ณรงค์ แก้วอ่อน [รวมบรรเลง] นักร้องชายกรมประชาฯ ฉายา ‘ณรงค์ร้อยเถา’

ณรงค์ แก้วอ่อน [รวมบรรเลง]
นักร้องชายกรมประชาฯ ฉายา ‘ณรงค์ร้อยเถา’

[สารคดีขนาดสั้น บันทึกชีวิตและงานของนักร้องชายสามัญชน ผู้ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญว่า
ขับร้องเพลงไทยได้มากหลากหลายจากความทรงจำ มีผลงานบันทึกเสียงและร้องสด
ทั้งเวทีบ้าน เวทีวัด เวทีราชการ และสื่อวิทยุโทรทัศน์มากที่สุดคนหนึ่ง
ในแวดวงดนตรีไทยยุคปัจจุบัน]

พิชชาณัฐ ตู้จินดา/ เรียบเรียง
[วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา]

ณรงค์ แก้วอ่อน หรือที่รู้จัก ‘ณรงค์ รวมบรรเลง’ นักร้องเพลงไทยที่ยอมรับนับถือกันว่า ขึ้นเวทีขับขานบทเพลงทุกครั้งด้วยความทรงจำมากกว่าท่องจากตำราเขียน ด้วยภูมิความรู้และอัธยาศัยเรียบง่ายไม่มากน้อยกับผู้ใด บ่อยครั้งครูณรงค์จึงได้รับเชิญให้ร่วมขับร้องกับหลายวงดนตรีอย่างกว้างขวางทั้งในเชิงพื้นที่และกับตัวบุคคล ครูณรงค์ขับร้องเพลงไทยได้มากโดยเฉพาะเพลงเถา แม้เวลานี้ยังไม่มีใครระบุจำนวนเพลงได้อย่างแน่ชัด หากแต่ไม่เคยปรากฏว่าครูอับจนทางร้องเมื่อต้องทำหน้าที่ขับร้องหน้าวงดนตรี ไม่ว่าบนเวทีวัด เวทีบ้าน หรือเวทีราชการ กระทั่งหลายท่านกล่าวนามอย่างยกย่องให้เป็น ‘ณรงค์ร้อยเถา’หรือ ‘ณรงค์พันเพลง’

‘รวมบรรเลง’
เพลงอัมพวา

‘รวมบรรเลง’ คำสร้อยห้อยท้ายแทนนามสกุลที่มาจากชื่อคณะปี่พาทย์ของบิดาครูณรงค์ ไม่ต่างชื่อนักมวยหรือนักร้องลูกทุ่งที่มักตั้งฉายาตามชื่อต้นสังกัดเพื่อสร้างกระแสความนิยมและการตลาด ครูณรงค์ใช้ฉายานี้ตั้งแต่เป็นนักร้องรุ่นๆ อยู่จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อมีโอกาสขับร้องเพลงไทยออกรายการวิทยุมากขึ้น ชื่อ ‘ณรงค์ รวมบรรเลง’ จึงติดหูติดปากคนฟัง กระทั่งหลายคนอาจลืมไปแล้วว่า ณรงค์ที่ใช้นามสกุล ‘แก้วอ่อน’ กับ ‘รวมบรรเลง’ เป็นคนคนเดียวกัน

ครูทะเบียน มาลัยเล็ก คนจังหวัดสุพรรณบุรี ข้าราชการบำนาญ อดีตนักดนตรีแผนกดนตรีไทย กรมประชาสัมพันธ์ เคยร่วมงานดนตรีกับครูณรงค์ที่กรมประชาสัมพันธ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 สนิทสนมกันมากในช่วงชีวิตหลังวัยเกษียณ เพราะใช้เวลาสอนดนตรีไทยร่วมกันมากว่า 10 ปี ที่ชมรมดนตรีไทยการประปานครหลวง และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพฯ เป็นอีกบุคคลที่ชื่นชมเสียงร้องของครูณรงค์จากรายการวิทยุก่อนที่จะได้สนทนาและรู้จักตัวตน เล่าว่า

“เจอกันบ้างที่รามคำแหง เพราะครูเรียนคณะนิติ ณรงค์ตามครูศิริ นักดนตรี มาสอนที่ชมรมดนตรีไทย บางทีมาร้องละครให้พี่สม [ครูเมธา หมู่เย็น] ตีระนาด ครูเข้ากรมประชาสัมพันธ์ พ.ศ. 2521 ก่อนหน้านั้นได้ยินเสียงร้องเขามานาน นอนฟังจากสุพรรณโน้น คนต่างจังหวัดอาศัยฟังเพลงจากวิทยุ รายการสองทุ่มครึ่งภาคค่ำ สี่ทุ่มครึ่งภาคบันเทิง ร้องบ่อยคือสุรินทราหู อาเนียร [ครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์] ยังบ่น ‘ไอ้นี่มันชอบร้องจังเพลงนี้’ หนุ่มๆ เสียงร้องเขาสดดี แต่ตอนนั้นยังไม่ได้เข้าทำงานที่กรมประชาสัมพันธ์ ได้แต่มาช่วยป้าสุดจิตต์ [ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต] ที่สมัยนี้เรียกออดิชั่น ก่อนขึ้นเพลงต้องประกาศก่อนเลยว่า ขับร้องโดยณรงค์ รวมบรรเลง”

พื้นฐานครอบครัวแก้วอ่อนประกอบอาชีพเกษตรกรรมและศิลปิน โดยเฉพาะนายสำรวม แก้วอ่อน [1] บิดาของครูณรงค์ เป็นนักดนตรีปี่พาทย์ที่ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมร้องรำทำเพลงอย่างสำคัญคนหนึ่งในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ภูมิลำเนาเดิมนายสำรวมเป็นคนตำบลปากไก่ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ก่อนย้ายตนเองมาสร้างครอบครัวร่วมกับนางอาบ จิตตกรดำรงค์ [2] บริเวณย่านวัดบางเกาะเทพศักดิ์ ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม กระทั่งบั้นปลายชีวิต มีความรู้ความชำนาญทั้งดนตรีปี่พาทย์ ขับร้องเพลงไทย และเป่าปี่คลาริเน็ตได้ดี สร้างเครื่องดนตรีปี่พาทย์ไทย แตรวง อังกะลุง และมีวงปี่พาทย์มอญเป็นวงที่สี่ในจังหวัดสมุทรสงคราม รองมาจากปี่พาทย์คณะนายแถว ดาวดึงส์ศิลป์ คณะนายถึก แก้วละเอียด [คณะไทยบรรเลง] และคณะนายพริ้ง นักปี่

ครูอ่วน หนูแก้ว คนจังหวัดสมุทรสงคราม ข้าราชการบำนาญ อดีตครูดนตรีโรงเรียนอัมพวันวิทยาลัย เป็นศิษย์ต่อเพลงปี่พาทย์จากสำนักครูเท สุขนันท์ [3] จังหวัดสมุทรสงคราม และศิษย์ก้นกุฏิสำนักครูรวม พรหมบุรี [4] จังหวัดราชบุรี เป็นอีกท่านที่เล่าประวัติบุคคลและเหตุการณ์ดนตรีท้องถิ่นแถบนี้ได้ดี เพราะทันสัมผัสรู้เห็นและทรงจำเรื่องเล่าจากคนรุ่นเก่าได้มาก เคารพนับถือนายสำรวม และนางอาบ แก้วอ่อน เสมือนพ่อและแม่ของตนอีกคนหนึ่ง เล่าว่า

“พ่อรวมเป็นศิษย์เตี่ยเทรุ่นแรก คล่องทั้งเครื่องทั้งร้อง เสียงร้องเต็ม ณรงค์ไม่ถึงพ่อเขาหรอก เตี่ยเทเล่าว่าพ่อรวมมาติดแม่อาบที่บ้านแควอ้อม มาเรียนกับเตี่ยเทเพราะจะได้ใกล้สาว‘ไอ้รวมมันติดไอ้อาบ ชวนข้าไปเป็นเพื่อนทุกวันตอนตีสี่ มันบอกพี่เทๆ ไปบ้านอาบ’ เตี่ยแกรักลูกศิษย์ เฝ้าอยู่หลังวัดบางเกาะ ‘ข้าไปนั่งอยู่ใต้ต้นยางใกล้ป่าช้า เห็นไฟแดงๆ เป็นที่รู้กัน ว่าไอ้อาบมันลุกขึ้นติดเตาหุงข้าว’ นี่ประวัติเก่าก่อนที่เขาจะแต่งงาน แม่อาบเชิดหุ่นได้ ร้องเพลงเพราะ ไอ้เราตีระนาดจนเพลงถามแม่นี่เพลงอะไร ‘โฉลกๆ เดี๋ยวข้าต่อให้’”

นายประสงค์ แก้วอ่อน น้องชายคนรองของครูณรงค์ นักดนตรีปี่พาทย์และนักแตรวงที่สืบเชื้อสายสกุลโดยตรง ก่อนย้ายตนเองไปมีครอบครัวตั้งหลักแหล่งพำนักที่บ้านกล้วย อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ท้องถิ่นที่มีนักดนตรีไทยรุ่นเก่าที่เคยร่วมงานบรรเลงกับคณะปี่พาทย์รวมบรรเลง ไม่ว่าเป็นนายอิน นายแจ่ม นายสอย คล้ำประเสริฐ เล่าเรื่องราวครั้งอดีตว่า

“สมัยที่พ่อสร้างเครื่องตั้งวงปี่พาทย์ นักดนตรีรุ่นผู้ใหญ่ที่หามางานกันประจำก็มีลุงปุ่นตีระนาดเอก ลุงไวเพชรบุรีตีระนาดเอก ลุงเอื้อมบางขันแตกตีฆ้อง ลุงย้งบางพรหมตีฆ้องเล็ก ลุงอินตีทุ้มเหล็ก ลุงสอยตีกลอง ลุงถวิลตาบอดข้างเดียวเป็นภารโรงอยู่อัมพวันวิทยาลัยตีกลอง คนปี่ก็มีลุงไกรเป่าปี่ชวากับปี่แน ลุงสม [รัตนศศิธร] ลุงตุ๊ [สมบัติ] เป่าปี่มอญ หลังๆ ยังมีคนอื่น อย่างครูพิมพ์ ครูเผือด นักระนาด ครูสมพงษ์ลูกครูสุ่ม ดนตรีเจริญ ลุงรวม พรหมบุรี กับพวกลูกศิษย์ที่บ้านราชบุรี สมัยที่ลุงรวมยังไม่สร้างเครื่อง เวลารับงานก็จะลงมาเอาเครื่องที่บ้านพ่อกับเครื่องที่บ้านลุงแย่งไปใช้เป็นประจำ”

จ่าสิบเอกประเวศ แก้วอ่อน น้องชายคนกลางของครูณรงค์ อดีตข้าราชการทหารบกประจำกองกิจการพลเรือน กรมทหารช่าง จังหวัดราชบุรี เป็นศิษย์ต่อเพลงปี่พาทย์จากสำนักครูรวม พรหมบุรี เคยควบคุมวงปี่พาทย์คณะรวมบรรเลงของครอบครัว เล่าถึงบิดาของตนโดยให้สัมภาษณ์คุณเสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ บันทึกเสียงไว้ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2536 ว่า

“เกิดมาต้องเห็นพ่อตีระนาดทุ้ม ถ้าเหนือเครื่องตีคือขับร้อง พ่อมีส่วนชอบอยู่อย่างหนึ่งคือเป็นนักร้อง เผอิญได้รับความอนุเคราะห์จากครูเชื้อ ฟันทอง เป็นผู้แนะนำ ชอบร้องตับดาวดึงส์ เคยได้ยินหลายคนพูดว่าแกร้องเพราะ พ่อมีสมุดเพลงร้องประจำตัวอยู่เล่มหนึ่ง วางเพลงว่างานนี้ต้องเล่นเพลงนั้นๆ ออกตับนั้นๆ เป็นสมุดเล่มเล็กใส่กระเป๋าเสื้อ ก่อนพ่อเสีย [ถึงแก่กรรมวันที่ 29 กันยายน 2504] ไปงานครั้งสุดท้ายที่วัดคูหาสวรรค์ กลับมาล้มหัวฟาดพรึงที่บ้านปฐมพยาบาลคืนกับวัน ลุงวงษ์พาไปโรงพยาบาลที่แม่กลอง พี่ณรงค์อายุ 16 ปี ยังเรียนอยู่ชั้น ม. 7 วันนั้นผมจำแม่นเพราะอยู่ในเหตุการณ์ พ่อพูดกับลุงวงษ์อยู่ประโยคหนึ่งว่า‘พี่วงษ์ ผมฝากณรงค์ด้วย’”

คำ ‘รวมบรรเลง’ นอกจากตั้งตามชื่อเจ้าของคณะปี่พาทย์ คือ นายสำรวม นัยยะหนึ่งยังเพื่อให้คล้องจ้องและมีความสัมพันธ์กับชื่อคณะปี่พาทย์ ‘รวมศิษย์บรรเลง’ ของครูรวม พรหมบุรี โดยที่ทั้งคู่มีอายุห่างกันเพียงปีเดียวและเป็นกัลยาณมิตรสำคัญทางด้านดนตรีปี่พาทย์ นักดนตรีย่านนี้เรียกครูรวมราชบุรี ว่า ‘รวมบน’ เพราะอยู่ต้นแม่น้ำแม่กลองเมืองราชบุรี เรียกนายรวมสมุทรสงคราม ว่า ‘รวมล่าง’ ทั้งยังพ้องกับนามสกุล ‘รวมสุข’ ของนายวงษ์ ญาติสนิทเจ้าของคณะหุ่นกระบอก ‘ชูเชิดชำนาญศิลป์’ ที่ต่อมาได้เป็นผู้บริหารวงคนสำคัญของปี่พาทย์คณะรวมบรรเลงหลังนายสำรวมเสียชีวิต

ปฏิเสธไม่ได้ว่า นายวงษ์ รวมสุข [5] เป็นผู้หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังและเป็นต้นแบบการใช้ชีวิตด้านดนตรีในวัยเด็กของครูณรงค์ เพราะนายวงษ์มีชื่อเสียงด้านการบริหารวงดนตรี เป็นคนกว้างขวางทั้งในพื้นที่และมีความสัมพันธ์อันดีกับนักดนตรีมีชื่อเสียงในแวดวงส่วนกลาง ไม่ว่าเป็นครูพิมพ์ ครูเผือด นักระนาด ครูเทียบ คงลายทอง ครูบุญยงค์ ครูบุญยัง เกตุคง หรือครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ที่นายวงษ์เป็นผู้นำฝากให้ครูณรงค์มอบตัวเป็นศิษย์ต่อทางร้องเพลงไทย นอกจากมีฝีมือเชิดหุ่นกระบอกกระทั่งนายจักรพันธุ์ โปษยกฤต ฝากตัวเป็นศิษย์แล้ว ยังมีความชำนาญเรื่องเครื่องหนังไทยและขับร้องเพลงไทยอีกด้วย

เรือเอกสัมพันธ์ แก้วอ่อน น้องชายคนสุดท้องของครูณรงค์ ทุกวันนี้เป็นทหารเรือฝ่ายช่าง แผนกโรงงานช่างท่อ กองโรงงานเรือเหล็ก อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า เล่าถึงนายวงษ์ญาติผู้ใหญ่ให้ฟังว่า

“ลุงเป็นคนฉลาด โดยเฉพาะเป็นคนไม่ยอมคน วิธีรับงานของลุงจะโฆษณาเป็นประเภท เช่นว่าเอาอย่างนี้ราคาเท่านี้ เอาดีกว่านี้อีกราคาหนึ่ง หรือถ้ามีหุ่นกระบอกแถมด้วยก็บวกราคาเพิ่มเข้าไป แต่ลุงรับงานแพงเพราะมีอุดมการณ์อย่างหนึ่งว่า บ้านผมจะไม่รับงานผ่านแม่ครัวหรือสมภาร เจ้าภาพต้องติดต่อเราโดยตรง ใครกินเปอร์เซ็นต์ลุงไม่ยอม ช่วงท้ายชีวิตลุงยังว่า ‘ทำอย่างนี้ก็ไส้แห้ง แต่จะให้ข้ารับงานอย่างใครๆ ข้าไม่เอา’

“ใจจริงลุงต้องการให้ปี่พาทย์ที่บ้านมีชื่อเสียง นักดนตรีตรงเวลาแล้วต้องไปก่อนงาน เผื่อฝนฟ้าตก อีกอย่างคือระเบียบจัด อย่างไปงานจังหวัดตรังเสื้อขาวแขนยาวทับใน ผูกเนคไทอันใหญ่ ตอนหลังเปลี่ยนมาทันสมัยหน่อยใช้เส้นเล็ก แล้วมาใช้หูกระต่ายอย่างหนีบ ลุงวงษ์เป็นคนแก่แล้วไม่แก่เลย เพราะไม่เคยหยุดท่องเพลง ตื่นตีสามตีสี่มือสาวกลองปากก็ท่องเนื้อเพลงไปด้วย ลุงนี่ยิ่งหนักกว่าพี่ณรงค์เพราะร้องเพลงตับทุกตับไม่เคยเปิดเนื้อดู เรื่องความจำนี่ที่สุด”

ลูกไม้ตกใต้ต้น
ครูณรงค์คนหนุ่ม

แน่นอนว่าครูณรงค์เป็นลูกไม้ตกใต้ต้น ข้อสำคัญที่หล่อหลอมให้ครูเป็นอย่างที่หลายคนรู้จักได้เช่นทุกวันนี้ก็เพราะสนามชีวิตในวัยเด็ก ครูต่อทางร้องพื้นฐานเพลงไทยและต่อทางเครื่องดนตรีปี่พาทย์จากบิดา ขณะเดียวกันได้ต่อทางร้องและเรียนเชิดหุ่นกระบอกจากนายวงษ์ เคยซื้อซอด้วงและโน้ตเพลงไทยจากร้านดุริยบรรณมาฝึกกระทั่งสีเพลงแป๊ะและโหมโรงไอยเรศได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะประสบการณ์ตามบิดาไปบรรเลงปี่พาทย์รับลิเกและบรรเลงร้องรับหุ่นกระบอกที่ก่อรูปเป็นความรู้ให้ครูได้ใช้ประโยชน์ในชีวิตการทำงานที่กรมประชาสัมพันธ์

นอกจากซึมซับลีลาขับร้องลิเกต่างคณะต่างพื้นที่ ไม่ว่าเป็นในจังหวัดเพชรบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท ราชบุรี ลพบุรี นครราชสีมา ซึ่งแต่ละแห่งมีสำเนียงร้องและลู่ทางการวางเพลงต่างกัน ครูณรงค์ยังเพิ่มพูนความรู้ด้วยตนเองโดยเฝ้าติดตามฟังเพลงไทยจากหลายรายการวิทยุ ที่ประทับใจมากได้แก่ รายการถ่ายทอดสดการประกวดลิเกชิงถ้วยทองคำจากนายกรัฐมนตรี [6] ด้วยพื้นนิสัยส่วนตัวเป็นคนใฝ่รู้ ทำความเข้าใจได้เร็ว ช่างสังเกต และจำแม่น ส่งผลให้ต่อมาสามารถขับร้องเพลงแขกต่อยหม้อ เถา ให้บิดาฟังเพื่อปรับความถูกต้องของระดับเสียงและจังหวะหน้าทับเป็นเพลงแรกได้ตั้งแต่อายุ 11 ปี

รองศาสตราจารย์สุรพล สุวรรณ คนจังหวัดพิษณุโลก อดีตนักดนตรีแผนกดนตรีไทย กรมประชาสัมพันธ์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เคยร่วมงานบรรเลงดนตรีทั้งในและต่างประเทศ และเป็นผู้หนึ่งที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับครูณรงค์ เล่าว่า

“เท่าที่รู้จักพี่ณรงค์มาไม่น้อยกว่า 30 ปี เรื่องอื่นกล้าไม่กล้าไม่รู้ แต่ถ้าเขาอยากได้ความรู้จากครูท่านใดพี่ณรงค์จะเข้าไปหาทันที เพลงไหนไม่ได้ต้องไปหาเชียว หัวไว ต่อแปปเดียวไม่ว่าต่อกับใคร บางทีไปสัมภาษณ์เรื่องทางร้องเพลงไทย ฝั่งธนที่สนิทมากคือ ครูอุทัย พาทยโกศล ไปถามกับครูชลอรัตน์ อ่วมหร่าย ที่กองทัพบก ชอบคุยมากกับหม่อมตู๋ [หม่อมหลวงสุรักษ์ สวัสดิกุล] จดด้วยดินสอปากกาเก็บเป็นพับๆ หลายครั้งเปิดเทปฟังแล้วไปถามอาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน ครูองุ่น บัวเอี่ยม ครูศิริกุล นักดนตรี เกษียณแล้วยังไม่หยุดแสวงหา พี่ณรงค์จะบ่นมากว่า ‘นักดนตรีไทยที่อยู่เฉยๆ แล้วไม่ได้ ไม่ได้เพราะไม่ไปหาความรู้ ก็ออกไปหาความรู้สิ’”

ครูณรงค์เมื่อแรกหนุ่มจึงรับหน้าที่เป็นนักร้องประจำวงปี่พาทย์ของบิดา ทำหน้าที่เชิดหุ่นกระบอกเพื่อไม่ให้หุ่นนิ่งเมื่อนักเชิดท่านอื่นติดธุระ สีซอหรือตีเครื่องดนตรีปี่พาทย์เสริมนักดนตรีท่านอื่นในวง ต่อทางร้องและขับร้องเพลงไทยคู่กับนางทองห่อ เกิดมงคล [7] บุตรบุญธรรมครูย้อย เกิดมงคล นักดนตรีมากฝีมืออีกท่านของจังหวัดราชบุรี ทั้งยังเดินทางไปร่วมขับร้องกับวงดนตรีสำนักครูรวม พรหมบุรี เหตุนี้จึงมีโอกาสฝากตัวเป็นศิษย์ต่อทางร้องเพลงไทยกับครูเชื้อ นักร้อง ครูสอนขับร้องที่งานดุริยางค์ กรมตำรวจ กรุงเทพฯ ตามคำแนะนำของครูรวม

หลังจบมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนศรัทธาสมุทร จังหวัดสมุทรสงคราม แรงบันดาลใจสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ครูณรงค์ตัดสินใจเดินทางเข้ามาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มุ่งหน้าแสวงโชคบนเส้นทางสายศิลปิน ส่วนหนึ่งเพราะมีโอกาสได้ดูการแสดงวงเครื่องสายผสม เป็นรายการดนตรีออกอากาศสดทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ทุกวันเสาร์อาทิตย์ ได้พบนักร้องเพลงไทยที่มีชื่อเสียงหลายท่านที่แต่เดิมเคยฟังเสียงร้องแต่ในวิทยุ ที่ชื่นชอบมาก ได้แก่ ครูเหนี่ยว ดุริยพันธ์ ครูเจริญใจ สุนทรวาทิน ครูแช่มช้อย ดุริยพันธ์ ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ครูองุ่น บัวเอี่ยม และครูสุรางค์ ดุริยพันธ์

เรือเอกสัมพันธ์ แก้วอ่อน เล่าเกร็ดชีวิตครูณรงค์ช่วงย้ายตนเองจากบ้านที่จังหวัดสมุทรสงครามเข้ามาพำนักที่กรุงเทพฯ ว่า

“พี่ณรงค์มาอยู่กับญาติที่กรุงเทพฯ ชื่อคุณยายเพื่อน เป็นเจ้าของบริษัทห้างพระจันทร์ สมัยนั้น เรียกว่าเป็นระดับเศรษฐี กระทั่งแม่ไม่ตั้งชื่อเล่นให้ผม เคืองเพราะมีเหตุครั้งหนึ่งว่า แม่มาหาพี่ณรงค์จากสมุทรสงคราม ถามคนบ้านใกล้เรือนเคียงว่า ‘อู๊ด’ อยู่บ้านไหนไม่มีใครรู้จัก กว่าจะได้เจอกันใช้เวลานานมาก เพราะคนที่นั่นเขาเรียก ‘คุณณรงค์’ ไม่เรียกชื่อเล่น แม่เลยเลิกตั้งชื่อเล่นให้น้องๆ ตอนหลังพี่ณรงค์ย้ายมาอยู่กับหลวงลุงจำรัส จุลศรีสวัสดิ์ เป็นญาติกันบวชอยู่ที่วัดประยูรฯ เข้าใจว่าช่วงนี้พี่ณรงค์เริ่มมาต่อทางร้องกับครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต แล้ว ผมยังนั่งรถไฟไปเที่ยวหาแกบ่อยๆ”

นักร้องชายกรมประชาฯ
รายการเพลงไทยวิทยุ

ไม่ง่ายสำหรับการดำเนินชีวิตในสังคมที่มีการแข่งขันสูงอย่างในกรุงเทพฯ สำคัญมากว่าของดีที่ครูณรงค์พกติดตัวมาจากบ้านเกิดคือความอ่อนน้อมถ่อมตน เรียบร้อย เข้ากับคนง่ายและอัธยาศัยดี เป็นเด็กต่างจังหวัดที่เติบโตแวดล้อมและคลุกคลีมากับญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว นอกจากความรู้การขับร้องเพลงไทยและไทยสากลที่ได้รับจากครูหลายท่าน ที่สำคัญได้แก่ คุณรวงทอง ทองลั่นทม คุณประทุม ประทีปเสน คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ ครูนิภา อภัยวงศ์ ครูจันทนา พิจิตรคุรุการ ครูปราณี แก้วละเอียด ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ครูสุรางค์ ดุริยพันธ์ ครูณรงค์ยังได้รับความรักความเมตตาจากผู้ใหญ่ให้มีโอกาสได้ร่วมขับร้องกับหลายงานสำคัญที่วันหนึ่งปูทางไปสู่เส้นทางสื่อวิทยุโทรทัศน์ที่หลายคนใฝ่ฝัน

โดยเฉพาะครูณรงค์เป็นลูกศิษย์รักใกล้ชิดของครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต [8] เรียกได้ว่าเป็นทั้งศิษย์ในบ้านบางลำพูและเป็นศิษย์ราชการที่กรมประชาสัมพันธ์ ขับร้องเพลงแขกมอญ เถา ออกอากาศสดทางสถานีวิทยุเป็นครั้งแรก เพราะพรสวรรค์ที่ครูสุดจิตต์สัมผัสได้จากแรกที่ฟังครูณรงค์ขับร้องเพลงอะแซหวุ่นกี้ เถา [9] เบื้องหน้าและเบื้องหลังความสำเร็จในชีวิตนักร้องของครูณรงค์จึงมีครูสุดจิตต์เป็นทั้งครู รุ่นพี่ร่วมวิชาชีพ หัวหน้างาน และเป็นนักร้องคู่ขวัญตลอดช่วงเวลารับราชการที่กรมประชาสัมพันธ์

เรือเอกสัมพันธ์ แก้วอ่อน เล่าถึงมิตรรักแฟนเพลงรายการวิทยุจากกรมประชาสัมพันธ์ของทั้งครูสุดจิตต์และครูณรงค์ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ว่า

“จำแม่นงานหนึ่งที่วัดบางจะเกร็ง สมุทรสงคราม งานศพคนเรือตังเกมีฐานะ คนอื่นหาปี่พาทย์เท่านี้ แต่ระดับเขาต้องนักดนตรีระดับประเทศ เกณฑ์ว่าคนตีระนาดต้องคนนั้น คนร้องต้องคนนี้ ฟังวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ร้องบ่อย เน้นคนร้องต้องสุดจิตต์ ดุริยประณีต กับณรงค์ รวมบรรเลง เท่านั้น เงินเท่าไหร่ไม่อั้น เพราะที่บ้านใช้แต่นักดนตรีจากกรุงเทพฯ ลุงวงษ์สนิทมากกับครูบาง หลวงสุนทร ครูเทียบ คงลายทอง เข้ามากรุงเทพฯ เมื่อไหร่ ครูเทียบต้องพาลุงไปกินข้าวต้มวัดบวร ถ้วยละสลึง

“ปรากฏงานนั้นเขาหาว่าปลอม เสียงร้องใช่แต่ตัวไม่ใช่ สุดจิตต์ทำไมสูงวัยจริง ณรงค์ทำไมเด็ก เมาแล้วหวิดจะมีเรื่อง ลุงต้องเชิญนายกเทศมนตรีมาเคลีย ‘นี่ของจริง พี่วงษ์ไม่ต้มใคร สุดจิตต์จริงๆ ณรงค์จริงๆ’ เพราะครูสุดจิตต์เสียงร้องใสอย่างนี้ยันเสียชีวิต พี่ณรงค์ก็ร้องเสียงอย่างนี้มาตั้งแต่หนุ่มๆ เขาเคยฟังแต่ในวิทยุก็นึกว่าสุดจิตต์อายุน้อย ณรงค์อายุมาก ได้ยินแต่เสียงไม่เคยพบตัวจริง อีกงานพี่ณรงค์ร้องให้คณะศรีอัมพวา ตอนนั้นแถวบ้านยังไม่มีโทรทัศน์ จำได้ว่าที่บ้านต้องนั่งเรือมาดเต็มลำมาดูหลาน ดูโทรทัศน์ขาวดำที่ปั๊มน้ำมัน วัดบางแคใหญ่ ทุกคนปลื้มใจมาก”

ก่อนเข้ารับราชการที่กรมประชาสัมพันธ์ เป็นนักร้องประจำวงดนตรีไทย ตำแหน่งศิลปินจัตวา ในปี พ.ศ. 2515 ครูณรงค์มีผลงานขับร้องเพลงไทยออกอากาศสดทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญได้แก่ ขับร้องเพลงไทยในรายการ ‘คันธรรพศาลา’ [10] ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ควบคุมรายการโดยคุณจำนง รังสิกุล ขับร้องเพลงประกอบละครเสภาคณะ ‘ขาบมงคล’ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ควบคุมรายการโดย พลโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร ที่นิยมและมีชื่อเสียงมากได้แก่ เรื่อง แก้วฟ้าจอมพญา และยังขับร้องบันทึกเสียงในรายการเพลงไทยจากวิทยุศึกษา ได้มีโอกาสร่วมงานกับนักดนตรีที่มีชื่อเสียงหลายท่านทั้งจากกรมศิลปากรและกรมประชาสัมพันธ์ [11]

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ครูณรงค์เป็นนักร้องที่มีผลงานทางสื่อโทรทัศน์และวิทยุมากที่สุดท่านหนึ่งในแวดวงดนตรีไทย โดยเฉพาะบนพื้นที่เวทีราชการที่กรมประชาสัมพันธ์ เพราะงานบันทึกเสียงออกรายการวิทยุถือเป็นภารกิจหลักสำคัญควบคู่งานบรรเลงรับใช้สังคม เสียงขับร้องกับหลายวงดนตรีไทยต่างคณะจึงเป็นของครูณรงค์เสมอ ไม่ว่าเป็นคณะดุริยบรรณ คณะ ส.สุรางคศิลป์ คณะประคองศิลป์ คณะดุริยศิลป์ คณะเสริมมิตรบรรเลง หรือขับร้องในรายการ ‘รื่นรสดนตรีไทย’ ดำเนินรายการโดยครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ร้องมากและบ่อยอย่างต่อเนื่องกระทั่งมีผู้ยื่นบัตรสนเท่ห์ถามหาเหตุผลว่า เหตุใดนายณรงค์ รวมบรรเลง จึงขับร้องออกวิทยุมากกว่าท่านอื่นๆ [12]

ครูทะเบียน มาลัยเล็ก เป็นผู้หนึ่งที่อยู่ร่วมในหลายเหตุการณ์การทำงานที่กรมประชาสัมพันธ์มาพร้อมๆ กับครูณรงค์ เล่าบรรยากาศการทำงานที่กรมประชาสัมพันธ์ว่า

“ช่วงที่กรมประชาสัมพันธ์อยู่ราชดำเนินสิ อัดเทปกันอุตลุด โอ้โห ถ้านับก็เป็นร้อยเป็นพันเพลง อย่าลืมว่าต้องออกรายการวิทยุทุกวัน วันละหลายเวลา คนบันทึกเสียงชื่อคุณพยนต์ แฟงคล้าย ที่นั่นเขาให้ทุกคนจัดคณะลิเกคณะละคร [13] มาเล่น หาบทหาตัวมา ณรงค์ร่วมกับป้าสุดจิตต์เป็นประจำ ทั้งลิเกละคร ทั้งวงดนตรีไทย ณรงค์ร้องเป็นพระเอก อาเนียรก็มีคณะของเขา อัดแต่ละครั้งไม่ซ้ำเพลงซ้ำคณะ

“ทุกคนได้เพลงเหมือนกันหมด ไม่ต้องซ้อม ถึงเวลาเล่นแจกบทแล้วอัดเลย ฉะนั้นคนร้องคนปี่พาทย์ต้องเก่ง รายการวิทยุคลื่นสั้น 5 โมงเย็น ส่งไปต่างประเทศ ครูประเวศ กุมุท ยังมาสีซอด้วงให้ป้าฉลวย จิยะจันทร์ กับครูระตี วิเศษสุรการ มาถึงเล่นเดี๋ยวนั้นเพราะรู้ทางกัน ณรงค์ร้อง ไม่ได้เล่นแต่ดนตรีไทยอย่างเดียว วงสังคีตสัมพันธ์ ดนตรีไทยผสมสากล งานเต้นรำโรงแรมเเชงกรีล่าไปเป็นประจำ ช่วงครูระตีเป็นหัวหน้างานมีงานเต็มที่ ถ้านักดนตรีขาดเหลือ ณรงค์จะไปช่วยสีซอ ทำอย่างนี้อยู่ตลอดเป็นสิบๆ ปี”

ครูสมชาย ทับพร คนจังหวัดนนทบุรี ข้าราชการบำนาญ นักวิชาการละครและดนตรีระดับ 9 สังกัดสำนักการสังคีต กรมศิลปากร แม้ทำงานกิจกรรมร้องรำทำเพลงอยู่ต่างหน่วยงาน หากแต่มีผลงานบรรเลงและขับร้องเพลงไทยร่วมกับครูณรงค์อย่างบ่อยครั้งสม่ำเสมอ ไม่ว่ากับทั้งที่วงดนตรีคณะดุริยประณีต คณะเสริมมิตรบรรเลง หรือที่คณะรวมศิษย์บรรเลง จังหวัดราชบุรี มีความสัมพันธ์อันดีในฐานะกัลยาณมิตรร่วมวิชาชีพ เล่าถึงครูณรงค์ ว่า

“ผมให้เกียรติพี่ณรงค์มาโดยตลอด ไม่ว่าไปร้องที่ไหนผมต้องให้พี่เขาร้องก่อน สมัยหนุ่มๆ เขาเป็นแนวหน้าในวงการเลยล่ะ เพราะคนร้องเพลงไทยในประเทศรุ่นนั้นมีไม่กี่คน พี่ณรงค์เขาร้องมาตั้งแต่เด็ก แต่ถ้ายังร้องอยู่กับชาวบ้านก็คงไม่มีใครรู้จักกว้างขวางเท่าทุกวันนี้ พอเข้ากรมประชาสัมพันธ์แล้วได้ร้องมากเหลือเกิน ผมว่าเขาร้องให้แทบทุกคณะที่ออกรายการทางวิทยุ แล้วรายการวิทยุมีทุกคืน แต่ละคืนไม่ใช่สถานีเดียวนะที่เล่นเพลงไทย มีหลายสถานี คณะไหนก็ให้เขาร้องเพราะพี่ณรงค์ได้เพลงมาก โดยเฉพาะเพลงเถา เรียกได้ว่าเป็น ‘นักร้องวิทยุโดยตรง’ พูดง่ายๆ อย่างนี้ดีกว่า”

สิงห์สนามร้อง
ขวัญใจนักดนตรีปี่พาทย์

นอกจากขับร้องที่กรมประชาสัมพันธ์ ครูณรงค์ยังรับขับร้องให้หน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าเป็นสถานีวิทยุการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย [ททท.] สอนขับร้องเพลงไทยและบรรยายความรู้แก่ผู้สนใจที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ออกอากาศสดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 [อสมท.] ร่วมขับร้องในรายการ ‘ดนตรีไทยที่รัก’ ดำเนินรายการโดยคุณเสกสรร ภู่ประดิษฐ์ ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 5 [ททบ.5] และขับร้องในรายการ ‘ทิพวาทิต’ ดำเนินรายการโดย ครูชยุดี วสวานนท์ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11

ธรรมชาติการทำงานที่ต้องอาศัยทั้งความรู้ในการผลิตสื่อเพื่อป้อนรายการวิทยุ อาศัยไหวพริบปฏิภาณในการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที ทั้งแวดล้อมด้วยนักดนตรีชั้นแนวหน้าต่างเครื่องดนตรีในแวดวงดนตรีไทย [14] แน่นอนว่าความรู้ความฉลาดในการขับร้องเพลงไทยของครูณรงค์สั่งสมมาจากประสบการณ์การทำงานที่กรมประชาสัมพันธ์ เพราะหลายสถานการณ์บังคับให้ชีวิตต้องดำเนินอยู่ให้ได้ตลอดฝั่งฝัน นอกจากตั้งรับขับร้องบนพื้นที่เวทีราชการ ครูณรงค์ยังออกรุกพื้นที่เชื่อมโยงกับสังคมดนตรีปี่พาทย์ โดยร่วมขับร้องกับหลายวงดนตรีทั้งเวทีวัดเวทีบ้านตามคำเชื้อเชิญ

ครูทะเบียน มาลัยเล็ก เล่าเสริมว่า “ส่วนหนึ่งที่ทำให้ณรงค์เก่งนอกจากอัดเทปออกวิทยุบ่อย เขายังเล่นสักวาอยู่ตลอด คนร้องสักวาต้องจำเพลงแม่นแล้วต้องได้เพลงมาก คนแต่งส่งบทมาคนร้องต้องดูเนื้อว่าจะร้องอย่างไร สนุกหรือเศร้าวางเพลงให้เหมาะ ปี่พาทย์ก็มีวิธีรับส่งของเขา บางทีนึกไม่ออกในหัวมันต้องนึกเชียว คว้าอะไรได้ก็งัดออกมา ฉะนั้นความรู้กับปฏิภาณนี่สำคัญ ถ้าร้องนะ ณรงค์ไม่ยอมคนอื่นอยู่แล้ว เพราะถือว่าเขาหัดมาทางนี้โดยตรง นั่งประจันหน้ายิ่งไม่กลัว ไม่มีประหม่า ปล่อยหางตีกันได้ยันสว่าง”

ครูณรงค์เป็นผู้หนึ่งที่ไม่เคยห่างหายจากเวทีบรรเลงปี่พาทย์ ไม่ว่าเป็นงานประชันปี่พาทย์หรืองานบรรเลงถวายมือถวายครูในพิธีไหว้ครูดนตรีไทย ส่วนสำคัญที่ครูณรงค์ได้รับเชิญให้ร่วมขับร้องกับหลายวงดนตรีทั้งในเขตพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี เพชรบุรี นครสวรรค์ อ่างทอง สระบุรี เพราะความอุ่นใจของนักดนตรีที่นับถือกันว่าครูณรงค์จำเพลงแม่นและได้เพลงมาก เป็นนักร้องเพลงไทยผู้หนึ่งที่ไม่มีข้อแม้ด้านวิชาชีพและนิสัยส่วนตัว หลายครั้งจึงมีโอกาสขับร้องให้ดาวนักระนาดเอกหลายท่านทั้งเก่าใหม่ ไม่ว่าเป็นครูสุพจน์ โตสง่า ครูบุญยงค์ เกตุคง ครูประสงค์ พิณพาทย์ ครูเมธา หมู่เย็น ครูทัศนัย พิณพาทย์ ครูทรงศักดิ์ เสนีพงษ์ ครูชัยยุทธ โตสง่า หรือครูทวีศักดิ์ อัครวงศ์

ครูอนันต์ชัย แมรา คนจังหวัดนนทบุรี เป็นอีกท่านที่สืบทอดทางเพลงสายครูเฉลิม บัวทั่ง อย่างเข้มข้นคนหนึ่ง เรียนรู้ดนตรีปี่พาทย์จากครอบครัวคือวงปี่พาทย์คณะวัดส้มเกลี้ยง มีโอกาสรู้จักและเชื้อเชิญครูณรงค์มาร่วมขับร้องกับวงปี่พาทย์คณะวัดส้มเกลี้ยงบ่อยครั้งกระทั่งบั้นปลายชีวิต เล่าความประทับใจถึงครูณรงค์ว่า

“ก่อนจะเชิญพี่ณรงค์มาร้อง ส่วนตัวรู้จักตั้งแต่ไปบันทึกเสียงที่คณะเสริมมิตรบรรเลง ครูเฉลิม บัวทั่ง เสียแล้ว ครูประสงค์ พิณพาทย์ เข้ามาจัดการวงแทน แกมาร้องบ้างไม่มาบ้าง จากนั้นเจอกันบ่อยๆ ตามงานเครื่องมอญ พี่ทวีศักดิ์ ปั้นบุญ คนเครื่องหนังเป็นคนดึงพี่ณรงค์มาร้องงานศพ งานบรรเลงทั่วไป ครูประสงค์ตีระนาดเอง ช่วงหลังผมฝึกเด็กออกงานบรรเลงในนามวงวัดส้มเกลี้ยง ก่อนหน้าที่ร้องบ่อยคือ ป้าศรีนวล ปิ่นเย็น แกลุยกับเราไม่สะดวกเพราะเป็นผู้หญิง แต่พี่ณรงค์ถึงไหนถึงกัน นอนวัดก็ได้ไม่เคยบ่น

“อย่างบุหลันทางฝั่งธน ผมบอก ‘พี่ ไม่ใช่เนื้อนี้นะ’ ‘เจี๊ยบไปหาเทปให้พี่สิ’ นี่แกเป็นคนใฝ่รู้หรือเปล่า รุ่งขึ้นอีกสองวันร้องได้โดยไม่ต้องดูเนื้อ ผมจะเล่นตะลุ่มโปง เถา ไม่ทราบว่าแกได้หรือเปล่านะ แต่ผลัดหลายครั้งกระทั่งจวนตัว ผมบอก ‘พี่ วันนี้ร้องตะลุ่มโปงนะ’ ชั้นเดียวแกได้อยู่แล้ว ถูกไหม ด้วยความอัจฉริยะ ผมเชื่อว่าแกทำได้ปัจจุบันทันด่วน ขยายร้องจากชั้นเดียวเดี๋ยวนั้นเพื่อไม่ให้เสียฟอร์ม บางงานนัดไว้ 6 โมงเช้าที่วัดส้มเกลี้ยง ตีห้าครึ่งมาเดินรอเราแล้ว ด้วยความเป็นคนตรงต่อเวลา งานสุดท้ายที่ร้องให้ที่นี่คืองาน 3 ครูดนตรีไทยที่บางใหญ่” [15]

ไม่เพียงไปร่วมงานในฐานะนักร้องนำนั่งหน้าวงดนตรี หากแต่ครูณรงค์ยังเดินทางไปร่วมงานในฐานะผู้ฟังร่วมสังเกตการณ์ โดยเฉพาะได้ซึมซับเรียนรู้แนวทางการขับร้องและลู่ทางการบรรเลงของแต่ละสำนักอย่างเปิดใจ เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า ครูณรงค์สามารถขับร้องหลายเพลงสำคัญของแต่ละสำนักได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าเป็นเพลงของครูหลวงประดิษฐไพเราะ [ศร ศิลปบรรเลง] เพลงที่ประพันธ์โดยครูบุญยงค์ เกตุคง หรือหลายเพลงของครูเฉลิม บัวทั่ง ที่ทุกวันนี้มีผู้ขับร้องได้ในจำนวนไม่มากนัก ไม่เว้นแม้แต่เพลงร้องทางฝั่งธนบุรีของสำนักดนตรีพาทยโกศล

ครูสมศักดิ์ ไตรย์วาสน์ คนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อดีตลูกวงทำปี่พาทย์ลิเกจังหวัดลพบุรี เคยทำงานอยู่หน่วยปราบโรคมาเลเรียที่บ้านเกิด ก่อนฝากตัวเป็นศิษย์สำนักดนตรีพาทยโกศล เป็นท่านหนึ่งที่ต่างเคารพนับถือความรู้ความสามารถด้านดนตรีของกันและกัน เล่าประสบการณ์บรรเลงและขับร้องร่วมกับครูณรงค์ ว่า

“ณรงค์มาร้องให้ที่บ้านกว่า 20 ปี ตั้งแต่เมรุวัดกัลยาณมิตรหลังเก่า ผมเป็นคนโทรชวน ร้องบ่อยคือเทวาประสิทธิ์ เถา สมบุกสมบันกันมาทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด นี่จะเล่าให้ฟัง ไปทำงานหนึ่งที่อยุธยา หาทั้งณรงค์ทั้งสมบัติ สังเวียนทอง ไปร้อง ณรงค์เรียกตับนเรศวร์ จบตับนเรศวร์เจ้าบัติคว้าไมค์ขึ้นเชียว ร้องตับนางลอย ณรงค์ร้องจบ บัติขึ้น พอบัติร้องจบณรงค์ขึ้น เราต้องบอกพอๆ ให้ปี่พาทย์พักบ้าง ณรงค์เหมือนพี่ชลอรัตน์ อ่วมหร่าย คือได้เพลงมาก ยืมเทปไปแกะสุดถวิล จิ้งจกทอง สองเพลงนี้เขาอยากได้มาก ร้องครั้งหลังสุดให้ที่บ้านคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ งานวันปิยมหาราช จากนั้นก็ไม่ได้พบกันอีก”

ณรงค์ร้อยเถา
ณรงค์พันเพลง

น่าสนใจว่า หลายท่านตั้งข้อสังเกตถึงวิธีกำหนดจดจำเนื้อร้องทำนองเพลงต่างๆ โดยเฉพาะเพลงเถา ที่ครูณรงค์สามารถขับร้องได้ทุกครั้งโดยไม่ต้องพึ่งพาเนื้อร้องจากตำราเขียน กระทั่งได้รับฉายาให้เกียรติอย่างยกย่องว่า ‘ณรงค์ร้อยเถา’ หรือ ‘ณรงค์พันเพลง’ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าครูณรงค์มีพื้นฐานดนตรีปี่พาทย์ ทราบและวัดจังหวะหน้าทับกลองได้ ที่สำคัญคือรู้ทำนองฆ้องวงใหญ่ เหล่านี้ถือเป็นความได้เปรียบอย่างหนึ่งซึ่งเอื้อต่อหลักในการจดจำทำนองร้อง ไม่ว่าเป็นเพลงหน้าทับปรบไก่หรือเพลงหน้าทับสองไม้ นอกจากนี้ วิธีการเอื้อน 3 เสียงของครูณรงค์ ยังถือเป็นแนวทางลีลาการขับร้องที่โดดเด่นเฉพาะตน

ครูสมชาย ทับพร ให้ทัศนวิจารณ์ถึงการขับร้องเพลงไทยของครูณรงค์ ว่า “วิธีร้องของพี่ณรงค์เป็นของเขาอีกรูปแบบหนึ่ง ทั้งวิธีการเอื้อน วิธีการหายใจ ทั้งน้ำเสียงและลีลาร้องเป็นแบบเพลงเถา น้ำเสียงของเขาเหมาะที่จะร้องเพลงเถานั่นแหละดีแล้ว อย่างที่ผมร้องเลียนแบบนี่คือร้องละคร ลีลามาทางกรมศิลปากร รูปแบบพิมพ์นิยมที่กรมศิลปากรร้องกัน ไม่ว่าเป็นครูเหนี่ยว ดุริยพันธ์ ครูประเวศ กุมุท หรือครูแจ้ง คล้ายสีทอง ท่านเหล่านี้มีน้ำเสียงร้องการแสดงดี เพราะถ้าร้องการแสดงไม่ดีก็ไม่ควรอยู่กรมศิลปากร ใช่ไหม ต้องดูความสอดคล้องระหว่างการปฏิบัติงานกับหน่วยงานที่เขาอยู่ด้วย

“วิชาความรู้พี่ณรงค์เขามีแน่ ร้องเพลงได้มากแล้วจำแม่น ไม่อย่างนั้นคงไม่มีชื่อเสียงถึงทุกวันนี้ แต่วิชาความรู้กับความละเอียดพิถีพิถันต่างกัน อันนี้ต้องแยกแยะ ไพเราะไม่ไพเราะแล้วแต่ผู้ฟัง ผู้ฟังชอบแบบไหนก็ว่ากันไป ส่วนตัวผมร้องได้มากเหมือนกัน แต่ยอมรับว่าไม่ละเอียดเท่าที่ควร อาจไม่เหมือนหลายๆ ท่าน อย่างครูเหนี่ยว ครูแจ้ง ท่านร้องไม่มาก แต่ท่านร้องเพราะเลย นี่อีกลักษณะหนึ่ง ร้องเพลงสำคัญๆ ไม่กี่เพลง แต่เพลงที่ท่านร้องออกมาดีทุกเพลง อย่างครูเหนี่ยวเสียงท่านดีเป็นทุนอยู่แล้ว เป็นต้น”

ครูทะเบียน มาลัยเล็ก เล่าเพิ่มเติมว่า “คุยกันลึกๆ แล้วจะรู้ว่าณรงค์มีเพลงมาก เป็นคนช่างสังเกตในเรื่องเพลงร้อง ซึ่งนักร้องหลายคนอาจรู้ลึกไม่เท่าเขา แต่ณรงค์จะร้องเพลงไม่ตรงจังหวะนะ เหมือนตีระนาดทุ้มสามขา คำร้องจะตกก่อนหรือหลังจังหวะ ใช้วิธีเอื้อนแสดงความเก๋า ใครก็ทำเหมือนเขาได้ยาก เวลาร้องเขาร้องวัดทางเครื่องเลย ซ้อมกับผมนี่ทำกันเป็นประจำ อย่างเพลงสมิงทองต่อให้เด็ก พอเครื่องรับแล้วเขาจะร้องพร้อมไปกับเครื่องอีกเที่ยว ร้องให้เด็กฟังว่าเข้ากับทางเครื่องอย่างไร บางวรรคมันปิดบังก็มี ทางร้องทางเครื่องไปคนละทาง คนเครื่องไม่ฝืนไว้ก็ผิด แต่เดี๋ยวก็ไปเจอกันข้างหน้า ‘เออ ทำอย่างนี้ก็ดีกูจะได้รู้ไปด้วย’ นี่นึกในใจนะ”

แม้ใช้ชีวิตและมีชื่อเสียงจากการเป็นนักร้องเพลงไทยในกรุงเทพฯ มานานตั้งแต่แรกหนุ่ม หากแต่ครูณรงค์ยังคงเดินทางกลับไปช่วยงานขับร้องที่บ้านเกิดอยู่เสมอ นับเป็นอีกท่านหนึ่งที่สานความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักดนตรีในลุ่มแม่น้ำแม่กลองกับนักดนตรีในพื้นที่ส่วนกลาง โดยเฉพาะความตั้งใจในการไปร่วมงานพิธีไหว้ครูดนตรีไทยของสำนักครูรวม พรหมบุรี จังหวัดราชบุรี ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีทุกครั้ง เพราะนอกจากจะได้พบปะสังสรรค์กับเครือญาติพี่น้องนักดนตรีไทยแล้ว ครูณรงค์ยังถือโอกาสทบทวนทางร้องกับนักดนตรีไทยรุ่นเก่าหลายท่านที่นั่นอีกด้วย

เรือเอกสัมพันธ์ แก้วอ่อน เล่าว่า “พี่ณรงค์จะพูดอยู่เสมอว่า อยู่ที่กรุงเทพฯ เขาร้องเพลงเถาเพลง 3 ชั้นไม่กี่เพลงหรอก ฉะนั้นเวลาได้กลับไปร่วมงานที่บ้านเกิดหรือที่ราชบุรีเขาจะดีใจมาก เพราะหลังจากที่วงวัยรุ่นบรรเลงประกวดประขันฝีมือจบ คราวนี้พี่ณรงค์จะหันไปหานักดนตรีรุ่นใหญ่บ้างล่ะ ‘พี่อ่วน [ครูอ่วน หนูแก้ว] เอาสิ พี่พุ่ม [ครูพุ่ม เผยเผ่าเย็น] เอาสิ’ จะได้ร้องได้เล่นเพลงเก่าๆ ซึ่งบางเพลงพี่ณรงค์อาจลืมไปแล้ว แต่ถ้าคนปี่พาทย์ทำได้ เขาก็เหมือนได้ฟื้นทางร้องไปในตัว

“ปกติถ้าพี่ณรงค์กลับบ้านแล้วไปนอนพักผ่อน ไม่มีทาง อย่างเดียวกับลุงวงษ์เลย นั่งคนเดียวหลังพิงฝา มือจับปอยผมแล้วก็ท่องเพลงไปด้วย ผมหลับไปหนึ่งตื่นลุกขึ้นมาพี่ณรงค์ยังร้องอยู่ บางทีเขาอาจต้องการความเงียบ หรือเปิดทีวีไว้แต่ไม่ได้ดูหรอก แกจะติ๊กเป็นเพลงๆ ว่าเพลงไหนทวนแล้วหรือยัง เพื่อเตือนความจำ แกมีเครื่องเล่นเทปอยู่ 4-5 เครื่องยี่ห้อเดียวกันทั้งหมด ใช้ 2-3 ปีจนพัง เปลี่ยนเครื่องใหม่ก็ซื้อยี่ห้อเดิมมาใช้ เอาไว้ทวนเพลงเก่าๆ หรือเพลงใหม่ที่ไม่คุ้น หรืออย่างไปงานนะ ถ้าคนระนาดเคาะให้เสียงผิดลูก นี่แกจะโกรธมาก”

ร้อยตรีภาณุวัฒน์ [ชื่อเดิม รังสรรค์] ไม้ทองงาม ศิษย์ปี่พาทย์สำนักครูรวม พรหมบุรี มีประสบการณ์บรรเลงและขับร้องเพลงไทยร่วมกับครูณรงค์เป็นระยะเวลายาวนาน แสดงทัศนวิจารณ์ส่วนตัวเรื่องทางขับร้องและบทบาทโดดเด่นที่ประจักษ์ในแวดวงดนตรีไทยของครูณรงค์ ว่า

“ผมฟังพี่ณรงค์ร้องเพลงมาตั้งแต่สมัยอยู่บ้านครูรวม สังเกตมานานแล้วว่า ลีลาการร้องของแกมีอย่างหนึ่งซึ่งไม่เหมือนนักร้องคนอื่น คือลูกเอื้อนที่เลื่อนไหลขึ้นลง 3-4 เสียง สนิทสนมแนบเนียนแบบไร้ตะเข็บ ประคบเสียงสูงลงทุ้มต่ำได้น่าฟัง ตรงนี้เป็นชั้นเชิงเทคนิคและเป็นธรรมชาติเฉพาะตัวจริงๆ คนอื่นทำได้ยาก ลองไปฟังเพลงสุดสงวนที่แกร้องสิ

“อีกอย่างคือพี่ณรงค์เป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก ไปบรรเลงช่วยงานที่ไหนก็ตาม หลายวงส่วนมากมักขาดนักร้อง เพราะคิดว่าหาเอาได้ในงาน แต่ถึงหาได้อย่างไรก็ไม่เรียบร้อยเพราะไม่ได้ซ้อมกันมา อาศัยว่าพอแก้ขัดได้เท่านั้น บางวงเตรียมซ้อมจะเล่นเพลงนั้นเพลงนี้ แต่คนร้องที่มีอยู่ร้องไม่ได้ ก็ต้องให้วงอื่นบรรเลงไปก่อน รอจนกว่าจะหาคนร้องได้ เห็นพี่ณรงค์เดินเข้ามาในงานเท่านั้นแหละ ปัญหาทุกอย่างจบเลย โล่งใจกันหมด บอกพี่ณรงค์ช่วยร้องเพลงนี้ให้หน่อย เข้าไปนั่งหน้าเครื่องร้องได้เดี๋ยวนั้น ไม่ต้องเปิดหนังสือหาเนื้อร้องให้เสียเวลา ความมั่นใจในความแม่นยำจัดเจนของแก ส่งผลให้นักดนตรีทุกคนพลอยรู้สึกอุ่นใจตามไปด้วย เป็นที่รู้กันว่า ถ้างานไหนพี่ณรงค์มาร่วม เป็นอันหมดห่วงเรื่องคนร้อง จบเพลงแกจะหันมาถามทันทีว่า ‘เอาเพลงอะไรอีก’”

สืบสานงานณรงค์

บันทึกเป็นหมายเหตุว่า ในปี พ.ศ. 2523 งานดนตรีไทยสองครั้งใหญ่สำคัญที่เกิดขึ้นช่วงปลายปี ครูณรงค์มีโอกาสได้ร่วมขับร้องเพลงไทยประชันวง รายการ ‘เสือสิงห์กระทิงแรด’ ณ โรงละครแห่งชาติ ซึ่งเป็นการแสดงฝีมือของนักระนาดเอกที่มีชื่อเสียงร่วมสมัยในรุ่นราวคราวเดียวกันถึง 4 ท่าน ได้แก่ ครูสุพจน์ โตสง่า ครูเมธา หมู่เย็น ครูสุรเดช กิ่มเปี่ยม และครูพัฒน์ บัวทั่ง ครูณรงค์ได้ทำหน้าที่ขับร้องให้กับวงของครูเมธา หมู่เย็น ทั้งยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอับดับหนึ่ง จากการแข่งขันขับร้องเพลงไทย รายการ ‘ฆ้องทองคำ’ ครั้งที่ 1 ขับร้องในเพลงแขกมอญ 3 ชั้น อีกด้วย

ชีวิตราชการของครูณรงค์ผ่านการบังคับบัญชาจากหัวหน้างานแผนกดนตรีไทยที่กรมประชาสัมพันธ์มาแล้ว 3 ท่าน ได้แก่ ครูระตี วิเศษสุรการ ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต และครูเมธา หมู่เย็น ด้วยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัดและปฏิบัติงานราชการด้วยความสมบูรณ์พร้อม ในปี พ.ศ. 2539 ครูณรงค์จึงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานแผนกดนตรีไทย ทั้งยังได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ [เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก ตริตาภรณ์มงกุฏไทย เหรียญจักรพรรดิมาลา ตริตาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฏไทย] ก่อนเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2546 นับเป็นรางวัลเกียรติยศแห่งชีวิตในการทำงานที่ครูณรงค์ภาคภูมิใจมากทุกครั้งที่ได้กล่าวถึง

โดยเฉพาะรายได้แต่ละเดือนจากงานราชการพร้อมทั้งสินน้ำใจที่ได้รับหลังร่วมขับร้องกับหลายวงดนตรี แน่นอนว่าส่วนหนึ่งครูณรงค์จัดสรรไว้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน บางโอกาสใช้จุนเจือครอบครัวและมิตรสหายยามจำเป็น อีกส่วนหนึ่งที่นับว่าไม่น้อยถูกใช้ไปกับงานอดิเรกสะสมภาพถ่ายเก่าที่สร้างความสุขความเพลินใจอย่างมากให้แก่ชีวิต ไม่เพียงแต่มีความทรงจำดีด้านเนื้อร้องทำนองเพลงไทยเท่านั้น หากแต่ครูณรงค์ยังจดจำเรื่องเล่าเกี่ยวกับเครือญาติบรรพบุรุษในอดีตทั้งฝ่ายบิดาและมารดาได้เป็นอย่างดี ทั้งยังสามารถบอกเล่ารายละเอียดต่างๆ ที่ปรากฏในภาพถ่ายเก่าของตนได้อย่างแม่นยำ

รองศาสตราจารย์สุรพล สุวรรณ เล่าถึงของสะสมของครูณรงค์ว่า “พี่ณรงค์เป็นคนผูกพันกับเรื่องที่เคยชิน เช่นบ้านพักแกที่เช่าอยู่ในซอยวัดเพลงวิปัสสนา จรัลสนิทวงศ์ อยู่เป็นสิบๆ ปีไม่เคยย้าย อาจเพราะเป็นคนติดกับพื้นที่ เก็บของตรงนี้ นอนตรงนี้ กินอาหารร้านเดิมร้านนี้ เดินไปไหนมาไหนในซอยมีคนรู้จักทั้งหมด โดยเฉพาะมีความหลงใหลมากในคุณค่าภาพถ่ายเก่าโบราณ เคยเดินไปเลือกซื้อภาพเก่าด้วยกันครั้งหนึ่ง แกยืนจ้องแล้วจ้องอีก เอากล้องส่องพระมาส่องอย่างละเอียด คิดว่าภาพหนึ่งคงเจอ เป็นภาพครูนิภา อภัยวงศ์ ทราบไหมว่าใครเป็นคนเซ็นรายมือชื่อด้านหลัง ‘ภาพนี้ให้ครูนิภา อภัยวงศ์’ ลงชื่อ ‘สิริธร’ แกชื่นใจกับภาพนี้มากๆ”

ภาพถ่ายเก่าต้นฉบับหายากทั้งขาวดำและสีจำนวนมากที่ครูณรงค์เพียรซื้อสะสมจากตลาดค้าของเก่านอกจากเป็นรูปภาพบุคคลสำคัญในแวดวงต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ภาพประวัติศาสตร์และเหตุการณ์สำคัญ ภาพดาราและนางสาวไทยในอดีตครบชุดซึ่งถือเป็นคอลเลคชั่นโปรดส่วนตัว ยังปรากฏภาพถ่ายจำนวนหนึ่งที่ทรงคุณค่าด้านประวัติศาสตร์เพลงดนตรีของเมืองไทย ไม่ว่าเป็นภาพเบื้องหลังการถ่ายทำรายการโทรทัศน์หลายสถานีในอดีต การบรรเลงวงดนตรีไทยและนาฏศิลป์ของทั้งหน่วยงานราชการ เอกชน และวงดนตรีชาวบ้านต่างสำนัก ภาพถ่ายพอตเทรตบุคคลในแวดวงนาฏศิลป์ไทย ดนตรีไทยและไทยสากล รวมถึงหลายท่านที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานที่กรมประชาสัมพันธ์

เรือเอกสัมพันธ์ แก้วอ่อน เล่าเสริมว่า “พี่ณรงค์จะเก็บรูปเก่าเป็นอัลบั้มๆ ใส่กระเป๋าบ้างถุงบ้าง แล้วยังมีอีกหลายลัง เคยถามอยู่รูปหนึ่ง เป็นรูปผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ‘พี่ณรงค์ รูปนี้ดูแล้วเกี่ยวอะไรกับเรา’แกบอก ‘เอ็งไม่รู้หรอก ลองคิดสิ ถ้าเป็นข้านะ กับครอบครัวของเขานี่มีความสำคัญมาก รูปนี้เป็นรูปจริง มันบอกเล่าประวัติศาสตร์และความหลัง ใครไม่เคยเห็น นี่ข้าซื้อมาให้ดูแล้ว’ ที่ห้องพี่ณรงค์จะมีหนังสือทุกชนิด นิตยสารกองเป็นตั้งๆ แพรว พลอยแกมเพชร หนังสือพิมพ์ซื้อทุกวัน แล้วต้องเป็นไทยรัฐอย่างเดียวเท่านั้น แกเดินตามซื้อภาพเก่าตั้งแต่หนุ่มยันเกษียณ คิดว่าอนาคตถ้ามีโอกาสจะนำภาพเหล่านี้มาจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ให้แกที่บ้านเกิด เพราะพี่ณรงค์แกรักของแก”

ลูกศิษย์ทางร้องเพลงไทยของครูณรงค์คือหลานสาวแท้ๆ ชื่อ สิบเอกเสาวรส โรหิตานนท์ [ถึงแก่กรรม] อดีตนักร้องเพลงไทยกองดุริยางค์ทหารบก ก่อนและหลังเกษียณชีวิตราชการที่กรมประชาสัมพันธ์ ครูณรงค์ยังใช้ชีวิตส่วนหนึ่งผูกพันอยู่กับลูกศิษย์ขับร้องที่ชมรมดนตรีไทยการประปานครหลวง [สอนทุกวันอังคาร เวลา 12.00 น. ถึง 13.30 น.] วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพฯ [สอนทุกวันอังคารและวันพุธช่วงเย็น] โดยสอนร่วมกับครูทะเบียน มาลัยเล็ก และที่ชมรมดนตรีไทยและนาฏศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สอนร่วมกับครูธีรศักดิ์ ชุ่มชูศาสตร์ สำนักบ้านดุริยประณีต และอาจารย์สหรัฐ จันทร์เฉลิม วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผลงานบรรเลงดนตรีไทยของพนักงานการประปานครหลวง นอกจากบรรเลงบันทึกเทปโทรทัศน์และออกสถานีวิทยุ อ.ส. ในวาระโอกาสสำคัญต่างๆ ของชาติ ไม่ว่าเป็น งานถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ยังเคยบรรเลงดนตรีไทยแสดงต่อหน้าสาธารณะชน ที่สำคัญได้แก่ รายการแสดงดนตรีไทย ณ ศูนย์สังคีตศิลป์ จัดโดยธนาคารกรุงเทพจำกัด [มหาชน] ครั้งที่ 755 และครั้งที่ 1002 ในชื่อ ‘วิพิธทัศนาการประปานครหลวง’

ครูทะเบียน มาลัยเล็ก เล่าถึงความสุขของครูณรงค์ที่ชมรมดนตรีไทยการประปานครหลวง ว่า“ณรงค์สอนที่ประปาดูมีความสุขมาก เพราะทุกคนเหมือนพี่น้องกัน อายุไล่เรียงไปจนถึงหกสิบ หลังเกษียณแล้วยังมาเรียน พนักงานประปาไปพักผ่อนที่ไหน เขาก็ชวนเราไปด้วย ไปฟรีกินอยู่ฟรี ตกกลางคืนกินเลี้ยงเล่นดนตรี นั่งรถตู้ 3-4 คัน เครื่องดนตรีใส่ท้ายรถ ที่นี่ลูกศิษย์พอจะรับความรู้จากณรงค์เขาได้ ต่อเพลงเถาไว้มาก ส่วนที่วิทยาลัยพยาบาลต่อปีละเถา เล่นงานดนตรีไทยอุดมศึกษา เล่นต้อนรับนักศึกษาต่างชาติ เพราะเด็กที่นี่เก่งภาษา ปรึกษากัน 2 คน ครูคุมเครื่อง เขาคุมร้อง

“หลังๆ คุยเรื่องโรคภัยไข้เจ็บกันบ่อย อายุมากเข้าเขาชักเริ่มจะเดินไม่ไหว เดินหน้าก้าว ถอยมาข้างหลังสองก้าว ก่อนเสียหนึ่งวันไปสอนที่ประปาด้วยกัน ใต้บันไดทางขึ้นมันมีม้านั่งสำหรับพัก เขานั่งพับหลับอยู่ตรงนั้น เราไปตบไหล่ถามณรงค์เป็นอะไร เขาบอกนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก ถ่ายไม่ออก กินยาน้ำระดมพลเป็นแก้วอย่างนี้จะให้ถ่าย ถ่ายไม่ออก สังเกตหลายครั้งที่ประปา ณรงค์นอนพักอยู่หน้าโต๊ะหมู่บูชาพระ นอนแปปเดียวเดี๋ยวผุดลุกผุดนั่ง เข้าใจว่าร่างกายคงพักผ่อนไม่พอ”

จุดเกิดเหตุ

รองศาสตราจารย์สุรพล สุวรรณ เล่าชีวิตส่วนตัวบางส่วนของครูณรงค์ให้ฟังว่า “พี่ณรงค์ชอบเดินทาง แกเคยเล่าให้ฟังว่า ‘บ้านคือรังนอน’ สมมุติวันไหนไม่มีงานร้องเพลง แกจะขึ้นรถเมล์จากต้นสายไปปลายสาย แล้วนั่งย้อนกลับมา ท่องเที่ยวเรียนรู้ในหนึ่งวัน จบ แล้วเดินเก่งมาก ไปไหนมาไหนไม่ถือร่ม ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์บังหัว แกจะเหน็บของแกไว้ที่กระเป๋าหลังกางเกง ครั้งสุดท้ายเดินทางไปเล่นดนตรีด้วยกันที่แคนนาดา อาจารย์ภิญโญ สุวรรณคีรี ไปออกแบบสร้างเรือนไทยไว้ที่นั่น พี่ณรงค์คิดเหมือนผมคือจากเมืองที่เราอยู่จะเดินทางไปเที่ยวอีกเมืองหนึ่ง ขาไปเรานั่งเครื่องบินไป ขากลับถามจะกลับเครื่องบินหรือรถยนต์ แกรีบตอบ ‘รถยนต์’ เพราะชอบดูบรรยากาศดูธรรมชาติ นี่คือเขา”

บั้นปลายชีวิตหลังเกษียณอายุราชการที่กรมประชาสัมพันธ์ แม้อายุล่วงเลยเข้าสู่วันวัย 71 ปี หากแต่วัตรปฏิบัติของครูณรงค์ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตศิลปินยังคงเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ว่าเป็นการเดินทางไปถ่ายทอดความรู้การขับร้องเพลงไทยให้แก่ลูกศิษย์ตามหน่วยงานต่างๆ รับเชิญไปเป็นกรรมการตัดสินประกวดประขันวงดนตรีไทยทั้งในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังคงตระเวนขับร้องเพลงไทยให้วงดนตรีไทยต่างสำนักในโอกาสต่างๆ อย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย แม้ตลอดการเดินทางของชีวิตจะไม่เคยพบพานกับความป่วยไข้ หากแต่หลายสัญญาณเตือนจากร่างกายก็บอกให้ทราบว่า ‘ชีวิตไม่ควรตั้งอยู่บนความประมาท’ กระทั่งวาระสุดท้ายมาถึง

เรือเอกสัมพันธ์ แก้วอ่อน เล่าเหตุการณ์วินาทีที่ครูณรงค์จากไปว่า “ช่วงหลังผมมีความรู้สึกว่าเขาเหนื่อยๆ ประมาณ 5 ปีมานี้จะมาพักกับผมที่ห้องพักแฟลตทหารเรือเป็นประจำ แน่ๆ คือทุกอังคาร พฤหัส แล้วก็วันอาทิตย์ ไปร้องงานสุดท้ายที่วัดบางเกาะเทพศักดิ์ งานญาติกันชื่อ ครูสงัด สกุลอินทร์ เป็นครูสอนชั้นประถมของเขา พี่ณรงค์เดินเข้างานมาพร้อมกับลูกชายผม ลูกชายเล่าให้ฟังว่า ลุงอู๊ดพูดแปลกๆ ‘ปี่พาทย์ในงานมันเยอะ หนวกหู ไปตั้งโน้นเลยนะ ริมเขื่อน งานข้าต้องใหญ่กว่านี้ เพราะว่าข้าไปช่วยเขามาแล้วทั่วประเทศ’ งานนั้นพฤติกรรมที่ผมเห็น ธรรมดาเวลาแกร้องแกจะไม่นั่งคุยกับใคร แต่นี่เดินไปหาญาติคนโน้นทีคนนี้ที เหมือนจะสั่งลา

“ก่อนวันเสียได้คุยกันหลายเรื่อง เรื่องอาการป่วยแกนี่แหละ ผมบอก ‘พี่ณรงค์รู้หรือเปล่า สมัยก่อนอย่างนี้เขาเรียกเป็นลม แต่มันไม่ใช่ มันเป็นไขมันในเส้นเลือด’ เขายังบอก ‘เอ็งเป็นหมอหรือ’ ผมขอร้องให้เขาพักเรื่องสอนร้องบ้าง เพราะอายุเริ่มมากขึ้น เดินทางไปไหนมาไหนไม่สะดวก แล้วยังขอให้ไปหาหมอ ไปตรวจไขมันในเส้นเลือด คุยตอนกลางคืน รุ่งเช้าผมยังถาม ‘พี่ณรงค์ไหวไหม ถ้าไม่ไหวฉันจะอุ้มไปเดี๋ยวนี้’ แหย่เขา เขาว่า ‘เออๆ ข้ารู้แหละ เอ็งก็พูดพร่ำเพื่อ วันนี้ข้าต้องไปหาหมอใช่ไหม’ สรุปวันนั้นแกก็ไม่ได้ไปหาหมออย่างที่สัญญา คุยกันคืนวันอาทิตย์ เที่ยงๆ วันพุธก็เสีย

“วันเกิดเหตุผมจ่ายงานให้ที่ทำงานเสร็จ ตำรวจโทรศัพท์มาถาม ‘ลุงมีพี่ชายชื่อณรงค์ แก้วอ่อน หรือไม่ เสียแล้วนะ’ ผมบอก ‘เฮ้ย ณรงค์ไหน เอาให้มั่น’ เขาบอกใช่ ให้รีบไปเดี๋ยวนี้ เพื่อนร่วมงานผมบอก ‘คุณสัมพันธ์ไปกับผมเลย อย่าเพิ่งคิดอะไรมาก ไปถึงจุดเกิดเหตุให้ได้ก่อน’ คนแถวนั้นเขาเรียกพี่ณรงค์ว่าครู แต่ไม่รู้ว่าครูโรงเรียนไหน เพราะบางครั้งพี่ณรงค์แต่งชุดราชการออกไปทำงาน หรือแต่งตัวดีถือถุงสูทเข้าออกห้องพัก พี่ณรงค์เสียก่อนที่ตำรวจจะโทรมาสักพัก แต่ผมได้ดูคลิปจากกล้องวงจรปิดแล้ว ทำให้เห็นวินาทีที่เขาจากไป ทั้งที่ผมไม่อยากดู

“ประมาณ 11 โมงกว่า พี่ณรงค์ถือขันน้ำจะไปอาบน้ำ ห้องพักกับห้องน้ำมันแยกกัน เป็นหอพักรุ่นเก่าไม้สัก ออกจากห้องแล้วก็หน้ามืด เซล้มไปข้างๆ ห้อง วัยรุ่นแถวนั้นเห็นเข้าก็ไปช่วย ผมไม่ได้ยินเสียงพูดนะแต่เดาว่าคงให้ไปหาหมอ พี่ณรงค์น่าจะปฏิเสธ ระหว่างนั่งพักที่ปากประตู ท่อนบนลำตัวอยู่ในห้อง เพราะนั่งพิงกองหนังสือข้างใน แต่ช่วงขาพ้นออกมาข้างนอก ดูสักพักแกก็ผงกหัวขึ้นมาใหม่ คิดว่าจะไปอาบน้ำให้ได้ ใจยังไหว คราวนี้สังเกตว่าขาสองข้างเริ่มเกร็ง มือยกคว้าขึ้นแล้วค่อยๆ ตกลง คนเห็นว่าทำไมนอนนานผิดสังเกต เข้าไปดูก็รู้ว่าเสีย พากันประคองร่างพี่ณรงค์มานอนไว้ที่หน้าห้อง นั่นคือเหตุการณ์สำคัญสุดท้ายในชีวิตพี่ณรงค์”

ครูณรงค์ เกิดและเติบโตท่ามกลางบรรยากาศท้องสวนท้องไร่ในจังหวัดสมุทรสงคราม ดำผุดดำว่ายในลำน้ำแควอ้อมและผูกพันกับวัดบ้านเกิด คือวัดบางเกาะเทพศักดิ์ โดยมีครอบครัวประกอบอาชีพร้องรำทำเพลงเป็นฉากหลังชีวิต สำคัญมากว่าครูณรงค์เกิดอย่างสามัญ ดำรงตนตลอดชั่วชีวิตอย่างสามัญ และจากไปอย่างคนสามัญธรรมดาคนหนึ่ง หากแต่ภายใต้ความสามัญกลับแสดงเสน่ห์ความเรียบงามอย่างเป็นที่รักยิ่งของทุกคนที่ได้สัมผัส สุดท้ายแล้วของชีวิต ความนึกคิดและจิตวิญญาณของครูณรงค์ได้กลับไปหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจังหวัดบ้านเกิด จังหวัดที่อุดมด้วยศิลปินนักดนตรีไทยตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และสืบต่อไปในอนาคตอันไกล

[หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายณรงค์ แก้วอ่อน ณ วัดบางเกาะเทพศักดิ์ ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559]

[ผู้เขียนขอขอบคุณ เรือเอกสัมพันธ์ แก้วอ่อน และคุณเสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ ที่ไว้วางใจมอบหมายให้รับหน้าที่เรียบเรียงประวัติครูณรงค์ แก้วอ่อน [รวมบรรเลง] ทั้งตรวจทานความถูกต้องของเนื้อหาอย่างละเอียด โดยเฉพาะคุณเสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ ที่กรุณามอบข้อมูลเสียงสัมภาษณ์จ่าสิบเอกประเวศ แก้วอ่อน ที่สัมภาษณ์ไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประกอบในการเขียนครั้งนี้]

เชิงอรรถ
[1] นายสำรวม แก้วอ่อน [2456-2504] คนจังหวัดราชบุรี บุตรนายบ่าย และนางพริ้ง แก้วอ่อน มีน้องชายแท้ๆ ชื่อนายวงษ์ ศิษย์เรียนรู้ดนตรีปี่พาทย์จากสำนักครูเท สุขนันท์ นอกจากเป็นเจ้าของวงปี่พาทย์คณะ ‘รวมบรรเลง’ ยังร่วมวงบรรเลงปี่พาทย์กับอีกหลายวงดนตรีในย่านใกล้เคียง ไม่ว่าเป็นวงปี่พาทย์คณะครูเท สุขนันท์ คณะนายแย่ง ทางมีศรี และคณะนายพริ้ง นักปี่ นายสำรวมถือเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสำคัญต่อกิจกรรมร้องรำทำเพลงในลุ่มแม่น้ำแม่กลองอีกท่านหนึ่ง มีความสนิทสนมผูกพันเป็นอันดีทั้งด้านชีวิตส่วนตัวและด้านดนตรีกับครูรวม พรหมบุรี นายวงษ์ รวมสุข นายแย่ง ทางมีศรี ครูย้อย เกิดมงคล และนายแก้ว คลองดำเนินสะดวก [หรือที่คนย่านนั้นเรียกติดปากว่า ก๋งแก้ว]

[2] นางอาบ แก้วอ่อน [2460-2543] คนจังหวัดสมุทรสงคราม บุตรีนายปาน จันทร์เถื่อน และนางเขียน จิตตกรดำรงค์ [สุวรรณ] มีความรู้ความสามารถด้านการขับร้องเพลงไทย โดยเฉพาะเรียนเชิดหุ่นกระบอกจากนายวงษ์ รวมสุข ต่อมาเป็นผู้สืบทอดหุ่นกระบอกคณะ ‘ชูเชิดชำนาญศิลป์’ ต่อจากนายวงษ์ญาติผู้ใหญ่ นางอาบมีพี่ชายและน้องชายแท้ๆ ชื่อนายเอื้อนและนายจรูญ นายเอื้อน [เกิดปีจอ พ.ศ. 2453] มีความรู้ความชำนาญด้านงานช่างศิลป์ไทย ได้รับฉายา ‘เอื้อนเกาะศิลป์’ มีผลงานเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์หลายแห่งในจังหวัดสมุทรสงคราม ไม่ว่าเป็นที่วัดเจริญสุขาราม หรือวัดบางเกาะเทพศักดิ์ มีความสามารถแกะสลักไม้บานประตูโบสถ์และเครื่องดนตรีปี่พาทย์ ผลงานคือแกะรางระนาดทุ้ม รางระนาดเอกเหล็กและรางระนาดทุ้มเหล็ก กระจังโหม่งพร้อมเปิงมางคอก ให้กับวงปี่พาทย์คณะรวมบรรเลง ส่วนนายจรูญ [2462-2536] มีความสามารถในการบรรเลงฆ้องมอญได้เป็นอย่างดี โดยเรียนรู้จากครูใจ และศึกษามือฆ้องและเพลงมอญโดยตรงจากนายสมพงษ์ ดนตรีเจริญ บุตรชายครูสุ่ม ดนตรีเจริญ

[3] ครูเท สุขนันท์ [2429-] คนจังหวัดสมุทรสงคราม บุตรนายจันทร์ [ไม่สามารถสืบค้นชื่อมารดาได้] ศิษย์เรียนรู้ดนตรีปี่พาทย์จากสำนักครูปาน นิลวงศ์ ครูเทเป็นคนกว้างขวางในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม เพราะนอกจากเป็นครูใหญ่เจ้าของสำนักปี่พาทย์และแตรวงที่มีชื่อเสียงย่านวัดปากน้ำ อำเภออัมพวา ยังดำรงตำแหน่งด้านสังคมเป็นผู้ใหญ่บ้าน ศิษย์คนสำคัญของนายเทที่มีชีวิตร่วมสมัยถึงปัจจุบันได้แก่ ครูอ่วน หนูแก้ว โดยเฉพาะได้รับถ่ายทอดทางเพลงสำนักครูปาน นิลวงศ์ จากนายเทเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าเป็นเพลงเรื่องมาลีหวน เก๊กเหม็ง เถา หรือเขมรน้อย เถา

[4] ครูรวม พรหมบุรี [2455-2529] คนจังหวัดราชบุรี บุตรนายเลื่อน และนางตี้ พรหมบุรี มีความสามารถบรรเลงเครื่องดนตรีปี่พาทย์ได้รอบวงโดยเฉพาะระนาดเอก เป็นครูใหญ่สำนักปี่พาทย์จังหวัดราชบุรีที่มีชื่อเสียงมากวงหนึ่ง ครูหลวงประดิษฐไพเราะ [ศร ศิลปบรรเลง] ตั้งชื่อวงปี่พาทย์ให้ว่า คณะ ‘รวมศิษย์บรรเลง’ ครูรวมเป็นอีกท่านหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อกิจกรรมร้องรำทำเพลงในลุ่มแม่น้ำแม่กลองร่วมกับนักดนตรีท่านอื่นๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกัน ศิษย์หลายคนของท่านได้สืบทอดทางเพลงปี่พาทย์และเป็นกำลังหลักให้แก่หลายหน่วยงานในแวดวงดนตรีไทยและของจังหวัดราชบุรีจนกระทั่งถึงปัจจุบัน [คัดข้อมูลจากหนังสือที่ระลึกงานเสด็จพระราชทานเพลิงศพนายรวม พรหมบุรี ณ เมรุวัดมหาธาตุวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529]

[5] นายวงษ์ รวมสุข [2451-2537] คนจังหวัดสมุทรสงคราม เจ้าของคณะหุ่นกระบอก ‘ชูเชิดชำนาญศิลป์’ บุตรนายสว่าง และนางสมบูรณ์ รวมสุข เรียนรู้วิชาเชิดหุ่นกระบอกจากครูเคลือบ [ไม่สามารถสืบค้นนามสกุลได้] และครูสาหร่าย ช่วยสมบูรณ์ มีความรู้ด้านเชิดหุ่นกระบอก ขับร้องเพลงไทย และดนตรีปี่พาทย์เป็นอย่างดี ได้รับรางวัลโล่เชิดชูเกียรติยศ ‘ศิลปินพื้นบ้านดีเด่นและผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม’ เป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสำคัญต่อกิจกรรมร้องรำทำเพลงในลุ่มแม่น้ำแม่กลองอีกท่านหนึ่ง บั้นปลายชีวิตได้บริหารจัดการวงปี่พาทย์คณะ ‘รวมบรรเลง’ หลังนายสำรวม แก้วอ่อน เสียชีวิต จนกระทั่งมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในแวดวงดนตรีไทย มีศิษย์ได้รับการสืบทอดต่อมาหลายท่าน อาทิ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต [ศิลปินแห่งชาติ] อาจารย์กรรณิการ์ แก้วอ่อน เป็นต้น [คัดข้อมูลจากหนังสือที่ระลึกงานเสด็จพระราชทานเพลิงศพ นายวงษ์ รวมสุข ณ เมรุวัดบางเกาะเทพศักดิ์ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540]

[6] ประกวดลิเกชิงถ้วยทองคำ จัดขึ้นในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2494 โดยจัดให้มีการประกวด ‘ลิเกต่อต้านคอมมิวนิสต์ชิงถ้วยทองคำ’ ที่สถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ คณะลิเกที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ คณะนายสุชิน เทวผลิน เรื่อง ‘ปฏิภาณกับความรู้’ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ คณะฉลาด เค้ามูลคดี และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ คณะดุริยพันธ์ [คัดข้อมูลจากหนังสือหมายเหตุดนตรี 5 รัชกาล] นอกจากนี้ยังมีคณะลิเกอื่นๆ เข้าร่วมประกวดในครั้งนั้นด้วย ได้แก่คณะศิษย์ครูเหนี่ยว ดุริยพันธ์ คณะตาล กิ่งเพชร คณะผูกมิตร น้อมจิต คณะศิษย์หอมหวล คณะบุญส่ง จารุวิจิตร คณะบุญสม ลูกอยุธยา คณะเชน เมืองทอง และคณะเกตุคงดำรงศิลป์

[7] นางทองห่อ เกิดมงคล คนจังหวัดราชบุรี บุตรีนางละไม โต้โผคณะละครชาตรีอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และบุตรบุญธรรมครูย้อย เกิดมงคล นักดนตรีไทยที่มีฝีมือและความรู้มากอีกท่านหนึ่งของจังหวัดราชบุรี สามารถบรรเลงได้ทั้งเครื่องสายและเครื่องดนตรีปี่พาทย์ นางทองห่อเป็นนักร้องเพลงไทยและขับร้องหุ่นกระบอกให้กับวงปี่พาทย์คณะ ‘รวมบรรเลง’ ร่วมกับนายสำรวม นางอาบ แก้วอ่อน นายวงษ์ รวมสุข นางประชิต รอดภัย และขับร้องเพลงไทยให้กับวงปี่พาทย์คณะ ‘รวมศิษย์บรรเลง’ สำนักครูรวม พรหมบุรี จังหวัดราชบุรี โดยเป็นนักร้องรุ่นหลังรองจากนายละเอียด เผยเผ่าเย็น และนายตวง จันทร์สว่าง ครูอ่วน หนูแก้ว เล่าถึงนางห่อทอง ว่า “ครูย้อย เกิดมงคล แกเป็นคนฉลาด นี่พ่อรวม พรหมบุรี เล่าให้ฟัง แกบอกทองห่อเสียงร้องไม่ดี แต่ครูย้อยแกกลั่นความรู้ออกมาจากสมอง แกหาวิธีเปลี่ยนทางร้อง สอนให้ทองห่อร้องลัดลงต่ำ ไม่ต้องขึ้นสูง ร้องแล้วฟังดีด้วย ไม่เกะกะ”

[8] ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต [2471-2555] คนกรุงเทพมหานคร อดีตหัวหน้างานบันเทิงดนตรีไทย ฝ่ายกระจายเสียงในประเทศ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ และหัวหน้าวงดนตรีคณะดุริยประณีต บุตรีนายศุข และนางแถม ดุริยประณีต เรียนรู้การขับร้องเพลงไทยและดนตรีปี่พาทย์จากครอบครัว เป็นผู้หนึ่งที่มีความรู้ด้านดนตรีไทยอย่างลึกซึ้งและสามารถถ่ายทอดแบบแผนการขับร้องได้เป็นอย่างดี เป็นกำลังสำคัญในการสร้างชื่อเสียงให้แก่วงดนตรีไทยของครอบครัวและกรมประชาสัมพันธ์ โดยจัดรายการเพลงไทยทางวิทยุ ชื่อ ‘รื่นรสดนตรีไทย’ และกิจกรรมอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง [คีตศิลป์] เมื่อ พ.ศ. 2536 [คัดข้อมูลจากหนังสือที่ระลึกงานเสด็จพระราชทานเพลิงศพ นางสุดจิตต์ ดุริยประณีต ณ เมรุวัดตรีทศเทพวรวิหาร วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2556]

[9] ครูณรงค์ต่อเพลงอะแซหวุ่นกี้ เถา จากครูจันทนา พิจิตคุรุการ [2454-2524] ที่ชั้น 2 อาคารหอประชุมครุสภา ซึ่งขณะนั้นเปิดสอนดนตรีไทยให้แก่ครูดนตรีจากโรงเรียนต่างๆ เป็นประจำทุกเย็นวันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันศุกร์ นอกจากนี้ ครูณรงค์ยังได้ต่อทางขับร้องเพลงต่างๆ ของครูหลวงประดิษฐไพเราะ [ศร ศิลปบรรเลง] จากครูจันทนาเพิ่มเติมต่อมาอีกหลายเพลงอีกด้วย

[10] ได้มีโอกาสร่วมงานบรรเลงและขับร้องกับครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล พระยาภูมีเสวิน [จิตร จิตตเสวี] หลวงไพเราะเสียงซอ [อุ่น ดุริยชีวิน] และมีโอกาสทำความรู้จักกับนักดนตรีชั้นผู้ใหญ่หลายท่าน ไม่ว่าเป็นนายจำนงราชกิจ [จรัล บุณยรัตพันธุ์] ครูแสวง อภัยวงศ์ ครูโองการ กลีบชื่น ครูบรรเลง สาคริก คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง

[11] ควบคุมการบรรเลงและขับร้องโดยครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต นอกจากนี้ยังประกอบด้วยนักดนตรีไทยอีกหลายท่าน ไม่ว่าเป็นครูสุรางค์ ดุริยพันธ์ ครูดวงเนตร ดุริยพันธ์ ครูแช่มช้อย ดุริยพันธ์ ครูสุดา เขียววิจิตร ครูอัมพร โสวัตร ครูอุไร สินแก้ว ครูเกสร เอนอ่อน ครูณรงค์ แสงหาญ ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ครูสมบัติ สังเวียนทอง ครูศิริ วิชเวช ครูสมชาย ทับพร และศิลปินนักแสดงตลกจากกรมศิลปากร

[12] บัตรสนเท่ห์ฉบับดังกล่าวถูกไฟเผาไปพร้อมๆ กับเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่กรมประชาสัมพันธ์ ถนนราชดำเนิน [ที่ตั้งเก่า] เมื่อปี พ.ศ. 2516

[13] ละครนอก ละครร้อง และนิทานวรรณคดี ไม่ว่าเป็นเรื่องพระรถเมรี แก้วหน้าม้า สุวรรณหงส์ ระเด่นลันได สิงหลกะ นางไม้ ปทุมสุริยวงศ์ สังข์ทอง พระยากงพระยาพาน กำเนิดพระร่วง ไตรภูมิพระร่วง นางผมหอม ราชาธิราช สามก๊ก มัทนะพาธา เงาะป่า เลือดสุพรรณ สร้อยดอกหมาก ปลาบู่ทอง เจ้าหญิงแสนหวี ตุ๊กตายอดรัก สาวเครือฟ้า พระลอ เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน และนิทานอีสป เป็นต้น

[14] นักร้องและนักดนตรีแผนกดนตรีไทย กรมประชาสัมพันธ์ ไม่ว่าเป็นครูคงศักดิ์ คำศิริ ครูสมาน ทองสุโชติ ครูจำเนียร ศรีไทยพันธ์ ครูระตี วิเศษสุรการ ครูฉลวย จิยะจันทร์ ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ครูราศี พุ่มทองสุข ครูเมธา หมู่เย็น ครูช้องมาศ สุนทรวาทิน ครูบุญยงค์ เกตุคง ครูประสงค์ พิณพาทย์ ครูสมพงศ์ นุชพิจารณ์ ครูทัศนีย์ ดุริยประณีต ครูบุบผา คำศิริ ครูศิริ นักดนตรี ครูดวงจันทร์ นักดนตรี ครูนิพันธ์ ธนรักษ์ ครูชยุดี วสวานนท์ ครูดลฤดี เขียววิจิตร ครูพจนีย์ รุ่งเรือง ครูชัยพร ทับพวาธินท์ ครูสืบศักดิ์ ดุริยประณีต ครูทัศนัย พิณพาทย์ ครูปรีดา อรรถกฤษณ์ ครูทะเบียน มาลัยเล็ก ครูเทียมเทพ บุญจำเริญ รองศาสตราจารย์สุรพล สุวรรณ

[15] ชื่องาน ‘ของดีบ้านฉัน อำเภอบางใหญ่’ ระหว่างวันที่ 3-7 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ณ ลานเทศบาลตำบลบางใหญ่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี จัดประชันปี่พาทย์ 3 วงดนตรี ได้แก่ วงปี่พาทย์คณะศิษย์ครูกาหลง พึ่งทองคำ คณะศิษย์ครูสกล แก้วเพ็ญกาศ และคณะศิษย์ครูเฉลิม บัวทั่ง โดยครูณรงค์ขับร้องหลายเพลงให้กับวงคณะศิษย์ครูเฉลิม บัวทั่ง ได้แก่ เพลงแขกลพบุรี เถา [ทางถอด] เพลงแขกเชิญเจ้า เถา และเพลงหงส์ทอง เถา [ทางวอลซ์]

เอกสารอ้างอิง
หทัยชนก คงสว่าง. 2551. ชีวประวัติอาจารย์ณรงค์ (แก้วอ่อน) รวมบรรเลง. สารนิพนธ์ สาขาวิชาดนตรีไทย ภาควิชาศิลปนิเทศ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
สุพจน์ โตสง่า. 2537. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสุพจน์ โตสง่า 12 พฤษภาคม 2537. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ดอกเบี้ย.
สุดจิตต์ ดุริยประณีต. 2556. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางสุดจิตต์ ดุริยประณีต 2 มิถุนายน 2556. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์นานาสิ่งพิมพ์.
วงษ์ รวมสุข. 2540. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายวงษ์ รวมสุข 8 กุมภาพันธ์ 2540. ราชบุรี: โรงพิมพ์ธรรมรักษ์.
รวม พรหมบุรี. 2529. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายรวม พรหมบุรี 9 พฤศจิกายน 2529. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์.
พูนพิศ อมาตยกุล และคณะ. 2549. จดหมายเหตุดนตรี ๕ รัชกาล. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เดือนตุลา.

สัมภาษณ์
ส.อ.อ่วน หนูเเก้ว [อายุ 84 ปี]. สัมภาษณ์. 1 มกราคม 2559
พุ่ม เผยเผ่าเย็น [อายุ 78 ปี]. สัมภาษณ์. 2 มกราคม 2559
รศ.สุรพล สุวรรณ [อายุ 48 ปี]. สัมภาษณ์. 6 มกราคม 2559
อนันต์ชัย เเมรา [53 ปี]. สัมภาษณ์. 17 มกราคม 2559
ร.อ.สัมพันธ์ เเก้วอ่อน [อายุ 55 ปี]. สัมภาษณ์. 20 มกราคม 2559
ทะเบียน มาลัยเล็ก [อายุ 69 ปี]. สัมภาษณ์. 21 มกราคม 2559
สมชาย ทับพร [อายุ 68 ปี]. สัมภาษณ์. 26 มกราคม 2559
สมศักดิ์ ไตรย์วาสน์ [อายุ 71 ปี]. สัมภาษณ์. 26 มกราคม 2559
ร.ต.ภาณุวัฒน์ ไม้ทองงาม [อายุ 66 ปี]. สัมภาษณ์. 20 กุมภาพันธ์ 2559
ประสงค์ แก้วอ่อน [อายุ 69 ปี]. สัมภาษณ์. 21 กุมภาพันธ์ 2559

118042559

ณรงค์ แก้วอ่อน [รวมบรรเลง] เมื่อครั้งแรกเริ่มร่วมงานกับวงดนตรีไทยกรมประชาสัมพันธ์ [จากซ้าย] ครูเขมา ชัยโสตถิ์ ซอด้วง ครูเมธา หมู่เย็น ระนาดเอก ครูณรงค์ แก้วอ่อน ขับร้อง ครูสมาน ทองสุโชติ ฆ้องวง ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ขับร้อง ครูฉลวย จิยะจันทร์ ซออู้

6

ณรงค์ เเก้วอ่อน [รวมบรรเลง] ร้องส่งวงปี่พาทย์ ครูประสงค์ พิณพาทย์ ตีระนาดเอก เพลงแขกไทร เถา บรรเลงถวายมือในงานพิธีไหว้ครูของสมาคมสงเคราะห์สหายศิลปิน วัดพระพิเรนทร์ วรจักร กรุงเทพฯ [คุณเสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ เอื้อเฟื้อภาพ]

4

ณรงค์ แก้วอ่อน [รวมบรรเลง] กับชยุดี วสวานนท์

DSC_1946(1)

นักร้องชายในงาน “การเเสดงดนตรีไทยโดยครูอาวุโสเเห่งกรุงรัตนโกสินทร์” วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558 จากซ้าย ศิริ วิชเวช [ศิลปินเเห่งชาติ] นฤพนธ์ ดุริยพันธุ์ ณรงค์ เเก้วอ่อน สมชาย ทับพร [คุณอักษรชนนีเอื้อเฟื้อภาพ]

Comment

  1. ขอบพระคุณครับ สำหรับเรื่องเล่า ชีวประวัติของบุคคลสำคัญเช่นนี้ มีประโยชน์ต้อผู้อ่านมาก ๆ ครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *