นเอกลักษณ์ไทยที่มีคุณค่าต่อการหวงแหนและสืบทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน
    อย่าให้ลูกหลานต้องเรียนรู้จากพิพธภัณฑ์เลยค่ะ
    ขอบคุณคะ
    จาก นักดนตรีไทยคนหนึ่ง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *