อนุรักษ์ บุญแจะ The Dean of College of Music Bansomdejchaopraya Rajabhat University

‘อนุรักษ์ บุญแจะ’
The Dean of College of Music,
Bansomdejchaopraya Rajabhat University
เรื่อง: พิชชาณัฐ ตู้จินดา
ภาพ: กันต์ อัศวเสนา

ปี 2513 วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จัดการเรียนการสอนดนตรีในระดับอุดมศึกษา ก้าวแรกและก้าวสำคัญต่อการพัฒนาวิชาชีพดนตรีในรั้วสถาบันการศึกษาไทย ปี 2558 มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สร้างปรากฏการณ์อีกครั้ง ด้วยการเปิด ‘วิทยาลัยการดนตรี’ สถาบันดนตรีเทียบเท่าคณะแห่งแรกและแห่งเดียวในมหาวิทยาลัยราชภัฏขณะนี้

‘อนุรักษ์ บุญแจะ’ คือเบื้องหลังผู้หนึ่งที่ร่วมผลักดันความสำเร็จนั้น ณ วันนี้เขาทำหน้าที่เบื้องหน้าในฐานะคณบดีคนแรกของวิทยาลัยดนตรี พิสูจน์บทบาทผู้บริหารในตำแหน่งประธานสาขาวิชาดนตรีตะวันตกมาแล้วนานถึง 11 ปี

เขาเผยว่า ต้นแบบชีวิตการทำงาน คือรุ่นพี่ร่วมสถาบันที่ประสบความสำเร็จก่อนหน้า คนหนึ่งเป็นคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข เจ้าของประโยค ‘ไม่รู้แล้วชี้’ หรือ ‘สายตาสั้นเป็นโรคของผู้บริหารส่วนใหญ่’ [ที่หมายถึงไม่มีวิสัยทัศน์] และคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี

ภายใต้ความเงียบขรึมและบุคลิกสุขุม บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะบอกคุณว่า ด้วยประสบการณ์รู้เห็นความเปลี่ยนแปลงภายในมากว่า 19 ปี เขาจึงเป็นผู้หนึ่งที่ ‘รู้แล้วชี้’ และมี ‘สายตาไกล’ ในการบริหารจัดการอย่างเข้าอกเข้าใจองค์กร ระบบ และคนทำงาน

……………………………………

บ้านสมเด็จฯ จัดการเรียนการสอนดนตรีในระดับอุดมศึกษา ตั้งแต่ พ.ศ. 2513 ช่วงเวลาห่างจากปัจจุบันถึง 45 ปี ถามว่า วิทยาลัยดนตรีเกิดขึ้นที่นี่วันนี้ช้าไปหรือเปล่า

ช้าไป เพราะถ้าพูดถึงดนตรีในวิทยาลัยครู บ้านสมเด็จฯ มีการพัฒนามาโดยตลอด ผมมองว่าเรื่องดนตรีเราปรับตัวทันกระแสโลก แต่ที่ไม่ปรับเลยคือระบบ ระบบในกรมการฝึกหัดครู เราไม่สามารถขยายอะไรขึ้นมาได้ เพราะขีดกำจัดการบริหารงานทำให้การจัดตั้งหน่วยงานเป็นระบบคณะค่อนข้างยาก สมัยหนึ่ง รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข กลับจากต่างประเทศใหม่ๆ ท่านก็อยากทำเรื่องนี้ที่บ้านสมเด็จฯ แต่ทำไม่ได้ เพราะติดปัญหาที่ระบบ

เรามีความพร้อมแล้วก็ตื่นตัวที่จะทำมาโดยตลอด จากที่เปิดมา 45 ปี เหมือนสั่งสมประสบการณ์ สั่งสมขบวนการมาทั้งหมด เหมือนกับว่าเราเตรียมตัวเพื่อที่จะโตในวันนี้ ไม่ได้อยู่เฉยเพื่อรอเวลา เมื่อแยกตัวออกมาเป็นวิทยาลัย เราจึงไม่สะดุดตรงที่เราต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่

ในอดีต อาจารย์สงัด ภูเขาทอง หรืออาจารย์วาสิษฐ์ จรัณยานนท์ เคยปรารภหรือทราบเจตนารมณ์ท่านทั้งสองในเรื่องนี้หรือเปล่า

อาจารย์วาสิษฐ์เคยพูดตั้งแต่ผมเรียนว่า เราควรต้องขึ้นไปเป็นคณะๆ หนึ่ง พูดง่ายๆ ว่าเป็นคณะดนตรีหรือโรงเรียนดนตรีที่เป็น College of Music ท่านบอกว่าตอนนี้ยังทำไม่ได้ แต่ในอนาคตควรจะต้องทำให้ได้ ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าท่านคิดอย่างไรกับการพัฒนาดนตรีในบ้านสมเด็จฯ ส่วนตัวไม่เคยได้ยินอาจารย์สงัดพูดถึงการเป็นวิทยาลัยดนตรี แต่อาจารย์พูดเสมอว่า เราต้องพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ นักศึกษาที่ใกล้ชิดกับอาจารย์จะเห็นว่า อาจารย์สร้างสิ่งใหม่ๆ ในวงการการศึกษาดนตรีอยู่ตลอด สมัยนั้นอะไรก็แล้วแต่ที่ใครบอกว่าทำไม่ได้ พวกบ้านสมเด็จฯ บอกว่าทำได้ นั่นคืออาจารย์สงัด ภูเขาทอง

เสียงตอบรับจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอื่นๆ เป็นอย่างไรบ้าง

พูดคำเดียวว่าดี เข้าใจได้ไม่ยากว่าที่เขาพูดว่าดีเพราะอะไร ทุกคนคิดแบบเดียวกัน เมื่อออกมาเป็นคณะความเป็นอิสระทางวิชาการมันก็จะเกิดขึ้น ทำให้เราได้ทำงานดนตรีอย่างที่ควรจะเป็น เพราะดนตรีในสังคมมหาวิทยาลัยราชภัฏ เวลาคุยกันเราจะคุยกันเรื่องนี้ ไม่มีเงิน ไม่มีคน ไม่มีเครื่องดนตรี ปีนี้ไม่ได้อัตรา ที่แย่และหนักที่สุดคือ ไม่มีเด็กเลย เพราะฉะนั้นการที่บ้านสมเด็จฯ ตั้งวิทยาลัยดนตรีแยกตัวออกมาเป็นอิสระ ถือเป็นนิมิตรหมายใหม่ของสังคมมหาวิทยาลัยราชภัฏ ไม่แน่ใจว่า มันจะกลายเป็นชนวนให้เกิดกบฏขึ้นมาในอีกหลายๆ ที่หรือเปล่า

เป็นความอัดอั้นตันใจอย่างหนึ่งใช่ไหมครับ

แน่นอน นี่คือความอัดอั้นตันใจ เพราะทุกที่มีลักษณะปัญหาคล้ายกัน แต่ปัญหาแต่ละที่ต่างกัน บางที่ให้เงินไปแล้วทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีเด็ก บางที่มีเด็กเยอะมากแต่ไม่มีเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ใช่แค่บ้านสมเด็จฯ แห่งเดียว มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งปรับสถานะเป็นนิติบุคคลแล้ว มีอิสระในการบริหารจัดการภายใน ในความคิดของผม มหาวิทยาลัยราชภัฏแต่ละแห่งควรพิจารณาปัญหาตัวเองพร้อมทางออก บ้านสมเด็จฯ เคยมีปัญหา แล้วก็ยังมีปัญหาอยู่ แต่ว่าปัญหาอาจจะคนละเรื่องกับที่อื่นๆ

ปัญหาหรืออุปสรรคของธรรมชาติวิชาดนตรีที่อยู่ในระบบมหาวิทยาลัยราชภัฏคืออะไร

ปัญหาแรกคือค่าใช้จ่ายสูง เวลาที่เรานำปัญหาดนตรีไปคุยกับคนอื่นๆ มักจะได้รับการเมินหน้าหนี คนอื่นเขาคุยทีละสองหมื่นสามหมื่น แต่ดนตรีต้องคุยทีละล้านสองล้าน ฉะนั้นทุกคนเมินหน้าหนีหมด เรื่องงบประมาณของมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นปัญหามาโดยตลอด อย่างที่พูดไปแล้วว่า เมื่อยกสถานะเป็นนิติบุคคล บริหารจัดการเองได้แล้ว แต่ละมหาวิทยาลัยราชภัฏมีเงินเก็บ มีรายได้เข้ามา มหาวิทยาลัยราชภัฏควรเหลียวแลวิชาชีพเหล่านี้ ไม่ใช่เฉพาะแต่ดนตรี วิชาชีพอื่นๆ ที่เป็นเทคนิคเฉพาะด้านด้วย เพราะถ้าไม่มีความพร้อมเราจะพัฒนาคนไม่ได้

สอง เรื่องอัตรากำลัง ดนตรีไม่ใช่แค่คนเดียวแล้วจะสอนได้ทุกอย่าง ทุกชิ้น ทุกเครื่อง ฉะนั้นปัจจุบันวิทยาลัยจึงมีอาจารย์พิเศษมากกว่าสามสิบคน เพราะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน คนอื่นเขาอาจขอภาพรวมแค่ 5 คน แต่ของเรารวมๆ แล้วต้อง 30 คนขึ้นไป แต่ถามว่าบริหารจัดการได้ไหม บริหารจัดการได้ อย่างที่เป็นมาโดยตลอดในระยะเวลา 10 ปี เราแก้ปัญหาเรื่องเด็กล้น ห้องไม่พอ เครื่องดนตรีไม่พอ วันหนึ่งๆ ทุกๆ วันจึงหมดไปกับการแก้ปัญหา ไม่มีเวลามานั่งพัฒนาเรื่องอื่น อันนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากระบบ

ผลสืบเนื่องอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงมีอะไรอีกบ้าง

เรื่องห้องเรียนกับอุปกรณ์ที่ได้มาคนละช่วงเวลา เช่นอุปกรณ์บันทึกเสียง เราได้มาเมื่อปี 45 ชุดใหญ่ แต่ปัจจุบันเราเพิ่งปรับปรุงห้องบันทึกเสียงใหม่เสร็จ ปรากฏว่าระยะเวลาห่างกัน 13 ปี เครื่องมันโทรมไปแล้ว ต้องหาเครื่องใหม่มาเปลี่ยน โอเคว่าเราได้งบประมาณครั้งนี้มาทั้งหมด รอเปลี่ยนอุปกรณ์บันทึกเสียงชุดใหม่เท่านั้น

แต่อุปกรณ์สนับสนุนการเรียนการสอน โปรเจคเตอร์ สารพัดที่เป็นวัสดุ ถามว่าพอไหม เอาเป็นว่าตอนนี้วัสดุมากกว่าห้อง ที่เราขาดก็คือห้องเรียนที่จะใส่วัสดุพวกนี้ ที่ตั้งไว้ว่าห้องเรียนควรจะมีเปียโนกี่หลัง เครื่องเสียงกี่ชุด เปียโนมาแล้ว เครื่องเสียงมาแล้ว แต่ขาดห้อง เรายังติดใช้พื้นที่ร่วมกับคนอื่นๆ ต้องรอว่าเมื่อไหร่จะได้พื้นที่เหล่านั้นคืนมา เมื่อได้มาแล้วของพวกนี้ก็จะเก่า เทคโนโลยีอาจตกรุ่นไปแล้ว

ระบบงานที่เป็นระบบราชการ ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งฉุดรั้งความก้าวหน้า ขั้นตอนหรือระเบียบการต่างๆ ผมถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมีอิสระในทางวิชาการ ขั้นตอนเหล่านี้ควรลดหรือข้ามไปให้ได้ อย่างเช่นในขณะนี้ ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบบางเรื่องยังอุตส่าห์ดึงเรื่องพวกนี้มาเป็นตัวถ่วงอีก หลายเรื่องที่ไม่ปรับให้ทันยุคทันสมัย เริ่มมองเห็นแล้วว่าเรื่องเหล่านั้นกำลังจะทำให้องค์กรดิ่งลง

พอใจมากน้อยขนาดไหนกับโอกาสที่ได้รับจากมหาวิทยาลัย

เมื่อสภามหาวิทยาลัยอนุมัติตั้งเป็นวิทยาลัยดนตรี เขาก็อนุมัติงบประมาณมาให้ก้อนหนึ่ง ถามว่ามากขนาดไหน ถ้ามองในภาพการเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏก็ต้องบอกว่ามากนะ ก้อนใหญ่พอสมควร แต่ถ้ามองในแง่การเป็นวิทยาลัยดนตรีที่ควรต้องเท่าเทียมกับที่อื่นๆ มันก็ไม่ได้มากเท่าที่ควร เป็นความจำเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น

ถามว่าพอใจไหม ต้องบอกว่าเป็นเรื่องดี ที่สภามหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยเปิดโอกาสให้เราได้พัฒนาสาขาวิชาชีพดนตรี ตอนนี้มหาวิทยาลัยกำหนดให้ดนตรีเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของมหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งเราต้องทำกลยุทธ์นี้ให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งตอนนี้ยังอาจเห็นภาพไม่ชัด แต่อนาคตเห็นแล้วว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

ภาพอนาคตวิทยาลัยดนตรีแห่งนี้ควรเป็นอย่างไร

เมื่อจัดตั้งวิทยาลัยช้า สิ่งที่ต้องได้รับการพัฒนามาแต่เดิมก็ช้าไปด้วย เช่น อาคารสถานที่ อุปกรณ์หรือเครื่องดนตรีต่างๆ แม้กระทั่งครูอาจารย์ เราต้องมาจัดการเรื่องพวกนี้ก่อน 5 ปีแรกนับตั้งแต่นี้ควรเป็นการพัฒนาภายในองค์กรทั้งหมด คน สถานที่ ห้องเรียน อุปกรณ์ เครื่องดนตรี งบประมาณ 5 ปีต่อไปถึงจะพัฒนาองค์กรให้เทียบเท่าวิทยาลัยดนตรีอื่นๆ ในประเทศ แล้วใน 5 ปีสุดท้าย ระยะที่ 3 เราจะพัฒนาไปสู่สังคมโลก ติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาเซียน กลุ่มยุโรปหรืออเมริกา

ภาพรวมของวิทยาลัยควรมาจากการสร้างมาตรฐาน มาตรฐานคณาจารย์ มาตรฐานการเรียนการสอน มาตรฐานผู้เรียน มาตรฐานหลักสูตร เพื่อเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพ ซึ่งคุณภาพจะสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างการยอมรับจากสังคมทั้งภายในและต่างประเทศ ผมมองว่าระยะเวลา 15 ปีที่ตั้งไว้บางทีอาจจะเป็นไปได้เร็วกว่านั้น

คุณภาพที่พูดถึง จะสร้างให้เทียบเท่าวิทยาลัยดนตรีอื่นๆ ในประเทศได้อย่างไร

แน่นอนว่าขบวนการเรียนการสอนดนตรีมันอยู่ในวิถีเดียวกัน แต่จุดเด่นของแต่ละที่ต่างกัน เช่นที่มหาวิทยาลัยมหิดลเด่นเรื่องวงออร์เคสตร้า มีวงดนตรีระดับอาชีพอยู่ในวิทยาลัย มหาลัยวิทยาลัยรังสิต ดนตรีแจ๊สหรือเรื่องเทคโนโลยีดนตรีสมัยใหม่ของเขาก็ค่อนข้างมีชื่อเสียง

ต้องบอกว่าบ้านสมเด็จฯ มีเอกลักษณ์เรื่องวงโยธวาทิตมานาน มีวงดนตรีปี่พาทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงปี่พาทย์ไม้แข็ง เด็กๆ จากบ้านปี่พาทย์ต่างๆ ก็จะเข้ามาเรียนที่นี่ ทำให้ 2 วงนี้ของเราค่อนข้างแข็งแกร่ง ซึ่งเหมือนเป็นเอกลักษณ์ของบ้านสมเด็จฯ การเรียนการสอนจนถึงปัจจุบันจะเห็นว่า เมื่อจัดตั้งเป็นวิทยาลัยดนตรีแล้ว วงเครื่องเป่าของเราก็ยังแข็งแรงอยู่ หรือแม้แต่วงปี่พาทย์ไม้แข็งก็ยังแข็งแรง ซึ่งมีการพัฒนาต่อเนื่องกันมานาน ถึงแม้ว่าจะปรับรูปแบบที่ต่างจากเดิมไปบ้าง

จำนวนนักศึกษามีผลต่อการพัฒนาคุณภาพหรือเปล่า วิทยาลัยมีนโยบายรับนักศึกษาเข้าใหม่ในอนาคตอย่างไร

คุยกันแล้วว่าต้องเปลี่ยน เปลี่ยนคือเรื่องวิธีการรับและจำนวนการรับนักศึกษาเพราะผูกโยงกันอยู่ เนื่องจากที่เคยปฏิบัติมาตามนโยบายมหาวิทยาลัยสมัยก่อนๆ เราต้องรับทั้งหมด ปัญหาจึงตามมามาก จำนวนอาจารย์ไม่พอ จำนวนห้องเรียนไม่พอ หนึ่งนะครับ สอง วิธีการสอบคัดคุณภาพคน มหาวิทยาลัยบอกว่า ไม่ให้มีการสอบ แต่ผมบอกว่าไม่ได้ ต้องสอบ ไม่ได้สอบคัดออก แต่สอบเพื่อวัดเกณฑ์ระดับความรู้เพื่อจัดกลุ่มความสามารถ ผมก็สอบมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 48

พอเป็นวิทยาลัย การที่จะผลิตเด็กให้มีคุณภาพ เด็กที่เข้ามาต้องมีคุณภาพเข้ามาก่อน ไม่ใช่เด็กที่ไม่รู้เรื่องดนตรีเลย ต้องสอบผ่านเกณฑ์ที่เรากำหนด แล้วถึงมาดูเรื่องจำนวน แต่จำนวนขณะนี้ลดลงไปมาก เด็กที่ออกกลางคันก็มีจำนวนน้อยลงเช่นกัน แสดงว่าคนที่เข้ามาเรียนเริ่มมีคุณภาพ มีความพร้อมในการเรียนดนตรีมากขึ้น

ด้วยความเป็นวิทยาลัยครูมาก่อน เราเก็บค่าหน่วยกิจไม่สูงมาก เพราะยังอยู่ในกรอบระเบียบของมหาวิทยาลัย ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อเด็กในกลุ่มอาชีพดนตรี ทั้งที่มาจากบ้านปี่พาทย์หรือนักดนตรีอาชีพ พูดกันจริงๆ อาชีพดนตรีเป็นอาชีพที่ไม่หรูหราฟุ่มเฟือย หรือได้รายได้ดีเหมือนเมื่อก่อน ทำให้เราได้เด็กในกลุ่มนี้มามากพอสมควร

มองว่า วิทยาลัยดนตรีควรมีบทบาทต่อสังคมอย่างไร

ผมมองว่าดนตรีต้องออกไปรับใช้สังคม ขณะที่สังคมเราป่วยกันทางจิตมากๆ เราต้องอาศัยดนตรีเป็นตัวช่วย วิทยาลัยดนตรีแต่ละแห่งมองแต่เรื่องผลิตบุคลากรดนตรี มากกว่าที่จะมองในเรื่องช่วยเหลือสังคม สังคมเขาต้องการอะไร สังคมส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่สังคมคนฟังดนตรี เพราะถ้าสังคมคนฟังดนตรีเขาก็จะต้องการเห็นนักดนตรีดีๆ ต้องการฟังเสียงดนตรีเพราะๆ วิทยาลัยดนตรีไม่ใช่แค่เพียงสร้างนักดนตรีที่ดี ไม่ใช่แค่การออกไปทำค่ายอาสาดนตรี แต่ต้องครอบคลุมช่วยเหลือจิตใจคนในสังคม จุดนี้ที่เรามองข้ามไป

แสดงว่าเราผลิตนักดนตรีเพื่อรับใช้สังคมดนตรีเพียงอย่างเดียว แล้วความเป็นจริงตลาดดนตรีในประเทศยังต้องการคนอีกมากน้อยแค่ไหน

ตลาดดนตรียังต้องการคนอีกมาก แต่พอพูดถึงวิชาดนตรีคนมักนึกถึงแต่การเป็นนักดนตรี บางแขนงวิชาเข้ามาแล้วผมบอกว่า ลืมไปเลยกับการที่คุณจะต้องเป็นนักดนตรี คุณเอาความเป็นนักดนตรีถอดทิ้งไว้หน้าห้อง ผมไม่ได้ต้องการสอนให้คุณเป็นนักดนตรี รู้ไหมว่าปัจจุบันทั่วประเทศมีนักเรียนดนตรีแสนกว่าคน แสนกว่าคนจบไปประมาณปีละสองหมื่นกว่าคน ทุกคนต้องการเป็นนักดนตรี มันจะเอาตลาดที่ไหนมารองรับ

ง่ายๆ นะครับ สถานีโทรทัศน์ดิจิตอลทีวีปัจจุบันมีเพิ่มไม่รู้กี่ช่อง คุณได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ เพราะคุณเรียนดนตรีมาโดยตรง ทำไมไม่ใช้จุดนี้ให้เป็นประโยชน์ ประเด็นอยู่ที่คุณจะใช้ดนตรีไปหางานอะไรทำมากกว่า แต่ถ้าถามว่าแรงงานดนตรีโดยตรงล่ะ ยกตัวอย่าง วิทยาลัยเราเป็นแห่งเดียวที่เปิดแขนงวิชาโยธวาทิตโดยเฉพาะ จบไปแล้วมีงานทำทั้งนั้น ทั้งอิสระทั้งประจำ ถือว่าตลาดตอนนี้ยังดีอยู่มากๆ

เป็นหลักสูตรเดียวในระดับปริญญาตรีที่เปิดแขนงวิชาดนตรีวิทยาด้วย

เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาไปสู่ระดับบัณฑิตศึกษา ถามว่าได้รับความสนใจเท่าที่ควรไหม วิชานี้ไม่ได้รับความสนใจจากผู้เรียนเท่าไหร่ อย่างที่พูดไปแล้วว่าทุกคนมุ่งแต่จะเป็นนักดนตรีอย่างเดียว ไม่ได้มองถึงงานวิจัยดนตรีหรือการเรียนรู้ดนตรีที่มากกว่าที่ตนรู้ แต่อย่างน้อยยังมีสถาบันที่รองรับนักศึกษาของเราไปฝึกงานทุกปี คือสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ถือว่าโอเค เราประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แม้ว่างานวิจัยหรือบทความด้านดนตรียังไม่มากหรือเข้มข้นเท่าระดับบัณฑิตศึกษาก็ตาม

นอกจากอาจารย์พิเศษคนไทยกว่าสามสิบคน วิทยาลัยกำลังรับอาจารย์พิเศษชาวต่างชาติด้วย

โครงการรับอาจารย์ชาวต่างชาติเป็นความตั้งใจมานานแล้ว โดยเฉพาะวิชาดนตรีตะวันตก คุณจะเข้าใจดนตรีของเขาได้ก็ต่อเมื่อคุณเรียนกับคนที่เขาอยู่ในสังคมนั้นจริงๆ เราเองก็มีอาจารย์สอนดนตรีตะวันตก ศักยภาพเท่ากัน แต่สิ่งหนึ่งที่อาจารย์เราให้ไม่ได้คือโลกทัศน์ความเป็นตะวันตก เพราะส่วนใหญ่จบในประเทศ โลกทัศน์ความเป็นสังคมดนตรีโลกจึงน้อยไป ทั้งสองท่านไม่ใช่เชื้อชาติตะวันตกแท้ๆ แต่เรียนแล้วก็อยู่ในสังคมดนตรีตะวันตกมานาน อาจารย์เปียโน ชาวเกาหลี ปริญญาโทจบคอมโพซิชั่นจากอเมริกา ปริญญาเอกที่อเมริกา อีกท่านมาจากประเทศมาเลเซีย กำลังจบปริญญาเอกมิวสิคดราม่าจากอังกฤษ มองว่าทั้งสองท่านจะช่วยเราได้มาก

ที่ผ่านมานักศึกษาดนตรีบ้านสมเด็จฯ มีผลงานหรือสร้างชื่อเสียงในสังคมดนตรีมากน้อยแค่ไหน

นักศึกษาที่สร้างชื่อเสียงมีมาโดยตลอด ทั้งที่กำลังเรียนอยู่แล้วก็จบออกไป แต่บางช่วงบางเวลาเราขาดการบันทึก บันทึกว่าคนนั้นคนนี้เขาไปทำอะไร อย่างดนตรีตะวันตกมีหลายคนที่อยู่ในแวดวงดนตรีระดับอาชีพ วงดนตรีเเบ็คอัพ เช่น จารุวัฒน์ ขันธวุฒิ [จุฟ] เล่นเปียโน มือแบ็คอัพวงสิงห์

แม้กระทั่งรุ่นใหญ่ อย่างอาจารย์เรืองยศ พิมพ์ทอง นักเรียบเรียงเสียงประสานที่มีชื่อเสียงในเวลานี้ หรือนักดนตรีรุ่นหลังที่เพิ่งจบไป เช่น กานต์ โปเตโต้ ดนตรีไทยมีหลายคนที่ไปเล่นดนตรีให้กับคนที่มีชื่อเสียง อย่างเช่น เบียร์ [เกรียงไกร วรีวัฒน์] คนเครื่องหนังวงกอไผ่ น่าเสียดายว่าเรามีทรัพยากรบุคคลน้อย การจดบันทึกหรือทำสถิติข้อมูลอาจขาดหายไปบ้าง แต่เป็นอันรู้กันในแวดวงดนตรี

กดดันหรือเปล่ากับการเป็นคณบดีคนแรก

กดดันครับ เพราะอาจารย์ทุกท่านที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มแรกบริหารงานในภาควิชาหรือสาขาวิชา ท่านวางรากฐานแล้วก็บริหารจัดการมาเป็นอย่างดี ทำอย่างไรให้ดีเท่าที่อาจารย์ทำไว้ สังคมเคยยอมรับบ้านสมเด็จฯ อย่างไร ปัจจุบันต้องยอมรับบ้านสมเด็จฯ อย่างนั้น ถ้าดีขึ้นกว่าเดิมก็ถือว่าเป็นกำไรชีวิตของผม แต่สิ่งที่ไม่กดดันเลยก็คือ ดีใจมากๆ ที่คณาจารย์ในวิทยาลัยพร้อมที่จะพัฒนาวิทยาลัยไปพร้อมกัน พอเห็นตรงนี้แล้วความกดดันก็ลดน้อยลง

นอกจากกดดันแล้วมีความทุกข์หรือเปล่า

ความทุกข์คือทำอย่างไรให้คนในวิทยาลัยมีความสุข ผมยังคิดตามอาจารย์สุกรี เจริญสุข ว่า คุณจะมีความสุขในการเรียนดนตรี ก็ต่อเมื่อสภาพแวดล้อมหรือบรรยากาศเอื้ออำนวย เพื่อกระตุ้นแรงขับในการฝึกซ้อมหรือการเรียนรู้ กับอาจารย์หรือบุคลากรฝ่ายสนับสนุน ทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่าเขาอยากทำงาน ไม่ใช่ทำเพราะต้องทำ คุณมีความสุขไหมเวลาที่คุณจะทำอะไร ถ้าเขามีความสุข เขาก็จะอยู่เย็นๆ เกิน 6 โมง 1 ทุ่ม ทำอะไรของเขาไปเรื่อย ผมจึงไม่บังคับใครทำงาน

เรื่องอาคารสถานที่ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ทำอย่างไรเราถึงจะได้สถานที่ที่เติมเต็มกับความต้องการเดิม เพื่อสนองตอบต่อการเรียนรู้ในทุกเรื่องของผู้เรียน ห้องดูหนังฟังเพลง ห้องสมุด ห้องเรียนทฤษฏี ห้องเรียนปฏิบัติเดี่ยวหรือรวมวง ตอนนี้วิทยาลัยกำลังปรับปรุงห้องประชุมชั้น 16 ให้เป็นหอแสดงดนตรีขนาดย่อม ปรับเวที พื้น เก้าอี้ หลังคา ห้องควบคุม ทางเดิน เครื่องเสียง ไฟ บรรยากาศโดยรอบ โดยเฉพาะปรับดาดฟ้าชั้น 17 เป็นสวนเล็กๆ เผื่อใครอยากจัดงานที่จุคนได้ไม่เกิน 20 คน มีค็อกเทล มีวงดนตรีเล็กๆ ดูตึก ดูแม่น้ำเจ้าพระยา ดูบรรยากาศกรุงเทพฯ ตอนค่ำ เบ็ดเสร็จคำนวณงบประมาณประมาณ 18 ล้านบาท

บทบาทเปลี่ยนไปมากน้อยขนาดไหนเมื่อได้รับตำแหน่งคณบดี

เปลี่ยนแน่ๆ เพราะตอนเป็นประธานสาขาฯ ผมไม่ต้องคุยกับใคร คือคุยกับคนในสาขาฯ ตัวเอง ระดับคณะเราคุยกับเขา เขาก็คุยกับเราไม่รู้เรื่อง เพราะเขาไม่รู้เรื่องดนตรี ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องคุยกับใคร เราก็ทำงานของเราอย่างเดียว แต่พอขึ้นมาเป็นคณบดีเราต้องคุยกับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ต้องคุยว่าขณะนี้มหาวิทยาลัยต้องการอะไร มีกลยุทธ์อย่างไร มีแผนการดำเนินงานอย่างไร ซึ่งต้องปรับตามกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยไปในรูปแบบไหน แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนเลยก็คือยังต้องทำงานบริหารอยู่

ผมทำงานง่ายๆ สบายๆ แต่ถ้าเวลาเร็วแล้วต้องเร็ว คือบอกแล้วต้องควรเห็นภาพเลยว่าจะเป็นอย่างไร ไม่จำเป็นต้องประชุมมาก เสียเวลา ประสบการณ์ที่ผ่านมาอาจารย์ดนตรีชั่วโมงสอนแน่นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเรียกประชุมบ่อยๆ จะกระทบกระเทือน หาเวลาที่ว่างตรงกันลำบาก ผมใช้วิธีแจ้งกับคนกลุ่มเล็กแล้วไปขยายความ ที่เรียกประชุมประจำตอนนี้ คือประชุมคณะกรรมการบริหารวิทยาลัย คณบดี รองคณบดี ผู้ช่วยคณบดี หัวหน้าภาควิชา ยกเว้นมีเรื่องสำคัญจึงจะแจ้งให้ทราบพร้อมกัน

โครงการสำคัญที่วิทยาลัยกำลังดำเนินการอยู่

ทั้งดนตรีไทยและดนตรีตะวันตกเรามีกิจกรรมค่อนข้างมาก เช่นวันที่ 19 มกราคม งานวันคล้ายวันพิราลัยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ [ช่วง บุนนาค] เนื่องจากเป็นช่วงที่กำลังเชิดชูสมเด็จเจ้าพระยาฯ เพื่อดำเนินการให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก มหาวิทยาลัยขอให้เราจัดการประกวดวงโยธวาทิต ชิงถ้วยสมเด็จพระเทพรัตน์ เพื่อดึงนักเรียนมัธยมจากที่ต่างๆ ให้เข้ามาสัมผัสความเป็นอยู่ของมหาวิทยาลัย ผลตอบรับดีมาก มหาวิทยาลัยก็ชอบ เพราะมีทั้งนักเรียน ครูอาจารย์ พ่อแม่ผู้ปกครองเข้ามามาก ดนตรีไทยมีการประกวดวงเครื่องสายผสมวงปี่พาทย์ไม้นวม เพลงพระอาทิตย์ชิงดวง ชิงถ้วยสมเด็จพระเทพรัตน์เหมือนกัน เราถือว่าเป็นกิจกรรมหลักไปแล้ว จนคนพูดติดปากว่าถ้วยบ้านสมเด็จฯ

โครงการสำคัญกับสังคมภายนอกล่ะครับ

วิทยาลัยมีความร่วมมือกับโรงเรียนในประเทศสิงคโปร์ เรานำนักศึกษาไปติวคอร์สสั้นๆ ให้กับเด็กมัธยมที่นั่น เพื่อแข่งขันในประเทศของเขา ทำต่อเนื่องกันมา 3 ปี ปีที่ 2 เขาได้รับรางวัลรองชนะเลิศแข่งขันวงโยธวาทิต ปรากฏว่าเด็กของเขาเล่นดนตรีได้ดีขึ้น ในขณะที่เด็กของเราก็พูดภาษาอังกฤษได้ดีขึ้นมากเช่นกัน มองว่าได้ประโยชน์หลายทาง โครงการลักษณะนี้จะเริ่มขยายออกไปในกลุ่มประเทศ AEC เป็นไปได้เราจะรับนักเรียนบางส่วนเหล่านั้นเข้ามาเรียนที่วิทยาลัยด้วย

ฝั่งของดนตรีไทย ผมมองว่าสิ่งที่ควรต้องพัฒนากับสิ่งที่ควรจะเป็นในอนาคต คือทำอย่างไรดนตรีไทยถึงจะแพร่หลายออกไป ทีนี่ถามว่าเวลาไปต่างประเทศเราจะเอาอะไรไปแสดง แน่ๆ คือเอาความเป็นไทยไป แต่ถามว่าฝรั่งเข้าใจไหม ฝรั่งไม่เข้าใจ คือทำอย่างไรให้ฝรั่งเข้าใจดนตรีไทยได้ง่ายๆ อาจเป็นดนตรีไทยที่ปรับปรุงแล้วเป็นต้น มองว่าทิศทางพัฒนาดนตรีไทยในอนาคตควรเป็นลักษณะนี้

นโยบายเชิงรุกอื่นๆ ล่ะครับ

ตอนนี้คงเร็วเกินไปที่จะอธิบายอะไรเกี่ยวกับทิศทางวิทยาลัย ทิศทางที่ตั้งไว้เบื้องต้น ว่าวิทยาลัยจะทำอะไร สร้างมาตรฐานตามแบบบ้านสมเด็จฯ สร้างคุณภาพคนดนตรี เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม เราพยายามทำ 3 เรื่องนี้ให้เห็นภาพชัดเจนก่อน พูดง่ายๆ ว่าขอปัดกวาดบ้านตัวเองก่อนนะครับ ถ้าบ้านตัวเองไม่เรียบร้อยมันก็ไม่สนับสนุนความคิดตรงนั้น จัดบ้านให้เรียบร้อยเข้าที่เข้าทางแล้วค่อยเปิดบ้านให้คนอื่นเข้ามาชม ขอเวลา 6 เดือนหรือถ้าช้าหน่อยก็หนึ่งปีแล้วค่อยมาคุยกันใหม่ ว่าวิทยาลัยจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าถามว่า ตอนนี้ความคิดในใจมีไหม มีแน่นอนครับ

อนุรักษ์ บุญแจะ
อาจารย์ดนตรีวัย 51 ปี ชาวธนบุรี จบปริญญาตรีจากวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จฯ ปริญญาโท [วัฒนธรรมศึกษา] มหาวิทยาลัยมหิดล กำลังจบปริญญาเอก [ดนตรีศึกษา] จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ รั้วมหาวิทยาลัยมหิดลเช่นกัน

ถนัดเครื่องเป่าทองเหลืองเสียงต่ำทุกชนิด ใช้เวลาคลุกคลีในวงโยธวาทิตตั้งแต่ชีวิตมัธยม เป็นสมาชิกวงโยธวาทิต โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ได้รับรางวัลชนะเลิศแข่งขันวงโยธวาทิต ณ ประเทศอินโดนีเซีย รางวัลรองชนะเลิศการแข่งขันประเภทเดียวกันที่ประเทศเนเธอร์แลนด์

เคยเป็นอาจารย์สอนดนตรีโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์และวิทยาลัยครูมหาสารคาม ก่อนย้ายมาที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จฯ เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นวาทยกรวงอิสรภาพซิมโฟนิคแบนด์ เจ้าของโครงการ ‘คอนเสิร์ตบ้านสมเด็จเจ้าพระยา’ ที่ได้รับความนิยมจากผู้ฟังจนล้นโรงละครแห่งชาติ [โรงเล็ก] มาแล้ว

ทุกวันนี้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่ทำงานมากกว่าที่บ้านของตัวเอง ทำงานหนักและมุ่งมั่นอย่างมากที่จะสร้างมาตรฐานคุณภาพวิชาชีพดนตรีที่ที่เขาเติบโตและคุ้นเคยกว่า 19 ปี
[สัมภาษณ์ ณ ห้องสมุดสงัด ภูเขาทอง วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา. 17 ตุลาคม 2558]

5 (1)

Comments

  1. Dr.Tinnakorn Attapaiboon says:

    Music is beyond frontier.

  2. เบียร์ เกรียงไกร วรีวัฒน์ says:

    ขอบคุณครับอาจารย์

  3. ดร.กฤษฎ์ พีรธนัศสกุล says:

    สุดยอดเลยครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *