‘ผิดครู’ และอาถรรพ์ความเชื่อ ในวัฒนธรรมดนตรีอีสานใต้

‘ผิดครู’ และอาถรรพ์ความเชื่อ
ในวัฒนธรรมดนตรีอีสานใต้
เรื่อง /ภาพ: พิชชาณัฐ ตู้จินดา
[อาจารย์ประจำวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา]

กล่าวเบื้องต้นอย่างกระชับเพื่อความเข้าใจ เนื้อหาบทความชิ้นนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับ ‘ความเชื่อ’ แม้เป็นเรื่องที่ถูกท้าทายด้วยเทคโนโลยีโลกสมัยใหม่ และพิสูจน์ชัดเป็นรูปธรรมไม่ได้ หากแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อสังคมและวัฒนธรรมต่างกัน ความคิดความเชื่อย่อมแตกต่างกันด้วย การพิจารณาข้อมูลและคำเล่าต่างๆ จึงควรกระทำด้วย ‘วิจารณญาณ’ และ ‘เคารพ’ ความเชื่ออื่นๆ อย่างเข้าอกเข้าใจผู้คนต่างวัฒนธรรม แม้คำเล่าต่อไปนี้จะมีฤทธิ์ต่อท่านหรือไม่ก็ตาม

พิธีไหว้ครูในวัฒนธรรมดนตรีอีสานใต้ ธูปเทียนดอกไม้และเครื่องบูชา [1] จะถูกเซ่นวักต่อครูทุกครั้ง เมื่อ 1.ครูคนต้องรับศิษย์ใหม่ 2.ก่อนเล่นดนตรี 3.เมื่อนักดนตรีผิดครู สองวาระแรก นอกจากกระทำเพื่อระลึกพระคุณครูที่ได้ถ่ายทอดความรู้สืบๆ มา ยังเป็นหลักประกันความเชื่อว่า กิจกรรมดนตรีจะสำเร็จโดยปราศจากอุปสรรคด้วยแรงครู ต่างจากอีกวาระ ที่ต้องจัดกระทำเพื่อขอขมาอาภัยเมื่อศิษย์หรือนักดนตรีก้าวล่วงข้อห้ามบางอย่าง ด้วยแรงครูอีกเช่นกันที่ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่นความเจ็บป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ พูดง่ายๆ ว่า ครูให้ได้ทั้ง ‘คุณ’ และ ‘โทษ’

จากประสบการณ์และข้อมูลในมือ จำเพาะจงเจาะไม่ได้ว่า ครู หมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่อาจจำแนกครอบคลุมอย่างหยาบๆ ได้เป็น เทวดาและฤๅษีในคติพราหมณ์-ฮินดู [แน่นอนว่าต้องกล่าวถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วย] ดังรายชื่อเทวดาหลายต่อหลายองค์ในคำประกาศน้ำมนต์ครู [2] ฉบับนายเผย ศรีสวาท [อายุ 85 ปี] นักมโหรีปี่พาทย์อาวุโส บ.ระไซร์ จ.สุรินทร์ เจ้าของรางวัลบุคคลต้นแบบด้านวัฒนธรรมและศิลปินภูมิบ้านภูมิเมือง สาขาคีตศิลป์ จ.สุรินทร์ คัดให้อ่านบางช่วงบางตอน ความว่า

“เชิญคุณครูชื่อท้าวเวสสุวรรณ ผู้เป็นเจ้าครอบครองทั้งแผ่นดิน ทั้งพระอินทร์ พระพรหม พระยมการ พระจตุโลกบาลทั้งหลาย ทั้งพระนารายณ์ผู้มีฤทธิ์ ทั้งพระฤๅษีสิทธิ์ พระพิษณุการ ทั้งพระพุทธ พระธรรม พระอารยสงฆ์ ทั้งพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ อันจะบ่งบอกทั้งพื้นแผ่นดินแดนพระธรณี ทั้งพระมหาปฐพีผู้คงสถิตอยู่ในห้วงอากาศ ข้าขออัญเชิญพระฤๅษีตารอด ขอเชิญพระฤๅษีตาไฟ ขอเชิญพระฤๅษีตาไล ขอเชิญพระฤๅษีตางัว ขอเชิญพระฤๅษีทั้งแปดพระองค์ จงมารักษาตัวของพวกข้าพเจ้าด้วยกันทุกคนเทอญ”

ทั้งหมายรวมถึง ครูผี ทั้งผีบรรพบุรุษและครูมนุษย์ที่เสียชีวิต และครูเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลง ดังเช่นการนับถือ ‘ผีปะกำ’ เป็นส่วนหนึ่งของครูเครื่องหนัง เพราะเชื่อว่าผีปะกำสิงสถิตในหนังปะกำที่ทำจากหนังวัวควาย ไม่ต่างจากเครื่องดนตรีประเภทเครื่องหนังที่ทำจากหนังวัวควายเช่นกัน หลังพิธีไหว้ครูทุกครั้ง นักดนตรีจึงต้องหยาดน้ำและเหล้าลงเครื่องดนตรีทุกชิ้น หรือนำข้าวสารปริมาณหยิบมือโรยตามด้วยพร้อมกัน เป็นสัญลักษณ์แสดงอาการว่าครูได้รับเครื่องเซ่นอย่างอิ่มหนำ

แน่นอนว่า ต่างพื้นที่ย่อมมีรายละเอียดและขั้นตอนพิธีไหว้ครูต่างกัน โดยเฉพาะเมื่อผ่านพิธีไหว้ครูรับศิษย์ใหม่เพื่อตั้งต้นเรียนดนตรี บางพื้นที่อาจประกอบพิธีกรรมอื่นๆ ตามความเชื่อ เช่นคำเล่าของนายจุมแสงจันทร์ [อายุ 67 ปี] คนขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ยอดนักเจรียงจับเปย [3] คนสำคัญคนเดียวในประเทศไทยขณะนี้ ว่ากันว่า เป็นผู้หนึ่งที่เคยผ่านประสบการณ์อาถรรพ์ความเชื่อมาไม่น้อย บรรจุอัฐิเถ้ากระดูกบิดาลงในจับเปยฎองเวง พิณกระจับปี่คู่มือ เล่าเหตุการณ์ที่ตนเรียนรู้วิธีเจรียงกับนายเจียม แสงจันทร์ [บิดา] ให้ฟังอย่างพิสดาร ว่า

“เรียนเจรียงเพลงครูทั้งหมดแล้ว เพลงพัดเจือย พัดเจือยกลาย สโรเม บทโศก วันสุดท้ายเหมือนสอบไล่ ผมจะได้เป็นครูคน พ่อผมไปผูกต้นมะเขือขื่นหน้าบ้าน แตกดอกออกผลงามเหมือนพุทรา คืนนั้นวันเพ็ญเดือนเกิด แกให้ผมไปปักคบไฟเป็นหลักๆ กลางลานบ้าน นั่งเจรียงใต้ต้นกล้วย หันไปทางทิศตะวันออกคนเดียว แกตัดปลีกล้วยให้ยางตกใส่หัวผม สั่งว่าเห็นอะไรห้ามวิ่ง ผมไม่เห็นหรอก แต่เหมือนพรายตานีเขามาสัมผัสอวยพร ถ้าคบไฟดับทั้งหมด ผมถึงลุกขึ้นจากเจรียงได้

“พ่อเอาสุ่มดักปลาสุ่มต้นมะเขือ เวลาผมเจรียงดวงจันทร์คอยๆ ขึ้นเต็มรัศมี ดึกดื่นค่อนคืนบรรยากาศเงียบสงัด มองอีกทีสุ่มมะเขือกลายเป็นเสือโคร่ง เขี้ยวฟันเหลืองเหมือนดวงจันทร์ แต่พ่อเตือน ถ้าวิ่งหนีมึงจะเตลิดไม่กลับ ตายเป็นตาย ไม่กลัว ผมลุกขึ้นขยุ้มหัวเสืออย่างแรง พอดึงขึ้นกลายเป็นสุ่มที่พ่อสุ่มไว้ นี่คือวันฝึกสุดท้าย หลังคืนนั้นรู้สึกสบาย ไม่ว่าครูสอนอะไร วิชาความรู้เข้าร่างผมทั้งหมด เหมือนไวพจน์ร้องเพลง ผมก็จำเพลงไวพจน์ได้ ทั้งที่ไม่เคยเรียน เจรียงตรงไหนถูกตรงนั้น ช่วงนั้นผมคล่องมาก”

กล่าวเฉพาะเรื่องผิดครู ถือเป็นความเชื่อร่วมกันของนักดนตรีแถบนี้ กินพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ สระแก้ว ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะไม่ปฏิบัติตามประเพณีอย่างที่เคยทำ เช่นหลงลืมเซ่นวักครูก่อนเล่นดนตรี หรือล่วงเกินครูด้วยลักษณะต่างๆ เป็นต้นว่า ข้าม หรือใช้เท้าสัมผัสเครื่องดนตรี เหยียบหมอนหนุนหัว อาการที่เกิดขึ้นกับผู้กระทำ เช่น ปวดหัวไม่ทราบสาเหตุ เดินไม่ได้เป็นปกติ สติไม่สมประกอบ กรณีนายเลือด สมานมิตร ครูใหญ่วงตุ้มโมง [4] บ.ปอยตะแบง จ.สุรินทร์ เมื่อผิดครูมักมีเลือดออกตามทวาร [ตา หู จมูก ปาก] หรือนักดนตรีวงมโหรี บ.ปางลาง จ.สระแก้ว ที่เล่าอย่างลับๆ ว่า ลูกอัณฑะตนไม่ครบเพราะผิดครู?

นายเผย ศรีสวาท ท่านเดียวกัน แบ่งปันเรื่องเล่าผิดครูให้ฟังว่า “เชื่อจนทุกวันนี้ อย่าให้ล่วงเกินครู เป็นคนอกตัญญูมีบาปกรรม แต่ก่อนเคร่งครัดมาก เคยเจอครับ มีคนป่วยเขาว่าผิดครู ตาเหลือง เนื้อเหลือง นอนอยู่กับที่เพราะลุกไม่ได้ พอผมไปเล่นมโหรี เขายกยาสูบมาให้ เล่นจบพร้อมกับทำพิธีเสร็จ หายเลย นี่ผิดครูจริงๆ ไม่ได้มีอะไรมาแทรกแซง หรือเคยไปเล่นมโหรีที่กัมพูชา วัดนั้นเป็นธรรมยุต เขาว่าไม่ต้องใช้เหล้าเซ่นครูหรอก ผมก็ว่าตามนั้น วันนั้นทั้งวันผมถ่ายอุจจาระไม่ออก ทั้งจุกทั้งแน่น ทรมานมาก แต่ก่อนไม่เคยเชื่อ เห็นกับตาเจอกับตัว กลัวเลยครับ”

เช่นเดียวกับ นายณรงค์เดช เชื้อเมืองพาน [อายุ 21 ปี] หมอเพลงอีสานใต้รุ่นใหม่ คนประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ถนัดสีซอกันตรึม เล่นดนตรีได้ทั้งแบบฉบับและประยุกต์ เล่นตลกลิเก ผ่านงานดนตรีมะม๊วดกระทั่งทราบว่าลักษณะไหนแท้หรือปลอม เป็นเจ้าของวงดนตรีพื้นบ้าน เจิมศักดิ์ ส.บัวสวรรค์ เล่าประสบการณ์ผิดครูให้ฟังว่า

“เชื่อครับ ผิดครูนี่ผิดจริงๆ ผมประสบมากับตัว ผิดจนเป็นบ้า ปวดหัวลูกตาแทบแตก ฟังแล้วอาจเป็นเรื่องไม่ใช่เรื่อง เพราะผมไปนอนสีซอ เล่นดนตรีด้วยความไม่เคารพครูอาจารย์ เป็นสองวันสองคืนเต็ม คุยกับพ่อแม่จนไม่รู้เรื่อง หมอบอกเป็นความดัน เจาะเลือดจนไม่มีที่เจาะ กินยาปัจจุบันไม่หาย สุดท้ายต้องเล่นมะม๊วดเลี้ยงครู ขอขมาลาโทษท่าน สำนึกว่าผมผิดไปแล้ว เช้าขึ้นมาหายเป็นปกติ มันก็น่าแปลก”

หรือ นายศุภนิมิตร ฤาไชยสา [อายุ 31 ปี] ครูดนตรีโรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษกจ.บุรีรัมย์ นักปี่พาทย์พื้นบ้านรุ่นใหม่ อีกหนึ่งกำลังสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมดนตรีของ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เป็นกระบอกเสียงที่ทำความเข้าใจและสื่อสารหลายเรื่องระหว่างชุมชนกับโลกภายนอก เล่าเรื่องเดียวกันว่า

“ถือมาก ถือว่าผิดครูปี่พาทย์แรงกว่าอย่างอื่น เคยเห็นเคยรู้จักตัว ชื่อตาราช ครั้งแรกปวดหัวธรรมดา ต่อมามีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นบ้าเข้าป่าเข้าดง นึกถอดเสื้อผ้าก็ถอด บางทีวิ่งไปกลางถนน ต้องวิ่งจับ รักษาหมอหลวงไม่หาย จำเป็นต้องพึ่งไสยศาสตร์ ดูหมอดู เขาว่าผิดครู ต้องเลี้ยงครู พอเลี้ยงเสร็จก็หายเป็นปกติ ผิดจนตาราชแกได้เป็นคนทำพิธีไหว้ครูนั่นแหละ บางครั้งเราไม่ผิด แต่คนอื่นทำ อย่างลูกศิษย์ทำแล้วมาตกที่เราก็มี ถ้าเห็นแล้วจุดธูปเทียนขมาก่อน ไม่เป็นไร”

จากคำเล่าประสบการณ์ทั้งสามท่านจะเห็นว่า ทางออกเดียวที่ทำให้หายขาดจากอาการผิดครู คือผู้นั้นต้อง ‘แต่งครู’ หรือ ‘เลี้ยงครู’ ตามประเพณี ลักษณะคล้ายพิธีไหว้ครูเมื่อครูคนรับศิษย์ใหม่และพิธีไหว้ครูก่อนเล่นดนตรี แต่มีขั้นตอนพิธีกรรมซับซ้อนและใช้เครื่องเซ่นสรวงมากกว่า เช่นต้องมีบายศรีต้นกล้วย [5] หรือบายศรีถาด [6] ทั้งยังต้องเล่นมโหรีปี่พาทย์เพื่อรับรองครู หรือต้องเล่น ‘มะม๊วด’ โดยเชิญหมอทรงผู้หญิงสื่อสารกับวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย คุณไสย ขอขมาลาโทษในสิ่งที่ได้ล่วงเกิน ทั้งนี้เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ป่วย

นอกจากนี้ ยังมีอาการเจ็บป่วยของนักดนตรีที่เกิดขึ้นจากการถูกกระทำ กระทำด้วยไสยศาสตร์ลึกลับเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง ไม่ว่าเป็น ต้องการให้ฝ่ายตรงข้ามเล่นดนตรีไม่ประสบความสำเร็จ หรือต้องการลองวิชานักดนตรีต่างถิ่นต่างครูว่าเข้มขลังหรือไม่ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า หากเกิดความผิดพลาดไม่ว่าด้วยเหตุใดในขณะเล่นดนตรี ย่อมแสดงความบกพร่องไม่สมบูรณ์ทั้งต่อหน้าผู้ฟังและผู้ว่าจ้าง ในแง่การแข่งขันย่อมต้องเสื่อมความนิยมลงเป็นธรรมดา

นายจุม แสงจันทร์ เล่ากรณีนี้ว่า “คาถาอาคมมีเยอะเลยลูก ตอนนั้นผมเจรียงอยู่ดีดี เสียงดีอย่างนี้นี่แหละ โดนของเข้าก็แหบแห้ง พอดีผมมีบาลีที่พ่อสอนไว้ เสกบาลีแล้วเสียงจึงค่อยกลับมา อีกครั้งผมไปเจรียงที่บ้านน้ำยืน ถูกน้ำมันผู้หญิงจากกัมพูชา วิ่งเป็นลูกขึ้นมาตั้งแต่มือยันแขน ไปหาหลวงพ่อที่ผมเคารพ ท่านบอก ‘เณร ไปเอายาให้เจรียงกิน เป็นแบบนี้จะตายแล้วนี่’ กินแล้วมันสะอึก ขากออกมาเป็นก้อนน้ำมัน หลวงพ่อเอาไปจุดไฟ แสงเป็นสีเขียวเหลือง”

นายศุภนิมิตร ฤาไชยสา เล่าอีกว่า “เชื่อว่าเขตนี้ยังมีอยู่ งานหนึ่ง ปี่พาทย์โหมโรงจบ คนแก่เข้ามาขอดูไม้ระนาด ชมว่าพันไม้สวย ลองตีเหมือนว่าจะตีเป็น ทีนี่พอเราตีบ้างมันยกไม้ไม่ขึ้น ตีไปไม่รอด หรืออย่างคนในวงผมนี่แหละ อยู่ดีดีปวดหัวเวียนหน้า เสียวท้ายทอยไม่รู้สาเหตุ ให้กินยาก็ไม่หาย นี่อาการโดน ผมทำน้ำมนต์แก้ก็หายเป็นปกติ ก่อนไหว้ครูผมต้องสำรวจขันครูทุกครั้ง เอาดอกไม้ออกมาจัด พับผ้าขาวใหม่ เคยเจอกระทั่งตะปูตอกโลงศพเหน็บมากับกรวยครู เขาแกล้งใส่อะไรมาเราจะได้รู้”

นายณรงค์เดช เชื้อเมืองพาน ร่ายยาวต่อให้ฟังว่า “แข่งขันในทางไสยศาสตร์ บางงานขึ้น 2 วง เขาใส่ของไว้ที่บันไดทางขึ้น เราเหยียบเข้าก็โดน ผมเคยสั่นทั้งขึ้นเวที นึกเพลงไม่ออกทั้งๆ ที่แม่นยำ หรือครั้งหนึ่งไปเล่นแถบสุรินทร์ ของส่วย อันนั้นกันไม่ได้จริงๆ แรง เขาเอาน้ำมาให้ดื่ม ผมสีซออยู่ดีดีร้องไห้โฮเลย สีทั้งน้ำหูน้ำตาไหล แต่ก็ต้องเล่นให้เสร็จงาน ส่วนมากทำแล้วปล่อยคืน ไม่ถึงตาย ไอ้นี่มาเหยียบถิ่นกู ลองดูซิเก่งแค่ไหน บางคนมาพูดกับเราด้วยซ้ำ ‘เออ เอ็งมีของดี กูทำมึง ทำไมมึงไม่เป็นอะไร’

“อีกครั้ง มีคนหาผมไปเล่นดนตรีกับเขา อย่ารู้เลยว่าชื่ออะไร ไปถึงผมก็ยกมือไหว้ธรรมดา เขาเห็นผมใส่ปะคำห้อยพระเต็มคอ ลองเลย ทำใส่รองเท้า ผมไม่เห็นหรอก ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาทำใส่ แต่อาจารย์อีกคนบอก ‘มึงอย่าไปเหยียบ กูเห็นมันทำ ถ้าเหยียบขามึงจะเดินไม่ได้’ พอแต่ผมก้มดูใต้หว่างขา รองเท้าเหมือนมีควันไหม้ขึ้นมา วันนั้นกลับบ้านทั้งที่ไม่ได้ใส่รองเท้า ทิ้งเลย ทุกวันนี้ยังเรียกใช้ผมตลอด เพราะลองกันมาแล้วว่าแน่ไม่แน่”

เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า ผู้ที่จะเรียนเป็นครูคนหรือเป็นหัวหน้าวงดนตรี ไม่ว่าวงมโหรีปี่พาทย์เจรียงกันตรึม ทุกคนต้องเรียนรู้วิชาเพื่อป้องกันไสยศาสตร์ได้หากถูกกระทำ ความรู้ความเชื่อจึงถูกถ่ายโอนจากรุ่นสู่รุ่นถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะน้ำมนต์ครูที่ถูกทำขึ้นทุกครั้งพร้อมกับพิธีไหว้ครูก่อนเล่นดนตรี เป็นไปเพื่อคุ้มครองเหล่าศิษย์หรือลูกวงให้แคล้วคลาดจากศาสตร์มืด ดังข้อความบางช่วงบางตอนในคำประกาศน้ำมนต์ครู ฉบับนายเผย ศรีสวาท ที่กล่าวถึงการแก้หรือถอนของอัปมงคล คัดให้อ่านดังนี้

“แก้โคมหิงสาปารมียะ แก้พาชนกและแก้จร แก้กินนรและนนชี มือถือคือตระบองเพชรและหินแลง แก้ทารางทองแดงงาแชงและกงจักร แก้พยนต์ยักษ์สุนัขกระแสงสา แก้คนชัยยาและอาทัน คะนันผีภูติและผีพราย ผีตายโหงและผีตายห่า ผังรูปกลางป่าช้า พินหน้าพินหลัง ให้รักให้ชังในครั้งงัวเงา แก้คุณชะมกกะกะคุณนะจะสัมปอยยะ แก้คุณรีเจ้าสมิงพราย คุณมนต์ คุณดล คุณคนทั้งหลาย ให้ครางครองคึก แก้คุณเทพรำลึกให้นึกรำจิตรำจวนพรวนกายยา แก้ดอกจำปาแก้หมากทะลาย เหินไมไลอันรู้เดินพิลึก สะพรึงกลัวเจ้าภูมินั่งหัว ออมระงับ สิทธิระงับ [7]”

นายเผย ศรีสวาท เล่าเสริมว่า “ปู่ผมแกบวช พอสึกก็ได้วิชานี้ออกมาด้วย ผมเรียนตั้งแต่เด็กๆ แกบอกว่า คาถานี้ใช้ทำน้ำมนต์ หรือจะท่องแล้วเคี้ยวหมากพ่นก็ได้ ตอนนั้นผมไปเล่นเพลงแถวขุขันธ์ ศรีสะเกษ มีคนเข้ามารบกวน ผมเล่นดนตรีอยู่ เขาก็เอาซอมาสีด้วย แกล้งถามโน่นถามนี่ แหย่ให้เราเขวแล้วก็ไป รุ่งขึ้นอีกวัน ผมรอขึ้นรถกลับบ้าน เขาเดินมาแล้วคุกเข่ากราบผมสามครั้ง บอกว่า ‘เขายอมแล้ว’ เข้าใจว่าคงทำอะไรผมไม่ได้ จึงบอกยอม ผมจะท่องคาถานี้ทุกครั้งเวลาออกงานเล่นดนตรี

“นะหลุด โมถอน พุทเคลื่อน ธาคลอน ยะพุทหลุดออก นะกระจัดกระจาย โมเลือมหายสิ้นสุด พุทลุยรุดอรทา ธาคลำคลาน ยะสรรพศัตรูวินาศสันติฯ โบราณไม่มีหมอเหมือนปัจจุบัน เขาใช้คาถานี้แหละสะเดาะคนไข้ ทำน้ำมนต์เสกไล่สิ่งไม่ดี เป่าหัวเด็กที่เป็นไข้ก็ได้ หรือถาคาที่ผมบอก มันมีคำว่าแก้ทั้งนั้น แก้คุณไสยคุณคนต่างๆ เวลาเราไปเล่นดนตรีที่ไหน เป็นการป้องกันและแก้ไปด้วยในตัว”

ว่ากันว่า คุณไสยข้างต้นกระทำได้ด้วยหลายวิธี ไม่ว่าเป็น ใช้คาถาเสกโดยเฉพาะ ใช้ขี้ผึ้งเสกละลายน้ำ หรือใช้ว่านชนิดหนึ่งที่ภาษาเขมรถิ่นไทย เรียก ‘ปะเตียร’ ที่แต่ก่อนปลูกไว้ตามคอกวัวควายหรือไซดักปลาเพื่อกันขโมย เมื่อจะใช้ต้องมีคาถาพิเศษกำกับ หากผู้ใดต้องเคราะห์เหยียบว่านปะเตียรมักร้องไห้หรือโยกตัวโดยควบคุมตนไม่ได้ ฤทธิ์ว่านจะคลายต่อเมื่อผู้กระทำเผลอหัวเราะออกมา นอกจากนี้ ยังมีคาถาเลขยันต์เพื่อสร้างเสน่ห์นิยมแก่นักดนตรี ดังที่นายจุม แสงจันทร์ เล่าเสริมว่า “พ่อผมไปที่ไหนมีแต่คนรักคนเมตตา เขาจะฆ่าก็ฆ่าไม่ได้ ถ้าผู้หญิงมองหน้าตรงๆ อย่างนี้ เดินเข้ามาหาแกโดยไม่รู้ตัว เจรียงแต่ละครั้งคนไม่ลุกหนีก็แล้วกัน”

นายณรงค์เดช เชื้อเมืองพาน คนเดิม เล่าอีกว่า “เคยทำใส่คนอื่นบ้างครับ งานแข่งแกะต้นเทียน รุ่นน้องเจอผมมันไม่ไหว้ไม่เคารพ หมั่นไส้เลยลองดู ทำแล้วเขาก็สั่นทำอะไรไม่เป็น หรือครูผมเคยใช้ตอนไปงานมวย ผมเชียร์แดง แกเชียร์น้ำเงิน มวยแดงรูปร่างสูงใหญ่ แกเดินวนรอบเวที 3 รอบ เอามือไปแตะมวยแดงนิดเดียว ไอ้นั้นขึ้นไปร้องไห้บนเวที ชกไม่ได้ แขนขาอ่อนเลยถูกปรับแพ้ ผมรู้วิชาทั้งป้องกันหรือก็ทำได้บ้าง ยังแก้ไม่ได้ เพราะถ้าแก้ได้นี่เก่ง เป็นครูมะม๊วดเลยล่ะ”

ปรากฏการณ์ความเชื่อที่ได้นำเสนอผ่านปากนักเพลงต่างวัยต่างพื้นที่ อาจอธิบายได้ด้วยแนวคิดทฤษฎีและมุมมองด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ศึกษาเพิ่มเติมได้จากเอกสารงานวิจัยอื่นๆ ดังมีผู้วิเคราะห์วิพากษ์แล้วอย่างกว้างขวางหลายแง่มุม หากพิจารณาในด้านนักวัฒนธรรม นี่อาจเป็นกระบวนการปกป้องวัฒนธรรมไม่ให้กลายหรือเสื่อมสลายทางหนึ่ง ไม่ว่าจะอธิบายโดยยกเหตุผลใดเพื่อความเข้าใจ เสน่ห์ความเชื่อยังคงเปิดพื้นที่ให้ถกเถียงและสร้างสรรค์ถึงความ ‘มี’ ‘ไม่มี’ เสมอ ดัง ‘ผิดครูและอาถรรพ์ความเชื่อในวัฒนธรรมดนตรีอีสานใต้’

อ้างอิง [สัมภาษณ์]
จุม แสงจันทร์. สัมภาษณ์. 14 ตุลาคม 2555.
ณรงค์เดช เชื้อเมืองพาน. สัมภาษณ์. 22 ตุลาคม 2557.
ดัด สังข์ขาว. สัมภาษณ์. 22 พฤศจิกายน 2556.
เผย ศรีสวาท. สัมภาษณ์. 18 เมษายน 2556.
ศุภนิมิตร ฤาไชยสา. สัมภาษณ์. 2 พฤษภาคม 2558.

เชิงอรรถ
[1] เครื่องประกอบพิธีไหว้ครูที่มักพบโดยทั่วไปในวัฒนธรรมดนตรีอีสานใต้ ได้แก่ 1.ตรวยห้า หรือกรวยห้า คือ ใบตองสดม้วนเป็นกรวยเล็กพอประมาณ ลักษณะก้นแหลมปากผายกลม ภายในบรรจุดอกไม้ไม่จำกัดชนิดหรือสี ธูปและเทียน จำนวน 5 กรวย 2.เงินกำนล หรือเงินค่ายกครู 3.ผ้าดิบสีขาว 4.เหล้าขาว 5.บุหรี่ 6.หมากพลู 7.ขันน้ำสำหรับทำน้ำมนต์ ทั้งนี้ไม่ได้มีข้อกำหนดตายตัว ตามแต่สถานการณ์และเหตุปัจจัยเป็นสำคัญ อาจใช้น้ำอัดลมสีและรสต่างๆ ไข่ไก่ ไก่ต้ม ข้าวสุกพร้อมกับข้าว ฯลฯ ไหว้ร่วมได้

[2] คำประกาศน้ำมนต์ครูฉบับเต็มของนายเผย ศรีสวาท อ่านได้จากงานวิจัย เรื่อง การศึกษาการถ่ายทอดความรู้วงมโหรีอีสาน บ้านนายเผย ศรีสวาท จังหวัดสุรินทร์ ของพิชชาณัฐ ตู้จินดา

[3] เจรียง หรือจำเรียง ภาษาเขมรถิ่นไทยแปลว่า ร้อง ใช้ขับลำเรื่องราวในพุทธศาสนา นิทานโบราณ เกี้ยวพาราสี หรือสุภาษิตเตือนใจ ประกอบการเล่นดนตรีในหลายลักษณะ ไม่ว่าเป็นเจรียงซันตรูจ เจรียงกันกรอบกัย เจรียงตรัว เจรียงจรวง เจรียงนอรแก้ว เจรียงปังนา เจรียงเบริน เจรียงตรุษ หรือเจรียงกันตรึม โดยเฉพาะ “เจรียงจับเปย” ที่หมายถึงการขับลำเดี่ยวประกอบการเล่น “จับเปยฎองเวง” หรือพิณกระจับปี่

[4] วงดนตรีงานศพ เครื่องดนตรีประกอบด้วยปี่ ฆ้องใหญ่ ฆ้องราง กลองใหญ่ และผู้ขับร้อง ทุกวันนี้หาฟังสดได้ที่เดียวที่บ้านนายดัด สังข์ขาว บ้านเลขที่ 25 บ.ปอยตะแบง ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์

[5] บายศรีต้นกล้วย ใช้ต้นกล้วยส่วนกึ่งกลางระหว่างลำต้น ขนาดกว้างยาวพอประมาณ ส่วนยอดไม่ติดก้านใบ วางต้นกล้วยในแนวตั้งตรง ใช้ตอกไม้ไผ่เสียบที่ลำต้นเป็นรูปครึ่งวงกลมโดยรอบเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นวางขนมชนิดต่างๆ เช่น ขนมบัว ขนมข้าวแตน ขนมกล้วย ขนมข้าวต้มมัด ข้าวเกรียบ กล้วยสุก เป็นต้น ใช้ลูกมะพร้าวปอกเปลือกโดยให้เหลือเปลือกส่วนใน ตัดแต่งให้สวยงามครอบด้วยใบตองม้วนเป็นกรวยแหลม จากนั้นจึงนำไปวางไว้บนยอดต้นกล้วย ใช้ก้านมะพร้าวเหลาเสียบด้วยข้าวตอก เสียบประดับต้นกล้วยแต่ละชั้นตามสมควร

[6] บายศรีถาด กาบกล้วยตัดเป็นทางขนาดพอประมาณขดเป็นรูปวงกลม นำไม้ไผ่เหลาเป็นแท่งเสียบขัดกันระหว่างกึ่งกลางแล้วนำใบตองปูทับ ด้านข้างใช้ใบตองม้วนเป็นตัวบายศรีเสียบทั้งแปดด้าน ภายในวางด้วยขนมชนิดต่างๆ เช่น ขนมบัว ขนมข้าวแตน ขนมกล้วย ขนมข้าวต้มมัด ข้าวเกรียบ กล้วยสุก เป็นต้น จากนั้นวางกาบกล้วยที่บรรจุขนมทับซ้อนเป็นชั้นๆ จำนวน 5 หรือ 7 ชั้น โดยที่ขนาดแต่ละชั้นลดหลั่นกัน ใช้ใบตองม้วนเป็นกรวยแหลมวางไว้ยอดบนสุด นำชั้นกาบกล้วยวางบนถาดสังกะสีอีกที ใช้ก้านมะพร้าวเหลาเสียบด้วยข้าวตอก เสียบประดับกาบกล้วยแต่ละชั้นตามสมควร

[7] สะกดตัวอักษรตามคำบอกของนายเผย ศรีสวาท

น้ำมนต์ครูถูกทำขึ้นทุกครั้งพร้อมๆ กับพิธีไหว้ครูก่อนเล่นดนตรี เพื่อความสิริมงคลและป้องกันอาถรรพ์จากศาสตร์มืด ในภาพ วงมโหรีคณะนายเผย ศรีสวาท [นายเผย ศรีสวาท ลำดับที่ 4 จากซ้ายมือ] บ.ระไซร์ ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์

น้ำมนต์ครูถูกทำขึ้นทุกครั้งพร้อมๆ กับพิธีไหว้ครูก่อนเล่นดนตรี เพื่อความสิริมงคลและป้องกันอาถรรพ์จากศาสตร์มืด ในภาพ วงมโหรีคณะนายเผย ศรีสวาท [นายเผย ศรีสวาท ลำดับที่ 4 จากซ้ายมือ] บ.ระไซร์ ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์

นายจุม แสงจันทร์ คนขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ยอดนักเจรียงจับเปย คนสำคัญเพียงคนเดียวในประเทศขณะนี้ บรรจุเถ้าอัฐินายเจียม แสงจันทร์ [บิดา] ลงในจับเปยฎองเวง พิณกระจับปี่คู่มือ [คันในภาพ]

นายจุม แสงจันทร์ คนขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ยอดนักเจรียงจับเปย คนสำคัญเพียงคนเดียวในประเทศขณะนี้ บรรจุเถ้าอัฐินายเจียม แสงจันทร์ [บิดา] ลงในจับเปยฎองเวง พิณกระจับปี่คู่มือ [คันในภาพ]

นายศุภนิมิตร ฤาไชยสา นักปี่พาทย์พื้นบ้าน บ.หนองไทร อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ สำรวจขันครูทุกครั้งก่อนทำพิธีไหว้ครู เพราะครั้งหนึ่งเคยพบตะปูตอกโลงศพเหน็บมากับกรวยใบตองดอกไม้ [กันต์ อัศวเสนา: บันทึกภาพ]

นายศุภนิมิตร ฤาไชยสา นักปี่พาทย์พื้นบ้าน บ.หนองไทร อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ สำรวจขันครูทุกครั้งก่อนทำพิธีไหว้ครู เพราะครั้งหนึ่งเคยพบตะปูตอกโลงศพเหน็บมากับกรวยใบตองดอกไม้

นายณรงค์เดช เชื้อเมืองพาน คนประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ หมอเพลงรุ่นใหม่ มีความรู้และประสบการณ์ ‘กระทำ’ และ ‘ป้องกัน’ ความเชื่ออาถรรพ์ แต่ยังไม่สามารถ ‘แก้’ ไสยศาสตร์มนต์ดำได้ เพราะหากแก้ได้จะถูกยกเป็นครูมะม๊วด?

นายณรงค์เดช เชื้อเมืองพาน คนประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ หมอเพลงรุ่นใหม่ มีความรู้และประสบการณ์ ‘กระทำ’ และ ‘ป้องกัน’ ความเชื่ออาถรรพ์ แต่ยังไม่สามารถ ‘แก้’ ไสยศาสตร์มนต์ดำได้ เพราะหากแก้ได้จะถูกยกเป็นครูมะม๊วด?

Comment

  1. ศรัญญา ศิริโชติ says:

    ตาราช คือตาหนูเองคะ อาจารย์ศุภนิมิตร หนูก็เคยเป็นศิษย์ท่าน ช่วงหนึ่ง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *