อุทิศ อิ่มบุปผา ครูช่างขลุ่ยไทย

อุทิศ อิ่มบุปผา ครูช่างขลุ่ยไทย
เรื่อง: พิชชาณัฐ ตู้จินดา
ภาพ: กันต์ อัศวเสนา

มิถุนา 57 หลังฟื้นไข้จากผ่าตัดใหญ่ ลุงอุทิศ อิ่มบุปผา ในวันวัย 81 ปี แม้ร่างกายได้รับผลกระทบจากความป่วยไข้ แต่ทว่าไม่คุกคามกัดกินกำลังใจและความทรงจำ ยังใช้เวลาแทบทั้งวันหน้าแท่นเครื่องมือช่างเพื่อผลิตขลุ่ย ชันเข่าทำงานไม่มีวันผ่อนพักอย่างคงเส้นคงวา เปรียบเป็นมวย ถือว่าลุงอุทิศยังออกหมัดตรงเป้าแถมเรี่ยวแรงยังดี ไม่ว่าคุณภาพผลงานเสียงขลุ่ย หรือชั้นเชิงตอบคำสัมภาษณ์ด้วยลีลาน้ำเสียงทีเล่นทีจริงมีลูกล่อลูกชนอย่างคนผ่านร้อนผ่านหนาว

“ทุกวันนี้อยู่ได้เพราะภูมิใจในฝีมือ ได้กำลังใจจากหลายคนที่ยังต้องการสินค้าของผม ผมทำไม่รู้ไม่ชี้ กระทั่งหมอยังบอก ไม่เคยเห็นใครฟื้นตัวเร็วเท่าลุง ทั้งสีหน้าท่าทาง คำพูดคำจา ผ่าตัดแล้วก็จริง แต่ว่ามันกลับมาอีก มะเร็งผมไม่กลัว ผมกลัวให้คีโม เพราะทำงานไม่ได้ เล็บบาง ชาทั้งนิ้วทั้งมือ จับมีดแกะปากนกแก้วนึกว่าแน่นแล้วยังหลุด ความรู้สึกไม่มี ใจผมอยากอนุรักษ์งานขลุ่ยไทย เท่าที่เห็นทำๆ กันอยู่ เดี๋ยวนี้เป็นพาณิชย์เสียมาก”

บนเส้นทางประสบการณ์ชีวิตช่างขลุ่ยที่ทั้ง ‘เก่า’ และ ‘เก๋า’ ขลุ่ยไม้ไผ่รวกผลงานสร้างของลุงอุทิศเป็นที่ยอมรับและกล่าวขวัญถึงทั้งน้ำเสียงและรูปลักษณ์ แม้ให้เสียงไม่สมบูรณ์กลมกลึงอย่างเสียงจากขลุ่ยไม้จริง แต่ทว่าขลุ่ยไผ่รวกให้เสียงพิเศษที่ลุงอุทิศเรียก ‘แซงๆ’ หรือแหบเสน่ห์ ไม่ต่างนักร้องเพลงไทยอย่างสมบัติ สังเวียนทอง สายัญ สัญญา หรือศิริพร อําไพพงษ์ โดยเฉพาะเสียงคู่ควง [ลา ซอล เร โด] ที่ไม่เพี้ยนสูงต่ำ ทั้งยังตรวจสอบใส่ใจทุกรายละเอียดด้วยตนเอง ไม่ว่าใช้ไม้ไผ่แก่จัดคัดพิเศษหรือขั้นตอนกวาดรูนิ้ว แม้จะมีช่างลูกมือช่วยเบาแรงก็ตาม

“ขลุ่ยแต่ก่อนเสียงแหบแห้ง กินลม หมายถึงฝีมือช่างทั่วไป คนเป่าต้องประคองลมไม่ให้เพี้ยนสูงต่ำ แม่ผมทำขลุ่ยส่งร้านดุริยบรรณ ส่ง 5 เลา เขาคืนกลับมาให้แก้ 2-3 เลา คนลองจะบอกนิ้วไหนเพี้ยนไม่เพี้ยน แม่ผมทำเสียงได้ เทลายได้ แต่เสียว่าแกเป่าไม่เป็น ถึงรุ่นผมทำส่งครั้งแรก 50 เลา ตีกลับ 3-4 เลา ส่งอีกครั้งสองครั้งรับทั้งหมด ไม่ตีกลับ ผมไม่มีเวลาโกยเงิน ถ้าเป็นคนเห็นแก่เงินขลุ่ยผมไม่ดีถึงขนาด มีขายไม่มีขาย ช่างมัน ได้เงินมากน้อยไม่เกี่ยว คุณภาพต้องมาก่อน

“เอาอย่างนี้ดีกว่า ก่อนนั้นผมไปเป็นลูกมือช่างรังวัดที่สูงเนิน นครราชสีมา ผมไม่เคยทำขลุ่ย ได้แต่ช่วยแม่เจาะรูนิ้ว ทำงานปลีกๆ อยู่เหงาๆ สามารถเอาไผ่รวกรั้วบ้าน ใช้มีดทำครัวแกะปากนกแก้ว เก็บกิ่งไม้แห้งๆ ทำดาก อยู่บ้าน 2 ชั้น ข้างกันเป็นตลาดนัดชาวบ้าน ผมเป่าขลุ่ยจากไผ่รั้วบ้านอยู่ข้างบน เสียงเพราะจนคนตะโกนขอเพลง อาจเป็นนิสัยส่วนตัวที่ชอบคิดชอบลอง ลองผิดลองถูกด้วยประสบการณ์มันจำขึ้นใจ พูดแล้วก็เริ่มจะก้าวยาวขึ้นนะ”

ก่อนปักหลักลงตัวประกอบอาชีพช่างขลุ่ย ลุงอุทิศเคยผ่านงานขาย ประสานงานและรับส่งเอกสาร เป็นช่างยนต์ ช่างทอง ช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิบปิ่ง ขายไอติมหลอดสะพายกระติกขึ้นไหล่สองข้างตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นพนักงานบริษัทยนตรภัณฑ์ วิศวะบริการ และโตโยต้า เป็นลูกมือช่างทองเดินทางไปทำไกลถึง จ.นครพนม และ จ.อุบลราชธานี ตั้งแต่ราคาทองบาทละ 390 บาท ก่อนพบว่าตนเองรักอาชีพที่ใช้ชีวิตเป็นหลักแหล่ง เป็นนายตัวเอง และใช้เวลาส่วนใหญ่โดยลำพัง อุตสาหกรรมในครัวเรือนที่ตกทอดจากบรรพบุรุษอย่างงานช่างขลุ่ยไทย จึงเป็นตัวเลือกที่น่าพอใจ

“พ่อผมเป็นสถาปนิก ชนะเลิศได้ถ้วยเงินถ้วยทองจากงานรัฐธรรมนูญ ประกวดแบบแปลน คนหนึ่งส่งได้ 2 แบบ พ่อคว้าทั้งสองรางวัล ก่อนแกจะเสีย บ้านผมมีฐานะดีกว่านี้ เดินไปเรียนโรงเรียนสหบำรุง คนถาม ‘คุณอึ่งไปไหน’ หลังสงครามโลกข้าวยากหมากแพง ด้วยความจน ทีนี้ไม่เรียกคุณ แต่เรียก ‘ไอ้อึ่ง’ ความลำบากแม่ต้องขายถ้วยเงินถ้วยทองพ่อ ขายกระทั่งสังกะสีหลังคาบ้าน ผมเริ่มทำงานเดือนละ 150 บาท แม่รับจ้างเทลายขลุ่ยวันละ 10 บาท เพราะไม่มีไผ่จะทำ ก่อนหันมาทำขลุ่ย ผมรับซ่อมวิทยุโทรทัศน์เป็นปี ซ่อมดีจนได้เงินสร้างบ้านหลังที่คุณนั่งอยู่นี้”

เป็นมากกว่าบ้าน เพราะนอกจากบุคลิกส่วนตัวเป็นคนพูดน้อย ลุงอุทิศยังอยู่ติดบ้าน บ้านจึงเป็นโลกใบเล็กที่ลุงผูกพัน เรือนสองชั้นหลังเล็กครึ่งปูนครึ่งไม้ในบางไส้ไก่ ซอย 5 นอกจากเป็นที่พักอาศัยของครอบครัว ยังเป็นฐานที่มั่นประจำการผลิตงานขลุ่ยของลุง เก็บเครื่องไม้เครื่องมือช่างใหญ่น้อยพร้อมวัตถุดิบสำคัญอื่นๆ อย่างไม้สักดากขลุ่ยหรือลำไผ่รวก ห้องชั้นล่างด้านหน้าเป็นที่พูดคุยรองรับลูกค้าและอวดงานขลุ่ย ที่สำคัญเป็นสำนักฝึกและเรียนรู้ขั้นตอนวิธีทำขลุ่ยของใครหลายคน บ้างประสบความสำเร็จ บ้างท้อถอยถอดใจตั้งแต่ยังไม่ถึงครึ่งทาง

“ไม่หวงครับ คุณลองทำดูก็ได้ ผมบอกคุณหมดทุกอย่าง แต่อยู่ที่ว่าจะทำได้ไหม ไม่ใช่เรื่องลับปกปิด แต่บางคนรู้มาก สอนให้นิดๆ หน่อยๆ ทำมาให้ลอง เออ ฝีมือนายพัฒนาขึ้นมาก เขาชิงบอก ‘อาๆ ผมทำขลุ่ยส่งให้อาเอาไหม’ ชักไปกันใหญ่ เขาเห็นว่าขลุ่ยคือขลุ่ย ทำรูปร่างให้เป็นขลุ่ยแค่นั้น ไม่ใช่ ผมสอนให้เป็นอาชีพติดตัว ชมว่าดี ดีจริง แต่ดียังไม่ถึงจุด หลายคนที่เป็นอย่างนี้ เอาขลุ่ยเขามาปนกับขลุ่ยผม ร้อยเลาเสียไปสักสิบ ไม่ตายหรือ จากร้อยเลาไม่เคยเสียเลย

“หรืออยู่ๆ จะให้ทำวันละ 3 เลา 10 เลา ไม่มีทาง มาจู้จี้ว่าอย่างนั้นเถอะ ถ้าพูดมากผมเชิญออก คือยุ่งกับผมมากๆ ผมไม่ทำ ไม่ง้อด้วย เช่นว่าพรุ่งนี้เย็นมาเอา อย่าหวัง เสร็จเมื่อไหร่ผมจะบอกเอง ดีไม่ดีไม่รู้ เป็นที่พอใจของผมแล้วกัน บางคนบอกอีกว่าผมทำช้า ไม่นึกว่าคนที่เขาสั่งก่อนล่วงหน้าเป็นสิบๆ ล่ะ บางทีเกรงใจก็ลัดคิวให้ แต่อย่าไปอวดกัน หรือเอาไปขายต่อ ผมเลิกคบ ไม่ต้องเข้าบ้านผมอีก อุส่าทำให้ไปใช้ ดันเอาไปขายกินกำไรเสียนี่”

ทุกวันนี้ ชุมชนบ้านลาว บางไส้ไก่ อยู่ถนนหลังรั้วกำแพงปูนตลอดแนวตึก 3 ตึก 4 และตึก 5 มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พื้นที่ชุมชนเล็กๆ แต่อัดแน่นเบียดเสียดด้วยบ้านพักเก่าใหม่ ทั้งบ้านพักอาศัยส่วนตัว ทั้งหอพักห้องเช่าสำหรับบริการนิสิตนักศึกษาต่างมหาวิทยาลัย นอกจากขลุ่ยลุงอุทิศ อิ่มบุปผา หลายครัวเรือนในชุมชนบ้านลาวยังประกอบอาชีพผลิตขลุ่ยต่างชนิดและวัตถุดิบสร้าง ไม่ว่าเป็น ขลุ่ยกลิ่นบุปผา [สุนัย กลิ่นบุปผา/ เจ้าของ] ขลุ่ยนิตยา [นิตยา กลิ่นบุปผา/ เจ้าของ] ขลุ่ยมงคล [มงคล โคมปิ่น และพรรณธิภา พุทธรักษ์/ เจ้าของ] ขลุ่ยทวีผล [ทวีผล สอนวิทย์/ เจ้าของ] ขลุ่ยประสงค์ [เพิ่มสุข สอนวิทย์/ เจ้าของ] และกิจการผลิตขลุ่ยอีกแห่ง [ดารารัตน์ และกาญจนา สอนวิทย์/ เจ้าของ]

ไม่เพียงเป็นแหล่งต้นทุนวัฒนธรรมขลุ่ยไทย แต่พื้นที่ชุมชนบ้านลาวเดิมยังมีความรู้ความเชี่ยวชาญไม้ซาง จึงเป็นแหล่งผลิตแคนสำคัญแห่งหนึ่งก่อนเสื่อมความนิยม พร้อมกับทำหัตถศิลป์ปลีกๆ ต่างชนิดเป็นลำไพ่พิเศษ ไม่ว่าเป็นงานสานเข่งปลาทู งานหมูกระดาษ หรือไม้ซางเป่าลูกดอก ที่ลุงอุทิศเล่าว่า ไม่มีบ้านไหนในบ้านลาวไม่ทำ ตัดไม้ซางเป็นปล้องเผาไฟดัดทำลวดลาย ผู้ใหญ่ใส่ลูกดอกใช้เป่ายิงนกยิงปลา เด็กอมเม็ดถั่วเขียวเป่าใส่ปล้องไม้ซางเป็นปืนกลของสนุก โดยเฉพาะนอกจากช่างขลุ่ยรุ่นเก่าต่างชื่อต่างช่างตามคำบอกลุงอุทิศ [1] ตำนานขลุ่ยครูภู่ในสังคมนักขลุ่ยยังเกิดขึ้นบริเวณบ้านลาวอีกด้วย

อาจารย์เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ นักวิจัยเอกสารและนักวิชาการอิสระ เป็นผู้หนึ่งที่สนใจงานช่างขลุ่ยไทยและเข้าออกชุมชนบ้านลาวเป็นเวลากว่า 20 ปี กล่าวถึงครูภู่และความสัมพันธ์ในแง่ความรู้ระหว่างช่างขลุ่ยบ้านลาวกับคนในพื้นที่โดยรอบ ว่า

“ครูภู่ เป็นช่างขลุ่ยมีคุณภาพคนหนึ่ง ผมเคยเห็นหลักฐานเอกสารว่า ขลุ่ยครูภู่ตกไปอยู่กับคนในตระกูลบุนนาค เพราะภายหลังตระกูลบุนนาคบริจาคขลุ่ยเลานี้ให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมัยรัชการที่ 7 รวมกับเครื่องดนตรีแล้วก็ของเก่าอื่นๆ ทุกวันนี้ตอบไม่ได้ว่าเลาไหน นอกจากไปดูทะเบียนที่เขาขึ้นบัญชีไว้ ตัวขลุ่ยอาจผุพังไปแล้ว แต่ที่แน่ๆ ครูภู่มีตัวตนจริง ไม่ใช่แค่เรื่องเล่า อีกกระแสหนึ่งซึ่งเคยได้ฟังจากอาจารย์พงษ์ศิลป์ อรุณรัตน์ หลานศิษย์เจ้าคุณภูมีฯ เล่าว่า พระยาภูมีเสวิน [จิตรจิตตเสวี] ได้ขลุ่ยครูภู่มาเลาหนึ่ง เพราะก่อนตายครูภู่ได้สั่งกับลูกสาวว่า ถ้าพบนักดนตรีฝีมือดีผ่านมา ให้มอบขลุ่ยเลานี้ให้ลอง

“เยื้องตรงข้ามวัดมอญ แต่ก่อนเป็นวังหม่อมเจ้าตุ้ม [พระองค์เจ้าสนิทพัฒนเดช] ท่านชอบเครื่องสายมโหรี ทรงรับครูเลิศ รักรุกรบ มาอุปการะเลี้ยงดู ครูเลิศตาบอดสองข้างแต่เก่งเครื่องสายรอบตัว โดยเฉพาะขลุ่ย เคยเป่าเดี่ยวพญาโศกอัดแผ่นเสียงไว้ด้วย เท่าที่ทราบ หม่อมเจ้าตุ้มเป็นหลานตาพระเสนาะดุริยางค์ [ขุนเณร สุอังคะวาทิน] เป็นไปได้ว่า ความรู้เรื่องขลุ่ยของหม่อมเจ้าตุ้มก็ดี หรือของครูเลิศก็ดี คงต้องเคยไปแนะให้ช่างขลุ่ยบ้านลาว อย่างน้อยช่างรุ่นปู่หรือรุ่นพ่อลุงจรินทร์ กลิ่นบุปผา คือนายหร่อง ก็น่าจะเคยรู้จักครูเลิศ พูดง่ายๆ ว่า ช่างบ้านลาวต้องปรับตัวตามความนิยมของคนรอบชุมชน เพราะภาคกลางเขาเล่นเครื่องสายดนตรีไทย แต่จะพัฒนาได้มากน้อยขึ้นอยู่กับช่างแต่ละคน นอกจากนี้ก็ยังมีอีกสำนักหนึ่งที่สำคัญมากและอยู่ใกล้ในละแวกเดียวกันนี้ คือบ้านเจ้าคุณเสนาะดุริยางค์ [แช่ม สุนทรวาทิน] ทั้งตัวท่านหรือลูกศิษย์อย่างครูเทียบ คงลายทอง ก็คงจะเคยแนะนำหรือมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ไม่น้อยเช่นกัน”

การทำขลุ่ยไผ่รวกให้ดีเป็นความยากท้าทายของช่างขลุ่ยทุกคน เพราะแม้ใช้พื้นฐานหลักความรู้เดียวกัน แต่โจทย์เปลี่ยนทุกครั้งตามธรรมชาติลำไผ่ ไม่ว่ารูปทรงที่มีทั้งทรงไข่ทรงกลม บ้างเล็กนอกโตในหัวท้ายขนาดต่างกัน ส่งผลให้ทรงดากปากเป่าลักษณะต่างด้วย ต่างจากไม้จริงที่ได้ขนาดมาตรฐานทุกเลา เพราะผ่านเทคโนโลยีเครื่องกลึงสมัยใหม่ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เสียงขลุ่ยชัด เบาแรง ไม่เพี้ยนเสียง กักลมลงเสียงต่ำหรือดันลมขึ้นเสียงสูงได้ดี นอกจากคุณภาพดากและปากนกแก้ว รูนิ้วดีต้องตอดนิ้วผู้เล่น อย่างที่ลุงอุทิศเปรียบ ‘ขลุ่ยเป็นเหยื่อ ถ้าทำไม่เป็นปลาแขยงยังไม่ตอด’

“ขลุ่ยดีไม่ดีอยู่ที่ดากกับปากนกแก้ว สองอย่างนี้ขนาดกับรูปทรงต้องรับกัน เหมือนปืน 4.5 คุณเอาลูกอีกขนาดไปใส่มันก็หลวม รูปแบบปากนกแก้วมีประมาณ 2-3 รูปแบบ ให้เสียงต่างกัน ถ้าปากเป่ากว้างขลุ่ยเลานั้นจะหมดดี เพราะป้อนลมลำบาก เป่าเสียงต่ำต้องส่งลมจากลำคอ ไม่ใช่ปากเป่าใหญ่กินลมมากแล้วจะดี ผมถามลูกค้า อยากได้ลมหนักๆ แบบปี่หรือเปล่า เขาเรียกขลุ่ยอั้น ปากเป่าแคบให้ลมเข้าน้อย ลมจะเข้าไปสัมพันธ์กับแง่ไม้ดากข้างใน

“ถ้าขยายรูนิ้วให้กว้างเสียงจะสูงขึ้น โบราณมักคว้านเนื้อไม้ข้างในรูนิ้วให้กว้างกว่าข้างนอก ขลุ่ยเลานั้นจะมีคุณภาพ เป็นเกร็ดความรู้ที่ติดตัวมา มากไปน้อยไปต้องวิจารณ์ตัวเองได้ อย่างคนที่นั่งทำข้างๆ ผม ติดขัดตรงไหนผมบอกหมด แต่เขายอมรับ ว่าประสบการณ์ยังไม่ถึง ยังมองไม่ทะลุ ตอนนี้เรียกได้ว่าก็จะแทนผมอยู่แล้วแหละ พอเขาทำเสร็จ ก่อนผมเซ็นชื่อ ผมจะตกแต่งตรงนี้นิดตรงนี้หน่อย เช็คเสียงตรวจความเรียบร้อย ไหนคุณบอกสัมภาษณ์เดี๋ยวเดียว เดี๋ยวเดียวของคุณเจาะลึกที่สุดแล้ว ผมไม่เคยบอกใครนานขนาดนี้ พยายามรวบรัดให้จบๆ ไป พิโธ่พิถังเอ๊ย”

ช่างลูกมือที่ลุงอุทิศกล่าวถึง คือ สัญญา ภาระวงศ์ คนอุบลราชธานี อดีตนักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม คลุกคลีผูกพันกับครอบครัวอิ่มบุปผาตั้งแต่ ปี 2542 [เปลี่ยนงานไปขับรถรับส่งของเมื่อ ปี 2546 ก่อนกลับมาทำขลุ่ยอีกครั้งเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ปี 2558] ฝากตัวเป็นศิษย์ช่างขลุ่ยลุงอุทิศ ตั้งต้นตั้งแต่เริ่มหัดเจาะรูนิ้วจากพิมพ์เหล็ก ฝึกใช้มีดเหลาดาก ใส่เสียงและแกะปากนกแก้ว ซึมซับความละเมียดละไม ความรู้ความคิด รู้เห็นวิธีการทำงานอย่างใกล้ชิดจากลุง เรียกลุงอุทิศอย่างสนิทใจด้วยเคารพฝีมือและประสบการณ์ว่า ‘พ่อ’ เป็นความหวังเดียวที่จะช่วยสานงานและสืบทอดเอกลักษณ์ขลุ่ยสำนักอิ่มบุปผา

นอกจากลุงอุทิศและคุณสัญญา ป้าคำจันทร์ อิ่มบุปผา [ภรรยาลุงอุทิศ] ยังเป็นลูกมือคนสำคัญที่ช่วยผลิตขลุ่ยจากท่อพีวีซีที่กำลังเป็นที่นิยมและต้องการของตลาด โดยเฉพาะยอดจำนวนสั่งจากโรงเรียนต่างจังหวัด นักเป่ามือสมัครเล่น หรือซื้อหาเป็นของฝากของที่ระลึก ลุงอวดว่า คุณภาพเสียงขลุ่ยท่อพีวีซีไม่แพ้ไม้ไผ่รวกหรือไม้เนื้อแข็ง แถมรักษาง่ายคงทน เสียงดังฟังชัดสนองอารมณ์ผู้เล่นได้ดี เป็นท่อพลาสติกเนื้อดีจากบริษัท เวิลด์เทรดดิ้ง จำกัด ผลิตสำเร็จรูปทั้งขนาด ความยาว สีและลวดลายเฉพาะตามที่ลุงต้องการ

“พูดง่ายๆ ว่า ขลุ่ยผมส่งทั่วประเทศ ถ้าชื่อศึกษาภัณฑ์มีชีวิต คงน้อยใจผูกคอตายไปนานแล้ว เพราะสั่งนานเท่าไหร่ก็ไม่ได้สักที นี่เป็นความทุกข์ของคนทำขลุ่ยอย่างหนึ่ง เพราะเดี๋ยวคนโน้นก็จะเอา คนนี้ก็จะเอา แล้วขลุ่ยเสียงสากลของผมยิ่งเอาไปเป่าได้ทั่วโลก รับรองว่าตรงแน่นอน [เสียงหนักแน่น] ส่วนนักขลุ่ยในดวงใจ ผมชอบเด็กคนหนึ่ง ชื่อเจมส์ [ณัฐภัทร เรืองบุญ นักเรียนเตรียมอุดมดนตรี ว.ดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล] เก่งไม่เก่งไม่รู้ แต่เขาเป่าขลุ่ยที่ไม่ดี เสียงฟ่อๆ แฟ้ๆ ให้เพราะได้ ผมปลื้มใจเด็กคนนี้มาก”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตำนานครูช่างขลุ่ยบ้านลาวอีกท่านที่ผลัดใบไปก่อนหน้า คือ ลุงจรินทร์ กลิ่นบุปผา (พ.ศ. 2473-2549) เป็นแรงผลักดันอย่างยิ่งให้ลุงอุทิศทำงานหนักและคงมาตรฐานคุณภาพขลุ่ยไว้อย่างไม่ย่อหย่อน เพราะด้วยวัยใกล้เคียงและยืนบนวิถีวิชาชีพเดียวกัน ซ้ำเป็นคนบ้านใกล้ เพราะห่างเพียงช่วงฝั่งเอื้อม นอกจากเหตุผลธุรกิจการตลาดหรือการยอมรับจากสังคม แน่นอนว่า การสร้างตัวตนงานขลุ่ยให้มีเอกลักษณ์ต่างไปจากอีกสำนักย่อมเป็นการเพิ่ม ‘คุณค่า’ และ ‘มูลค่า’

อาจารย์เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ ท่านเดียวกัน วิเคราะห์และมีทัศนะวิจารณ์ถึงครูช่างขลุ่ยคู่ขวัญบ้านลาวทั้งสองท่าน ว่า

“สองท่านนี้ไม่ได้ทำเพื่อธุรกิจแบบขลุ่ยโหลอย่างเดียว แต่ต้องการสร้างแบรนด์เนมเฉพาะตัว ขลุ่ยของเขาเป่าเข้าวงดนตรีไทยคณะโน้นคณะนี้ มันมีชื่อสถาบันการันตีคุณภาพ ส่งผลให้มีอำนาจต่อรองด้านธุรกิจการตลาด แง่หนึ่ง เขาต้องต่อสู้กับตัวเองมากๆ เอาชนะใจจนกว่านักดนตรีมืออาชีพระดับแนวหน้าชั้นนำอย่างพี่ปี๊บ [ครูปี๊บ คงลายทอง] หรือครูบุญช่วย โสวัตร จะยอมรับ ผ่านการประเมินตรวจสอบได้ มั่นใจในฝีมือ แต่ถ้าทำตามแบบชาวบ้านทั่วไปอาจจะขาดโอกาส ไม่มีเวลาพอจะสร้างฝีมือหรือแสวงหาความรู้เพิ่มเติม จำเป็นต้องเร่งผลิตเชิงปริมาณเพื่อยังชีพเฉพาะหน้าให้อยู่รอด แล้วจะเอาอำนาจเชิงคุณค่าวิชาการอะไรไปต่อรองกับตลาด แต่สำหรับครูสองท่าน นี่คือการยกระดับฝีมือช่างอย่างแท้จริง

“ลุงอุทิศเป็นคนใฝ่รู้ ชอบค้นคว้าทดลองไม่หยุดนิ่ง แกจะฟังนักเป่าหลายๆ ระดับคุยกัน ติชมกันว่าอย่างไร แล้วเก็บข้อมูลไปทดลองเงียบๆ พิสูจน์ว่าใช่หรือไม่ใช่ ซึ่งต่างกับลุงจรินทร์ เงื่อนไขชีวิตสองท่านนี้ก็ต่างกันด้วย ลุงจรินทร์เป็นข้าราชการกรมอู่ฯ เป็นคนชอบสังคม คบค้าสมาคมกับคนทั่วไป ใจกว้าง แล้วทำงานแบบจิตอาสา มีความมั่นคงมั่นใจในชีวิต แต่ต้องเข้าใจลุงอุทิศด้วย ว่าแกจะทำอย่างนั้นก็ไม่ถนัด ตัวเองต้องหาเงินเลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัว เพราะเป็นช่างขลุ่ยอย่างเดียว ไม่ได้มีเงินมีงานประจำอย่างข้าราชการ ฉะนั้นกว่าจะมายืนถึงจุดนี้ได้ ลุงอุทิศต้องต่อสู้มาไม่น้อย”

ต่อสู้กับสภาพชีวิต ความคาดหวัง วิชาชีพ และใจตนเอง โดยเฉพาะเมื่อถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนปลอมสินค้าและลอกเลียนลายเซ็น ทั้งกับวาทกรรมปลอมๆ ที่โจทย์กันว่า ลุงอุทิศดุและถือตัวหนักหนา ทำความเข้าใจอย่างเป็นธรรม หากชีวิตต่อสู้ด้วยลำแข้งพร้อมพึ่งพาปัญญาตนเองมานานและหนักขนาดนั้น เมื่อพบความสำเร็จที่น่าพึ่งใจ การบอกกล่าวเล่าความภาคภูมิด้วยหัวใจพองโตย่อมเป็นเรื่องสามัญธรรมดา ใช่จะโอ้อวดอหังการอย่างเปล่าเปลืองความสามารถ ประสบการณ์ และดีกรีผลงาน

ถามลุงอุทิศว่า “ความสุขของช่างขลุ่ยชื่อ อุทิศ อิ่มบุปผา อยู่ตรงไหน” ลุงตอบ “สุขเพราะเห็นนักดนตรีได้ใช้ของดีมีคุณภาพ โดยเฉพาะเสียงขลุ่ยจากฝีมือผม จะทำงานจนกว่ามะเร็งเล่นงานผมจนนอนลุกไม่ขึ้นนั่นแหละ” เป็นคำตอบจากปากที่ทำให้ได้มติบางอย่างในใจ

อุทิศ อิ่มบุปผา ปัจจุบันอายุ 81 ปี เกิดที่หมู่บ้านลาว บางไส้ไก่ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2478 เป็นบุตรนายบุญธรรม และนางสถาน อิ่มบุปผา [สกุลเดิม รื่นพร้อมพงษ์] มีพี่น้อง 1 คน คือ สุนทร อิ่มบุปผา อาชีพสถาปนิก จบการศึกษาขั้นพื้นฐานจากโรงเรียนสหบำรุงและโรงเรียนวัดประดิษฐาราม [วัดมอญ] สมรสกับนางคำจันทร์ อิ่มบุปผา มีธิดา 2 คน ได้แก่ นางสาวเต็มตา และนางสาวสุดารัตน์ อิ่มบุปผา คนหนึ่งเป็นแม่บ้านอยู่ดูแลคุณพ่อและครอบครัว คนหนึ่งกำลังศึกษาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา อุทิศ อิ่มบุปผา ถือเป็นปราชญ์ช่างขลุ่ยอาวุโสฝีมือชั้นครูของชุมชนบ้านลาว บางไส้ไก่ เขตธนบุรี ผลิตขลุ่ยเสียงไทยและสากลได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสังคมนักดนตรี

เชิงอรรถ
1ช่างขลุ่ยรุ่นเก่าบ้านลาวตามคำบอกลุงอุทิศ ได้แก่ นายทอง นายช้อย สีทา นายชุ่ม ฟองชล นางสถาน อิ่มบุปผา นางสมจิตร จำปาสุข นายผัน นางศิริ กลิ่นบุปผา นายฉ่ำ จำรัสเนตร นางบุญเกิด นางหวน นางมณี นายวงศ์ นายเฉลิม [ช่างโสภณ นุ่มละมุล เล่าเพิ่มเติมถึงนายเฉลิม ว่า “ลุงเฉลิมแกเป็นตำรวจ ยศร้อยเอก เย็นๆ จะหิ้วกระเป๋าใส่หมวกไปขายขลุ่ยที่วงเวียนใหญ่ วัดสามปลื้ม ขายงานภูเขาทอง งานวันปิยมหาราชขายที่ลานพระรูปฯ ขลุ่ยลุงเฉลิมใช้ไม้ไผ่ทั้งหมด เสน่ห์ขลุ่ยของแกคือ แกจะใช้เยื้อหอมเยื้อไผ่ปิดรูเยื้อ เสียงจะใสแก้วได้ยินไกล ตกเลาละ 3 บาท]

[สัมภาษณ์]
ฐานิสร์ พรรณรายน์. สัมภาษณ์. 27 พฤศจิกายน 2558.
สัญญา ภาระวงศ์. สัมภาษณ์. 30 พฤศจิกายน 2558.
เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์. สัมภาษณ์. 25 พฤศจิกายน 2558.
โสภณ นุ่มละมุ่ล. สัมภาษณ์. 18 ตุลาคม 2558.
อุทิศ อิ่มบุปผา. สัมภาษณ์. 31 สิงหาคม 2558.

DSC07328

อุทิศ อิ่มบุปผา ครูช่างขลุ่ยไทย [2478 – 2559]

ห้องชั้นล่างภายใน ฐานที่มั่นประจำการผลิตงานขลุ่ยของอุทิศ อิ่มบุปผา เก็บเครื่องไม้เครื่องมือช่างใหญ่น้อยพร้อมวัตถุดิบสำคัญอื่นๆ

ห้องชั้นล่างภายใน ฐานที่มั่นประจำการผลิตงานขลุ่ยของอุทิศ อิ่มบุปผา เก็บเครื่องไม้เครื่องมือช่างใหญ่น้อยพร้อมวัตถุดิบสำคัญอื่นๆ

แท่นเจาะรูนิ้วขลุ่ยพร้อมพิมพ์เหล็กแม่แบบรูนิ้วขลุ่ย

แท่นเจาะรูนิ้วขลุ่ยพร้อมพิมพ์เหล็กแม่แบบรูนิ้วขลุ่ย

รายละเอียดวัตถุดิบสำคัญงานช่างสร้างขลุ่ย อย่างไม้สักดากขลุ่ยและลำไผ่รวก

รายละเอียดวัตถุดิบสำคัญงานช่างสร้างขลุ่ย อย่างไม้สักดากขลุ่ยและลำไผ่รวก

ภาพเก่า อุทิศ อิ่มบุปผา เมื่อสมัยแรกหนุ่ม

ภาพเก่า อุทิศ อิ่มบุปผา เมื่อสมัยแรกหนุ่ม

สัญญา ภาระวงศ์ [ซ้านล่าง] ศิษย์ช่างขลุ่ยสำนักอิ่มบุปผา ซึมซับความละเมียดละไม ความรู้ความคิด รู้เห็นวิธีการทำงานอย่างใกล้ชิดจากอุทิศ อิ่มบุปผา

สัญญา ภาระวงศ์ ศิษย์ช่างขลุ่ยสำนักอิ่มบุปผา ซึมซับความละเมียดละไม ความรู้ความคิด รู้เห็นวิธีการทำงานอย่างใกล้ชิดจากอุทิศ อิ่มบุปผา

DSC07449

บรรยากาศทำงาน [ผู้หญิงซ้ายในภาพคือ นางคำจันทร์ อิ่มบุปผา ภรรยาลุงอุทิศ]

DSC07281

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *