‘ฆ้องทุบ-ฆ้องตี’
กรรมวิธีสร้างและศิลป์เชิงช่างอีสานใต้
เรื่อง: พิชชาณัฐ ตู้จินดา
ภาพ: กันต์ อัศวเสนา
น่าสนใจว่า ทำไมพลังอธิบายวัฒนธรรม ‘มโหรี-ปี่พาทย์’ ของไทย จึงไม่กว้างขวางครอบคลุมพื้นที่อีสานเหนือใต้อย่างที่ควรเป็น ทั้งที่มีอยู่ควบคู่พิณ แคน โปงลาง หมอลำ เจรียง กันตรึม แต่ทว่าการรับรู้ไม่ต่างพื้นที่สีเทา คืออาจรู้หรือเห็นว่ามี แต่ถูกทำให้ชัดแจ้งหรืออธิบายเป็นส่วนหนึ่งร่วมกับวัฒนธรรมกระแสหลักหรือไม่ ดูเหมือนคำตอบจะไม่พ้นคำกล่าว ‘ชุดความรู้ดนตรีไทยอธิบายด้วยตาข้างเดียว’ ดวงตาอีกข้างจึงพล่ามัวมืดมนไม่สว่างเท่าเทียม
ความจริงจากปากกัลยาณมิตรหลายท่านทำให้ทราบว่า เขตอีสานยังมีเครื่องดนตรีปี่พาทย์เก่าประจำอยู่หลายวัด เฉพาะข้อมูลไม่เป็นทางการในพื้นที่สี่อำเภอที่ จ.บุรีรัมย์ หนึ่งอำเภอที่ จ.สุรินทร์ ร้อยเอ็ด นครพนม กาฬสินธุ์ รวบรวมได้ 19 แห่ง [1] บางแห่งโชคดีเพราะครบถ้วนสมบูรณ์พร้อมทั้งวง [ระนาดเอก-ทุ้ม ฆ้องวงใหญ่-เล็ก กลอง-ตะโพน ปี่ ฉิ่ง] หลายแห่งโชคร้ายเหลือแต่เศษซาก บ้างด้วยความไม่รู้ของชาววัด บ้างถูกขายทอดตลาดนักสะสม ชะตากรรมตกที่นั่งไม่ต่างศิลปวัตถุอื่นที่น้อยคนจะสนใจ กู้คืนได้ก็แต่ความทรงจำที่นับวันมีแต่จะเลือนราง
โดยเฉพาะชุมชนดั้งเดิมที่มีวัดเป็นศูนย์กลาง เมื่อสร้างวัดเสร็จก็สร้างเครื่องดนตรีปี่พาทย์ไว้ด้วยพร้อมกัน ในยุคที่เครื่องดนตรีหาซื้อได้ไม่ง่ายอย่างปัจจุบัน วัตถุดิบสำคัญอย่างสำริดบุฆ้องต้องรวบรวมจากแรงศรัทธาของคนในชุมชน ไม่ต่างจากต้นไม้ใหญ่ที่ใช้ขุดกลองหรือรางระนาด รวมทั้งหนังสัตว์หน้ากลองและวัสดุอื่น พูดง่ายๆ ว่าเกิดจากแรงใจไม่ใช่แรงเงิน เครื่องดนตรีปี่พาทย์จึงเป็นสมบัติร่วมเช่นเดียวกับเครื่องใช้จิปาถะอื่น ที่ชาวบ้านหยิบยืมได้เมื่อมีเหตุจำเป็น หากใครคิดสร้างในครอบครองส่วนตัวนับว่าเป็นเรื่องเกินกำลัง
รู้จักในชื่อ ช่างสิงห์ทอง พวงพันธุ์ ช่างอิฐ แก่นแก้ว ช่างบุฆ้องรุ่นเก่าของอีสานใต้เพียงสองท่านที่มีชีวิตร่วมสมัยถึงปัจจุบัน ทั้งคู่เรียนรู้ซึมซับวิชาช่างจากบรรพบุรุษชาวเขมรต่ำกัมพูชา มีบทบาทในฐานะเจ้าของผลงานบุฆ้องทั้งสร้างและซ่อมทั่วอีสานใต้และใกล้เคียง ท่านแรกอยู่ บ.ท่าปูน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ มีฝีมือสร้างโบสถ์และเมรุ หลังเกิดปัญหาสายตาจากความร้อนหน้าเตาจึงยุติการผลิตเด็ดขาด แม้เข้าวัย 85 ปี แต่ยังคงเล่าขานเรื่องราวไม่ติดขัด อีกท่านอยู่ บ.จบกหวาน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ก่อนกลับมาบุฆ้องอย่างเอาจริงเอาจังอีกครั้ง กว่า 10 ปี เคยใช้ชีวิตรับเหมาก่อสร้างที่กรุงเทพฯ นอกจากบุฆ้องยังทำนาและค้าแตงโมที่ตลาดใกล้บ้าน
ช่างสิงห์ทองฟื้นความหลังว่า “อายุสิบสองเริ่มบุฆ้องกับพ่อ ท่านอายุสักห้าสิบ ชื่อผัด เป็นนักปี่พาทย์ คนพระตะบอง กัมพูชา ทำไร่นาด้วย เป็นช่างทำเมรุ เมรุลอย โบสถ์ เกวียน จักสานนี่เก่ง ไม่ได้บุอยู่กับบ้าน แต่ไปตามวัดที่เขาหา ไปอยู่ครั้งหนึ่งอย่างต่ำ 3-4 เดือน ค่าแรงวงละพันห้า ไปอุบล บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษนี่มาก ไปกับเกลอท่านอีกคนชื่อนุ่ม คนนี้เป็นช่างบุมีฝีมือ ผมลูกงานช่วยชักสูบ คนอื่นสูบไม่ถูกใจท่าน ลมสูบต้องเสมอไฟถึงจะขึ้นแรง ผมอายุสี่สิบกว่าเริ่มรับงานบุเอง จะว่าชำนาญก็ไม่เชิง เข้าเตาไฟเมื่อไหร่ต้องเรียนรู้ใหม่เมื่อนั้น หลายคนรู้จักชื่อสิงห์ทอง รู้จักผลงาน แต่ไม่รู้จักตัวก็มี”
เช่นเดียวกับช่างอิฐที่เล่าว่า “บรรพบุรุษผมบุฆ้องตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อ ปู่ชื่อเดาะ พ่อชื่อฮบ ผมตามพ่อไปบุฆ้องตั้งแต่ ป.4 ฝึกเองหลายปีท่านถึงจะปล่อย จำสีไฟโลหะนี่สำคัญ สีไฟไม่ได้ที่ ลงมือบุก็แตก ไปทำหลายวัดครับ ที่พลับพลาชัย ประโคนชัย สตึก จ.บุรีรัมย์ กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ท่าตูม เมืองที ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ส่วนใหญ่ทำปี่พาทย์เครื่องห้า มีปี่ ระนาดเอก ฆ้องวง ตะโพน กลองคู่หนึ่ง ฉิ่ง ฉาบ ใช้เวลาประมาณหนึ่งพรรษา หายากที่สุดคือสำริด ชาวบ้านต้องร่วมใจบริจาค สมัยก่อนไม่อดอยากครับ ขันน้ำพานรอง ฆ้องใหญ่หรือฆ้องแตก จับหลอมเลย จะเอาไม้อะไรเขาก็ตัดถวายวัด หนังวัวควายได้จากโรงฆ่า”
ฝีมือบุฆ้องจากหลายช่างในอีสานใต้บอกได้ว่า หากเนื้อลูกฆ้องหนา ฉัตรยาว ปุ่มฆ้องใหญ่ ลักษณะลูกฆ้องคล้ายภาคกลาง มักพบมากใน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ขยายพื้นที่ถึงบางส่วนของ จ.นครราชสีมา ต่างจากหลายแห่งใน อ.ประโคนชัย อ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์ ขึ้นไปทาง จ.สุรินทร์ ที่ลักษณะลูกฆ้องคล้ายฝั่งเขมรต่ำกัมพูชา คือเนื้อโลหะบาง ฉัตรสั้น ปุ่มฆ้องเล็ก รวมถึงฝีมือบุของช่างสิงห์ทองและช่างอิฐ ที่ถือเป็นตัวอย่างลักษณะลูกฆ้องที่จับต้องได้จากพื้นที่ทั้งสอง เป็นเพียงข้อสังเกตเล็กน้อยหาใช่ข้อสรุป ถึงแม้ลักษณะกายภาพต่างกัน แต่ทว่ากรรมวิธีสร้างไม่ต่างกัน
ช่างสิงห์ทองตั้งต้นเล่าว่า “ทองสำริด บ้านผมเรียก ‘ทองเสาะ’ หรือ ‘ทองห้าว’ ได้จากทองเก่าจำพวกขันบุ ลูกฆ้อง หรือเศษทองแตก ส่วนตัวไม่เคยผสมเอง เพราะไม่แน่ใจ รู้แต่ว่าใช้ทองแดงหกสิบ ดีบุกสี่สิบ สมัยนั้นดีบุกหายาก ได้ขันสำริดมาแล้วจับเผาไฟให้เหลือง ปล่อยเย็นไว้สักพัก ทุบนิดเดียวก็แตก เอาเศษทองจากขันแตกมาชั่งแล้วหลอมใหม่ หลอมในหม้อ หรือ ‘ชะนัง’ เพื่อทำทองก้อน สมัยนั้นผมไปทำที่ไหนก็ไปหลอมใหม่ที่นั่น
“สุมทองต้องให้สำริดละลายเต็มที่ วางหม้อในเตาคลุมด้วยถ่านไฟให้มิด ถ้าได้ที่สีสำริดจะสุก เปื่อยละลายเป็นน้ำขุ่นใส โรยดินประสิวในหม้อเพื่อแยกสิ่งปลอมปน เขม่าดิน เศษผงหรือเศษถ่านจะปะทุออก ให้รีบตักขึ้นทันที เรียกขี้สำริด เสร็จแล้วใช้คีมจับปากหม้อเททองลงเบ้า เบ้าเหล็กคล้ายหลุมขนมครก ในเบ้าต้องต้มน้ำผสมน้ำมันยางให้เดือด สำริดจะร่อนไม่จับเหล็ก สมัยนี้ใช้น้ำมันเครื่องผสมน้ำมันก๊าดแทนได้ สำเร็จขั้นตอนแรก ได้ทองสำริดเก็บเป็นก้อนๆ เอาไว้บุฆ้องอย่างที่เห็น”
‘หม้อ’ หรือ ‘ชนัง’ ในภาษาเขมรถิ่นไทยที่ช่างสิงห์ทองกล่าวถึง หมายถึงภาชนะถลุงโลหะ ทนร้อนจากถ่านไม้ซากที่ให้ไฟเเรงได้ดี [อาจใช้ถ่านไม้จบกหรือมะค่าแทนได้ แต่ไม่นิยมเพราะเขม่ามาก] สร้างจากดินจอมปลวกร่อนละเอียดผสมรำข้าวกับเเกลบดิบ ปั้นเป็นถ้วยทรงกลมผึ่งแดดตากลมจนเเห้งสนิท หากใช้ดินอื่นเช่นดินเหนียวมักเเตก หม้อลูกหนึ่งถลุงได้ 5-6 ครั้ง จึงเสื่อมสภาพ ดินผสมอย่างนี้ยังใช้ทำเตาและรังผึ้งรองถ่านไฟอีกด้วย น้ำมันยางได้จากต้นยางนาสด ชาวบ้านใช้วิธีสับโคนต้นเป็นโพรงเอาไฟสุมช่วงค่ำ น้ำมันจะถูกขับจากลำต้นด้วยความร้อน รุ่งเช้าจึงตักน้ำมันจากโพรงมาใช้โดยไม่ต้องผ่านกรรมวิธีใด
ตลอดขั้นตอนบุฆ้อง [ยกเว้นขั้นตอนกลึง] จำเป็นต้องทำภายในโรงเรือนปกปิด อาศัยความมืดขับสีก้อนสำริดเผาไฟให้เห็นชัด โดยเฉพาะทองสำริดจะสำเร็จเป็นลูกฆ้องหรือไม่ อยู่ที่ความแม่นยำในการดูสีไฟสำริดเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ช่างบุยังให้ความสำคัญกับเครื่องชักสูบลม [สมัยนี้ใช้มอเตอร์ปั้มลมแทน] มากกว่าอุปกรณ์บุอื่น เพราะหากขาดแรงลมเป่าถ่านไฟจากชักสูบ สำริดอาจร้อนไม่ถึงจุดหลอมละลายหรือถึงจุดที่จะบุได้ ก่อนก่อกองไฟเผาถ่านบุฆ้องทุกครั้ง ช่างบุต้องเซ่นวักเครื่องชักสูบลมตามความเชื่อ ทั้งให้ความเคารพด้วยการไม่ข้ามหรือใช้เท้าสัมผัส เพราะจะ ‘ผิดครู’ ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ปวดศีรษะไม่ทราบสาเหตุ ต้องตั้งเครื่องเซ่นสรวงจึงจะหายขาด โรงบุฆ้องในภาษาเขมรถิ่นไทยจึงเรียก ‘โรงสน็อบ’ ที่หมายถึง ‘โรงชักสูบ’
ช่างอิฐอธิบายขั้นตอนบุฆ้องอย่างรวบรัดว่า “เผาไฟก้อนทองสำริดให้แดง คนหนึ่งจับก้อนทองคอยหมุนบนทั่ง อีกคนใช้ค้อนปอนด์ทุบเพื่อแผ่ทองออก ตอนแผ่ทองสำคัญสองอย่าง หนึ่ง ดูสีไฟบนก้อนทองให้เสมอกัน ไม่แดงหรือดำจนเกินไป ถ้าเนื้อทองเย็นจะออกสีเปลือกมังคุด เผาไฟให้แดงแล้วค่อยทุบใหม่ ไม่อย่างนั้นแตก เรียก ‘ผิดไฟ’ ต้องตั้งต้นหลอมเป็นทองก้อนใหม่ สอง น้ำหนักฝีค้อนต้องเบาไปหนัก ลองกำลังพอให้หน้าค้อนจับติด ใช้ได้ วิถีค้อนต้องทุบแล้วดึงเข้าตัว เพื่อเพิ่มกำลังแผ่ ทุบตรงกลางอย่าให้ถูกขอบ เพราะขอบเริ่มบาง เดี๋ยวแตก ทำอย่างนี้สลับเผาไฟ มันจะค่อยๆ บานออก ขั้นตอนนี้เหนื่อยและยากครับ ต้องอาศัยประสบการณ์ ใช้กำลังมาก
“เสร็จแล้วจะได้แผ่นทองกลมแบนเท่าจานข้าว สำคัญคือให้กึ่งกลางหนาเพื่อตีปุ่ม ไว้เนื้อพอควร ถ้ามากปุ่มจะหนาเกินไป ตัดแต่งขอบให้เกลี้ยง ทีนี่ใช้ค้อนขนาดเล็กทุบพับฉัตร ทุบห่างจากปุ่มไม่มาก คำนวณให้พอดีสัดส่วนฉัตรบนฉัตรล่าง จากแผ่นแบนกลมค่อยๆ ขึ้นรูปคล้ายฝาเบียร์ สลับทุบด้านนอกด้านในตบเข้าเป็นรูปขัน ช่วงนี้ไฟต้องอ่อน เพราะทองเริ่มบาง ไม่เหมือนตอนทุบแผ่ที่ต้องใช้ไฟแรง ทุบแต่งให้ได้ขนาด วัดกึ่งกลางเพื่อทำปุ่ม ตา หรือนมฆ้องเขาก็เรียก ทุบปุ่มฆ้องบนแม่แบบเหล็ก วางบนหลุมไม้ขุดรูปคล้ายขนมครก สุดท้ายจับเผาไฟแล้วโยนน้ำ เป็นการชุบทางโลหะอย่างหนึ่ง เสียงจะดี สำเร็จเป็นลูกดิบๆ เตรียมกลึงผิวเพื่อแต่งรูปแต่งเสียงต่อไป”
จากคำเล่าของช่างสิงห์ทองและช่างอิฐ เห็นได้ชัดว่า ขณะที่อีสานใต้เริ่มต้นบุฆ้องจากทองก้อนลักษณะคล้ายฉิ่งกลมตัน ช่างบุหลายบ้านในกรุงเทพฯ กลับเริ่มต้นบุจากแผ่นทองกลมขนาดใหญ่เล็กตามสัดส่วน [เฉลี่ยประมาณ 7 นิ้ว] หรือขณะบุฆ้องขึ้นรูปคล้ายขัน ที่ช่างบุกรุงเทพฯ ใช้ ‘ครก’ [แม่แบบหลุมไม้บนหมอนรถไฟ] ช่วยตีขึ้นรูปตามขนาดลูกฆ้อง แต่อีสานใต้ขึ้นรูปสดโดยไม่ใช้แม่แบบดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความต่างของทั้งสองกรรมวิธีย่อมมีผลต่อระยะเวลาที่ใช้และมาตรฐานสัดส่วน หากแต่ยังไม่มีผลสำรวจใดยืนยัน ว่ากรรมวิธีปลีกๆ เหล่านี้มีผลต่อเสียงฆ้องหรือไม่
น่าสังเกตว่า ความดังกังวานเสียงของลูกฆ้องอีสานใต้เปล่งกำลังไม่เท่าลูกฆ้องแถบภาคกลาง ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่า ลูกฆ้องเดิมแถบภาคกลางถูกปรับพัฒนาพร้อมๆ กับบทเพลงและบทบาทวงดนตรีที่ก้าวข้ามไปสู่ดนตรีเพื่อการฟัง ยกคุณภาพโดยคิดค้นเทคโนโลยีและฝีมือเชิงช่าง โดยเฉพาะเพลงเดี่ยวที่ต้องการความงามเสียงและรองรับขีดทักษะความสามารถนักดนตรีที่เพิ่มมากขึ้น มากกว่าลูกฆ้องอีสานใต้ที่หน้าที่เพลงดนตรียังเป็นไปเพื่อรับใช้กิจกรรมวิถีชีวิตผู้คนในสังคม และวงดนตรีปี่พาทย์ที่บรรเลงเพื่อประกอบพิธีกรรม
แน่นอนว่า ปริมาณน้ำหนักสำริดที่ใช้บุฆ้อง มากน้อยย่อมมีผลต่อความหนาบางของเสียงและแรงกังวาน ดังที่ช่างสิงห์ทองให้ข้อมูลว่า ตนใช้สำริดบุฆ้องชั่งน้ำหนักเฉลี่ย 1 กก. เท่ากันทุกลูก แต่กลับกันที่สัดส่วนลูกฆ้องต่อหนึ่งสำรับเรียงขนาดจากใหญ่ไปเล็ก สังเกตได้ว่า เสียงฆ้องสี่ลูกต้นจึงบางกว่าปกติ ทั้งแรงกังวานยังไม่เท่าลูกฆ้องช่วงยอด อาจเพราะฆ้องสี่ลูกดังกล่าวมีขนาดใหญ่ เนื้อฆ้องจึงบางด้วยต้องแผ่สำริดออกให้ได้ตามขนาด นอกจากนี้ สัดส่วนกระสวนลูกฆ้อง [2] และขั้นตอนการกลึงแต่งเสียง ยังมีผลโดยตรงต่อคุณภาพเสียงอีกด้วย
ช่างสิงห์ทองบอกวิธีกลึงลูกฆ้องว่า “กลึงลูกฆ้องยากไม่แพ้ดูสีสำริด เอาลูกฆ้องเข้าแท่นจับ กลึงผิวให้สวย จุดประสงค์อีกอย่างคือหาระดับเสียง กลึงเฉพาะผิวด้านนอก ไม่กลึงด้านในอย่างภาคกลาง ไล่ตั้งแต่ปุ่มเรื่อยมาจนถึงฉัตร อย่าให้ถูกขอบฉัตรบนเพราะจะทะลุ ส่วนนี้บางที่สุด เสี่ยงที่สุดด้วย หาระดับเสียงต้องกลึงรอบปุ่ม กลึงบางเสียงจะต่ำ ไว้เนื้อหนาเสียงจะสูง กังวานไม่กังวานอยู่ที่ส่วนนี้ เสียงฆ้องไม่ถ่วงตะกั่วต้องสูงกว่าปกติหนึ่งเสียง ถ้ากินตะกั่วมากจะไม่ดัง ตำแหน่งรูร้อยเชือกใช้ใบมะพร้าววัดรอบ แบ่งพับสี่ส่วนให้เท่ากัน เจาะรูตามจุดพับ หรือจะใช้ตอกไม้ไผ่วัดแทนได้”
เป็นที่ทราบกันดีระหว่างช่างบุฆ้องในอีสานใต้ว่า ช่างบุมักทิ้งรอยหรือเส้นกลึงขณะกลึงผิวฆ้องเพื่อแสดงเอกลักษณ์เฉพาะตน คล้ายเส้นลวดบนเลาปี่ของช่างกลึงปี่แต่ละสำนัก ที่บอกได้ว่าลูกฆ้องหรือปี่เลาดังกล่าวเป็นผลงานสร้างของท่านใด นอกจากช่างสิงห์ทองและช่างอิฐ ตัวอย่างช่างบุฆ้องอีสานใต้ที่เคยสร้างผลงานมาแล้วในอดีต เช่น ช่างเดาะ แก่นแก้ว [ปู่ช่างอิฐ] ช่างฮบ แก่นแก้ว [บิดาช่างอิฐ] ช่างช่วย แก่นแก้ว [บุตรช่างเดาะ ศักดิ์เป็นน้าช่างอิฐ] ช่างผัด พวงพันธุ์ [บิดาช่างสิงห์ทอง] ช่างนุ่ม [ไม่ทราบนามสกุล/ บ.แพงพวย จ.บุรีรัมย์] ช่างจวน [ไม่ทราบนามสกุล/ บ.ม่วง จ.สุรินทร์] ช่างมี๊ด [ไม่ทราบนามสกุล/ บ.บรมสุข จ.สุรินทร์]
เพิ่มเติมเป็นความรู้เล่าแผ่สู่กันฟัง คำ ‘กวง’ ในภาษาเขมรถิ่นไทย แปลว่า ลูกฆ้อง หมายถึงลูกฆ้องปลีกๆ ที่ไม่ได้ขึ้นร้าน หรืออาจหมายถึงฆ้องโหม่ง ต่างจากคำ ‘เปียด’ ที่ในภาษาเดียวกันแปลว่า ฆ้องวง ‘เปียดใน’ หมายถึง ฆ้องวงใหญ่ เรียกชื่อตามระดับเสียงที่ใช้บรรเลงร่วมกับปี่ใน ‘เปียดแหบ’ หมายถึง ฆ้องวงเล็ก คำ ‘แหบ’ มีความหมายไปในทางเสียงเล็กหรือสูง เช่นเดียวกับ ‘ตรัวแหบ’ ที่หมายถึงซอด้วง หรือซอที่มีเสียงเล็กแหลม แต่ทั้งนี้ ต่างพื้นที่อาจออกเสียงหรือใช้ชื่อเรียกอื่นต่างกัน ทั้งคนบรรเลงฆ้องวงใหญ่ในวงปี่พาทย์แถบอีสานใต้ ยังมักได้รับการดูแลอย่างสะดวกสบายและให้ความสำคัญจากทั้งสมาชิกในวงและผู้ว่าจ้าง เพราะถือเป็นผู้ทรงความรู้และเป็นเครื่องดนตรีที่เป็นครูใหญ่ของวง
ทุกวันนี้ ลูกฆ้องเนื้อโลหะบาง ฉัตรสั้น ปุ่มฆ้องเล็ก ให้เนื้อเสียงบางเป็นเอกลักษณ์ นอกจากเป็นผลงานบุผ่านกรรมวิธีเชิงช่างอีสานใต้ที่มีกระจายประจำวัดต่างๆ แล้ว ยังหาซื้อได้จากตลาดช่องจอม ตั้งอยู่ อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ แหล่งซื้อฆ้องบุเก่าจากฝั่งกัมพูชาที่บรรดานักสะสมมักแวะเวียนไปซื้อหาเสมอ สนนราคาลูกฆ้องปลีกตามขนาดตั้งแต่ลูกละ 300 บาท จนถึง 1,500 บาท หรือราคาเฉพาะลูกต่อวง 12,000 บาท จนถึง 15,000 บาท กัลยาณมิตรท่านหนึ่งรายงานให้ทราบว่า มีโรงบุฆ้องแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา เป็นไปได้หรือไม่ว่า ฆ้องบุตลาดช่องจอมอาจมีที่มาจากโรงบุฆ้องดังกล่าว
ช่างสิงห์ทองเล่าปิดท้ายว่า “สมัยผมยังหนุ่ม อีสานใต้มีช่างบุฆ้องมากครับ มากแท้ๆ เป็นสิบ เดี๋ยวนี้ล้มหายตายจากไปหมด ทำอาชีพนี้พอได้ใช้สอย ไม่ถึงกับรวยหรือจน ทั้งชีวิตไม่เคยนับว่าบุฆ้องมาแล้วกี่วง อาจถึงร้อย ส่วนตัวผมฝากวิชาช่างบุไว้กับสองคน คนหนึ่งชื่ออาคม พวงพันธุ์ ลูกชาย อายุห้าสิบปี รับราชการเป็นตำรวจ อีกคนชื่อหลวย ลูกเขย อายุไล่กัน ทั้งสองคนบุเก่งกว่าผม เพราะยังหนุ่มแน่น แรงจึงดี ความคิดอ่านแตกชาญชำนาญ ไม่ได้ประกอบเป็นอาชีพ เพราะบุฆ้องเป็นงานลำบาก นานครั้งจำเป็นถึงจะทำ
“อย่างน้อยก็ได้สืบวิชาไว้ ช่างบุยังไม่ถึงกับหมดไปจากอีสานใต้หรอกครับ”
อ้างอิง [สัมภาษณ์]
วีระ สุพลัง. สัมภาษณ์. 2 พฤษภาคม 2558, 3 พฤษภาคม 2558.
ศุภนิมิตร ฤาชัยสา. สัมภาษณ์. 21 มีนาคม 2558, 5 พฤษภาคม 2558.
สิงห์ทอง พวงพันธุ์. สัมภาษณ์. 21 มีนาคม 2558.
อาคม คำแก้ว. สัมภาษณ์. 2 พฤษภาคม 2558, 3 พฤษภาคม 2558.
อิฐ แก่นแก้ว. สัมภาษณ์. 2 พฤษภาคม 2558, 3 พฤษภาคม 2558.
เชิงอรรถ
[1] อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ วัดบ้านตาแผ้ว/ อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ วัดสองชั้น วัดบ้านตะแบก วัดบ้านสูงเนิน วัดอินทบูรพา/ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ วัดหนองไทร วัดหัวสะพาน วัดสะเดา วัดป่าเรไร วัดสุวรรณวนาราม วัดแพงพวย วัดหัวถนน วัดศรัทธาชุมพล/ อำเภอพลับพลาชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ วัดพลับพลาชัย/ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ วัดบ้านเสม็ด/ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ได้แก่ วัดไตรภูมิ วัดบ้านหินกอง วัดสะเกตุ/ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ได้แก่ วัดพระธาตุพนม/ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้แก่ วัดบ้านนางัว
[2] เส้นผ่านศูนย์กลางลูกฆ้องวงใหญ่ฝีมือช่างอิฐ แก่นแก้ว
ลูกที่ 1 (ลูกทั่ง) – 16.5 ซม. ลูกที่ 2 – 15.5 ซม.
ลูกที่ 3 – 14.5 ซม. ลูกที่ 4 – 14.5 ซม.
ลูกที่ 5 – 14.5 ซม. ลูกที่ 6 – 14.5 ซม.
ลูกที่ 7 – 14.5 ซม. ลูกที่ 8 – 14.5 ซม.
ลูกที่ 9 – 14 ซม. ลูกที่ 10 – 14 ซม.
ลูกที่ 11 – 13.5 ซม. ลูกที่ 12 – 13.5 ซม.
ลูกที่ 13 – 13 ซม. ลูกที่ 14 – 12.5 ซม.
ลูกที่ 15 – 12 ซม. ลูกที่ 16 (ลูกยอด) – 12 ซม.
เส้นผ่านศูนย์กลางลูกฆ้องวงใหญ่ฝีมือช่างนุ่ม
ลูกที่ 1 (ลูกทั่ง) – 15 ซม. ลูกที่ 2 – 15 ซม.
ลูกที่ 3 – 15 ซม. ลูกที่ 4 – 15 ซม.
ลูกที่ 5 – 14.5 ซม. ลูกที่ 6 – 14.5 ซม.
ลูกที่ 7 – 14.5 ซม. ลูกที่ 8 – 14.5 ซม.
ลูกที่ 9 – 14.5 ซม. ลูกที่ 10 – 14 ซม.
ลูกที่ 11 – 14 ซม. ลูกที่ 12 – 14 ซม.
ลูกที่ 13 – 14 ซม. ลูกที่ 14 – 13.5 ซม.
ลูกที่ 15 – 12.5 ซม. ลูกที่ 16 (ลูกยอด) – 12 ซม.
เส้นผ่านศูนย์กลางลูกฆ้องวงเล็กฝีมือช่างสิงห์ทอง พวงพันธุ์
ลูกที่ 1 (ลูกทั่ง) – 14.5 ซม. ลูกที่ 2 – 14.5 ซม.
ลูกที่ 3 – 13.5 ซม. ลูกที่ 4 – 13.5 ซม.
ลูกที่ 5 – 13.5 ซม. ลูกที่ 6 – 13.5 ซม.
ลูกที่ 7 – 13 ซม. ลูกที่ 8 – 13 ซม.
ลูกที่ 9 – 13 ซม. ลูกที่ 10 – 12.5 ซม.
ลูกที่ 11 – 12 ซม. ลูกที่ 12 – 11.5 ซม.
ลูกที่ 13 – 11.5 ซม. ลูกที่ 14 – 11 ซม.
ลูกที่ 15 – 10.5 ซม. ลูกที่ 16 – 10.5 ซม.
ลูกที่ 17 (ลูกยอด) – 9.5 ซม.