ปี่พาทย์ท่าหลวงครอบครัว ‘ลัดดาอ่อน’ ทายาททางเพลงปี่พาทย์ ‘บ้านบาตร’

ปี่พาทย์ท่าหลวงครอบครัว ‘ลัดดาอ่อน’
ทายาททางเพลงปี่พาทย์ ‘บ้านบาตร’ [1]

พิชชาณัฐ ตู้จินดา
[อาจารย์ประจำวิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา]

“วงปี่พาทย์ท่าหลวง” แหล่งชุมนุมชนคนดนตรีมีบทบาทขับเคลื่อนกิจกรรมร้องรำทำเพลงแห่งลุ่มแม่น้ำป่าสัก ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กว้างขวางถึงเขตรอยต่อจังหวัดสระบุรีและจังหวัดลพบุรี เป็นหลักศูนย์กลางความรู้เพลงดนตรีที่สำคัญของชุมชนโดยรอบ เพราะมีความสัมพันธ์กับครูเพลงปี่พาทย์หลายท่านในกรุงเทพฯ ในหลายช่วงเวลา ความรู้เพลงดนตรีจึงถูกผ่องถ่ายพร้อมการเคลื่อนย้ายไปมาของผู้คน ด้วยเป็นวงปี่พาทย์บรรเลงวัดไก่จ้นและตั้งบ้านเรือนอยู่หน้าวัด จึงเรียกติดปากเป็นที่รู้จักอีกชื่อว่า “วงปี่พาทย์วัดไก่จ้น”

วัตถุพยานและข้อความเอกสารเก่า ได้แก่ภาพถ่ายบุคคลหนึ่งในบรรพบุรุษต้นตระกูล “ลัดดาอ่อน” [2] ร่วมสมัยผู้ก่อตั้งวงปี่พาทย์ท่าหลวง ใต้ภาพเขียนชื่อบอกสกุล “นางเชย ละดาอ่อน” ปีเกิด พ.ศ. 2406 ปีเสียชีวิต พ.ศ. 2479 และความเป็นมาวงปี่พาทย์ท่าหลวงบันทึกแทรกส่วนต้นในอนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพพระครูวรดิตถ์คณารักษ์ (สนั่น พฺรหฺมสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดไก่จ้น เจ้าคณะอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตีพิมพ์ พ.ศ. 2526 [3] แม้เป็นหลักฐานส่วนน้อยที่หลงเหลือถึงปัจจุบัน หากแต่ทำให้เค้าลางภาพความเป็นมาวงปี่พาทย์ท่าหลวงเริ่มปรากฏชัด นอกเหนือเรื่องราวเรื่องเล่าความทรงจำคำบอกจากปากบุคคลร่วมสมัย

ตั้งต้นที่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สามีภรรยาครอบครัวลัดดาอ่อน คือ นายว่าวนางเชย ใช้ชีวิตอาศัยบนเรือนแพร่วมกับชุมชนชาวแพริมแม่น้ำป่าสักหน้าวัดไก่จ้น นายว่าวเป็นโต้โผนายวงปี่พาทย์ร่วมกับเครือญาติ คือ นายโหมด ทั้งค้าขายสินค้าและกว้างขวางในสังคมเพราะดำรงตำแหน่งกำนัน นายว่าวนางเชยมีบุตรธิดา 2 คน คือ นางเหลือ (จูฑะศรี) นายคร้าม ลัดดาอ่อน ที่ทั้งคู่สมรสกับคนบนบกบนชุมชนวัดไก่จ้นก่อนขึ้นตั้งหลักแหล่งบ้านเรือน ลูกหลานนางเหลือ (จูฑะศรี) ทำงานภาครัฐรับราชการครู ลูกหลานนายคร้ามสืบทอดความรู้วิชาชีพดนตรีปี่พาทย์สืบเนื่องถึงปัจจุบัน [4]

จากคำเล่าเหตุการณ์ประชันปี่พาทย์ที่ศาลาวัดหัวหิน ตำบลท่าหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างนายคร้ามกับนายพร้อม บูรณพิมพ์ [5] นายวงปี่พาทย์ตำบลม่วงงาม อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ศิษย์ครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ที่ภายหลังงานประชัน ครูหลวงประดิษฐไพเราะซึ่งอยู่ร่วมเหตุการณ์ได้กล่าวกับนายพร้อม ว่า “มึงตีระนาดสู้นายคร้ามไม่ได้” [6] แน่นอนว่านายคร้ามต้องเรียนรู้ฝึกฝนฝีมือเครื่องดนตรีปี่พาทย์จากนายว่าว (บิดา) จึงเป็นไปได้ที่นายว่าวและวงปี่พาทย์ท่าหลวงสมัยนั้นต้องมีความรู้ความสามารถในระดับที่ไม่ใช่วงปี่พาทย์หากินธรรมดาทั่วไป

นายคร้ามเป็นผู้ทรงอิทธิพลการเมืองท้องถิ่นในสังคมตำบลท่าหลวง เพราะนอกจากเป็นนักดนตรีมีความรู้ฝีมือดีและเป็นโต้โผนายวงปี่พาทย์ประจำตำบล ยังดูแลสุขทุกข์ลูกบ้านโดยดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และด้วยบารมีนายว่าว (บิดา) อดีตกำนัน ทั้งแวดล้อมด้วยบริวารเครือญาติฝ่ายภรรยา คือ นางเยื้อน อินทโชติ ที่ต่างรับราชการมีตำแหน่งงานทางสังคม ครอบครัว “ลัดดาอ่อน” และ “อินทโชติ” จึงได้รับนับหน้าถือตาและยำเกรงจากผู้คนตำบลท่าหลวง

นายคร้ามนางเยื้อนมีบุตรธิดา 6 คน คนแรกเป็นหญิงไม่ทราบชื่อเพราะถึงแก่กรรมตั้งแต่เด็ก นายสนิท นายแกละ นายเสน่ห์ นางเสนียม (กระทุ่มเขตต์) นายเสนอ แม้นายคร้ามมีชีวิตถึงช่วง พ.ศ. 2478 หากแต่ได้ปลูกฝังวางรากฐานเพลงดนตรีปี่พาทย์ให้แก่บุตรชายทั้งสอง คือ นายสนิทและนายเสน่ห์ ไว้อย่างมั่นคง ทั้งสร้างเครื่องดนตรีปี่พาทย์เพิ่มเติมจากมรดกเดิมบิดา (วงปี่พาทย์ไทยเครื่องคู่) โดยใช้ช่างชาวจีนนำเหล็กสร้างเขื่อนพระราม 6 มาตัดเจียรทำลูกระนาดเอกเหล็กทุ้มเหล็ก [7] เข้าผสมวง

โดยเฉพาะร่วมรู้เห็นเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่ส่งผลสำคัญต่อวงปี่พาทย์ท่าหลวง คือการเสด็จฯ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทำพิธีเปิดเขื่อนพระราม 6 ณ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 [8] ซึ่งครูหลวงประดิษฐไพเราะตามเสด็จฯ ครั้งนั้นด้วย เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างครูหลวงประดิษฐไพเราะกับนักดนตรีวงปี่พาทย์ท่าหลวง ที่ต่อมานายสนิท (บุตรคนโตนายคร้าม) ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ฝากตัวเป็นศิษย์เรียนรู้ทางเพลงปี่พาทย์สำนักบ้านบาตร ถือเป็นศิษย์รุ่นน้องนักปี่พาทย์หญิงจากตำบลม่วงงาม อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ที่เดินทางฝากตัวเป็นศิษย์สำนักเดียวกันในช่วงเวลาก่อนหน้า คือ นางทองสุก บูรณพิมพ์

แน่นอนว่า เหตุสำคัญที่นายคร้ามตัดสินใจส่งนายสนิทบุตรชายเข้ากรุงเทพฯ เป็นศิษย์เรียนสำนักบ้านบาตร เพราะต้องเกิดศรัทธาเลื่อมใสฝีมือบรรเลงระนาดเอกของครูหลวงประดิษฐไพเราะที่แสดงฝีมือต่อหน้าพระพักตร์รัชกาลที่ 6 และประชาชนชาวท่าหลวงในพิธีเปิดเขื่อนพระราม 6 ซึ่งนายคร้ามอาจมีโอกาสต้อนรับทำความรู้จักครูหลวงประดิษฐไพเราะ ในฐานะตนเป็นนักดนตรีปี่พาทย์และมีบทบาททางสังคมในตำบลท่าหลวง หรืออาจได้จัดวงดนตรีร่วมบรรเลงมหรสพสมโภชเขื่อนพระราม 6 ด้วย เพราะเป็นวงดนตรีในพื้นที่

คำนวณจากคำเล่านางเฉลียว สุวัจนานนท์ ภรรยานายสนิทที่ว่า “พี่สนิทเข้ากรุงเทพฯ ช่วงแรก แกไปอยู่กับครูทองต่อ (เรืออากาศเอกโองการ กลีบชื่น) ช่วงครูทองต่อบวชพระที่วัดสุทัศน์ เสาชิงช้า เพราะพี่สนิทมีหน้าที่ส่งปิ่นโตอาหารถวายพระต่อทุกวัน” เป็นไปได้ที่นายสนิทเดินทางเข้ากรุงเทพฯ สู่สำนักเรียนปี่พาทย์บ้านบาตรครั้งแรกช่วง พ.ศ. 2475 [9] (นายสนิทมีอายุ 13 ปี) โดยพักอาศัยกับครอบครัวของเรืออากาศเอกโองการ กลีบชื่น ซึ่งสอดคล้องกับทรงจำของนายเสนอที่เคยเล่าว่า นายสนิท (พี่ชาย) ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ ช่วงแรกเป็นเวลา 2 ปีเศษ [10] เพราะ พ.ศ. 2478 นายคร้ามถึงแก่กรรมกะทันหัน [11] นายสนิทจึงเดินทางกลับบ้านท่าหลวงเพื่อช่วยครอบครัวดูแลกิจการดนตรีปี่พาทย์ระยะหนึ่ง

นางเฉลียว สุวัจนานนท์ เล่าต่อ “สมัยก่อนพี่สนิทชื่อ ‘ขันทอง’ เพราะลูกผู้หญิงคนแรกของพ่อคร้ามแม่เยื้อนเสียชีวิต มีคนบอกว่าเขามีลูกยาก เลี้ยงยาก พอพี่สนิทเกิดหลังจากพี่สาวแกเสีย แม่เยื้อนก็เอาขันลงหินใบใหญ่ครอบเป็นเคล็ด ให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง เพื่อนๆ ที่กรุงเทพฯ ยังเรียก ‘ไอ้ขันทอง’ แต่คุณครูหลวงประดิษฐไพเราะท่านเรียก ‘ไอ้แหลม’ อยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่นั่งตีระนาดเอกไม่ถึง ต้องใช้ม้าไม้รองนั่ง เข้าไปเรียนกับคุณครูหลวงประดิษฐฯ แกยังคุยให้ย่าฟังว่า แกนอนอยู่ในมุ้ง คุณครูหลวงประดิษฐฯ ท่านต่อเพลงให้ลูกศิษย์อยู่ข้างนอก ต่อเท่าไหร่ลูกศิษย์พวกนั้นก็จำไม่ได้ คุณครูหลวงประดิษฐฯ ท่านว่า ‘ต่อให้สามสี่รอบจำไม่ได้ ไอ้แหลมนอนอยู่ในมุ้งมันเอาไปกินหมด’”

การที่นายสนิทเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ฝากตัวเป็นศิษย์เรียนรู้ทางเพลงปี่พาทย์จากสำนักบ้านบาตรของครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้สำเร็จ เพราะความคุ้นเคยของคนตระกูล “ลัดดาอ่อน” “บูรณพิมพ์” และ “กลีบชื่น” ที่มีพื้นฐานความสัมพันธ์ต่างช่วงเวลาในอดีต โดยเฉพาะนายคร้ามที่มักคุ้นอย่างดีกับกลุ่มนักดนตรีปี่พาทย์ตำบลม่วงงาม อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ที่ตั้งสำนักปี่พาทย์ตระกูล “บูรณพิมพ์” ของนายโหมดนางไข่ ซึ่งนางทองสุก บูรณพิมพ์ [12] (หลานสาวนายโหมดนางไข่) ฝากตัวเป็นศิษย์ครูหลวงประดิษฐไพเราะและต่อมาได้สมรสกับเรืออากาศเอกโองการ กลีบชื่น ตั้งหลักแหล่งครอบครัวอยู่บ้านถนนกะออม-นครสวรรค์ กรุงเทพฯ ทั้งนายคร้ามยังเป็นมิตรสนิทสนมกับนายขำ กลีบชื่น (บิดาของเรืออากาศเอกโองการ กลีบชื่น) ตั้งแต่ตนมีโอกาสเดินทางไปร่วมงานพิธีไหว้ครูสำนักบ้านบาตรหลังเหตุการณ์เปิดเขื่อนพระราม 6

นายสนิทจึงได้รับดูแลจากครอบครัวกลีบชื่นและนางทองสุก บูรณพิมพ์ เป็นอย่างดีตลอดการพำนักใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ แม้หลัง พ.ศ. 2488 เรืออากาศเอกโองการสมรสและย้ายครอบครัวไปอยู่กับภรรยาอีกท่านหนึ่ง คือ นางเพลินพิศ พลางกูร หากแต่ความสัมพันธ์กับคนตระกูลลัดดาอ่อนยังคงมีมาอย่างสืบเนื่อง โดยเฉพาะครอบครัวกลีบชื่นที่มีกิจการซ่อมสร้างแลกเปลี่ยนเครื่องดนตรีไทยแหล่งสำคัญในกรุงเทพฯ ทั้งนายขำ กลีบชื่น ยังทำหน้าที่คนกลองบรรเลงปี่พาทย์รับร้องละครคณะแม่ครูพิน นายสนิทจึงมีโอกาสเรียนรู้งานช่างเครื่องดนตรีไทยและซึมซับประสบการณ์ภาคสนามปี่พาทย์รับร้องละครที่ต่อมาเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงปี่พาทย์ท่าหลวงของครอบครัว [13]

นางอรพินธุ์ (แจ้งจรัส) [14] เล่า “บ้านถนนกระออม-นครสวรรค์ เป็นจุดศูนย์รวมนักดนตรีปี่พาทย์จากหลายที่หลายจังหวัด ปัจจุบันคือที่ตั้งกระทรวงคมนาคม ตรงนั้นจะมีร้านค้าเล็กๆ สมัยก่อนบ้านปู่ดิฉันตั้งอยู่ตรงนั้น อาสนิทเข้ากรุงเทพฯ ก็มาพักอยู่ด้วยกันที่บ้านหลังนี้ เพราะศิษย์คุณพ่อดิฉันเยอะ มาพักแต่ละครั้งเป็นเดือนๆ โดยเฉพาะอาสนิทเป็นคนระนาดเอกให้คุณพ่อเวลามีประชันวงที่บ้านบาตร แกอยู่กับคุณพ่อก่อนที่จะเข้าไปเรียนกับคุณครูหลวงประดิษฐฯ ปรับไม้ปรับมือให้เข้าที่เข้าทางก่อนจะไปเรียนกับคุณครูฯ จำได้แม่นมากว่า คุณพ่อปรับวงเพลงนารายณ์แปลงรูปไปประชัน ใครไม่ทราบตีไม่ถูกใจท่าน ท่านดุขึ้นมาดังสุดเสียง

“งานประชันวงปี่พาทย์ที่บ้านบาตรทุกครั้งสนุกมาก เพราะคุณปู่กับคุณแม่เป็นคนคุมโรงครัว นักดนตรีปี่พาทย์แห่กันมานอนพักที่บ้านถนนกระออมของปู่ขำ เหมือนที่นี่เป็นที่รองรับแขกเวลาบ้านบาตรมีงาน ถ้าอาสนิทตีระนาดเอก คนตีระนาดทุ้มคือจ่าพิน ป่านกลั่น [15] กับนักดนตรีอีกคนจากอ่างทอง ชื่อนายสำริด อาสนิทเป็นลูกศิษย์รักของพ่อ ตีระนาดเอกไหวแล้วเสียงโต ดุ ลูกศิษย์จากสายอยุธยาสามคนพี่น้อง คืออาสนิท อาเสน่ห์ อาเสนอ ครอบครัวดิฉันจำได้แม่นมาก หลังจากคุณพ่อมีครอบครัวใหม่อาสนิทก็เริ่มห่าง แต่อาเสน่ห์กับอาเสนอยังเข้ามาต่อเพลงซ้อมเพลงกับคุณแม่เป็นครั้งคราว”

นายสมชาย ลัดดาอ่อน [16] เล่าเสริม “เคยถามเดี่ยวฆ้องลุงสนิทว่าต่อจากใคร แกว่าใครไม่รู้มาต่อกับครูโองการอยู่บนบ้าน แกนั่งฟังลักจำอยู่ข้างล่างได้มาทั้งเดี่ยว พี่ศักดิ์ชัย (นายศักดิ์ชัย ลัดดาอ่อน) ยังคุยให้ฟังว่า ลุงตีระนาดถวายมือประชันที่บ้านบาตร ระนาดรางอื่นตีไม่เท่าไหร่แรงตก ลุงสนิทยิ่งดึกยิ่งแรงดี นี่ครูโองการเล่าให้ฟังต่อมา สมัยเด็กผมยังเคยตามลุงสนิทลุงเสน่ห์ไปไหว้ครูบ้านครูโองการ มีอยู่ปีหนึ่งที่พระองค์ชายกลาง (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร) เสด็จเป็นประธานพิธี เสร็จไหว้ครูแล้วครูละมูล เผือกทองคำ ยังเดี่ยวระนาดเอกถวาย รู้แต่ว่าตีไหวสุดยอดมาก ผมลงบันไดบ้านครูต่อยังเจอติ๊ก (นายทัศนัย พิณพาทย์) แอบฟังครูละมูลเดี่ยวอยู่ริมรั้วบ้านเลย”

การฝากตัวเป็นศิษย์สำนักบ้านบาตรและตระกูลกลีบชื่นของนายสนิท ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของวงปี่พาทย์ท่าหลวงที่แต่เดิมใช้ทางบรรเลงปี่พาทย์สืบทอดในตระกูลโดยไม่อิงสำนักใด หันมายึดถือแนวทางบรรเลงทางเพลงครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) แม้วงปี่พาทย์ท่าหลวงช่วงแรกชีวิตสามเสือพี่น้อง “ส.ลัดดาอ่อน” คือ นายสนิท [17] นายเสน่ห์ [18] นายเสนอ [19] ความเคลื่อนไหวต่อสังคมขณะนั้นยังไม่กว้างขวางครอบคลุมอำเภอท่าเรือและจังหวัดใกล้เคียง เพราะความสัมพันธ์ผู้คนอยู่ระดับชุมชุนโดยมีวัดไก่จ้นและวัดสะตือเป็นศูนย์กลาง แต่เป็นที่กล่าวขวัญถึงหลักความรู้ความสามารถที่นายสนิทบ่มเพาะต่อยอดประสบการณ์จากกรุงเทพฯ ทั้งต่อมาโองการไหว้ครูสายครูหลวงประดิษฐไพเราะยังตกแก่วงปี่พาทย์ท่าหลวงผ่านการรับมอบจากเรืออากาศเอกโองการ กลีบชื่น อีกด้วย

นายชนินทร์ ลัดดาอ่อน [20] เล่า “สมัยก่อนวงท่าหลวงทำปี่พาทย์ประจำย่านนี้ ลิเกละครจากที่ไหนก็ต้องใช้วงที่นี่ เพราะลิเกเขามาแต่ตัว ไปเล่นที่ไหนก็หาวงปี่พาทย์เอาที่นั่น เป็นมารยาทไม่ก้าวก่ายกัน วงท่าหลวงสมัยลุงสนิทลุงเสน่ห์เขาแน่น พูดได้ว่าล้มยาก ประเภทรับลิเกละครโขนวงอื่นไม่มีทางได้กิน ถ้าลิเกกับปี่พาทย์ไม่คุ้นกันต้องระวัง ลุงสนิทชอบแกล้ง ตีๆ ไปบางทีหยุดตีเอาดื้อๆ ลิเกยืนงงกันทั้งโรงก็เคยมาแล้ว เป็นมุกตลกเพื่อให้คนดูสนุก

“ถ้าปี่พาทย์ต่างถิ่นมารับงานตัดหน้า พูดง่ายๆ ว่าล้ำที่ทำกิน หัวแตกกลับไปก็มี ปี่พาทย์กำลังรับลิเกนี่เราแหวกวงไปตีหัวเขาเลย คล้ายว่าย่านนี้เราคุม เพราะสมัยก่อนนักเลงเยอะ ฉะนั้นถ้าวงท่าหลวงไปทำที่ไหน วางใจได้ว่างานนั้นเรียบร้อยนักเลงไม่กล้า ลิเกละครที่เล่นกันบ่อยๆ มีเกตุดำรงศิลป์ของพร ภิรมย์ คุณ ป. แล้วก็จำรูญศิษย์คุณ ป. ละครจากบางปลากด อ่างทอง มาไกลจากเพชรบุรีก็มี แต่ที่ทำจนคุ้นที่วัดสะตือคือลิเก ‘แม่เยื้อนแสงทอง’ บ้านท่างาม ลูกสาวชื่อลิ้นจี่เป็นนางเอก ถึงมีคำคล้องจอง ‘ปี่พาทย์นายเสน่ย์ ลิเกแม่เยื้อน’”

นักดนตรีวงปี่พาทย์ท่าหลวงเป็นศิษย์ถ่ายทอดทางเพลงจากนายสนิท นายเสน่ห์ นายเสนอ ลัดดาอ่อน ทั้งวง ต่อมาต่างเติบโตเป็นหลักความรู้และนักดนตรีฝีมือดีทำงานกับวงดนตรีไทยหน่วยงานรัฐและเอกชน โดยเฉพาะ พ.ศ. 2505 ที่นายศักดิ์ชัย ลัดดาอ่อน (บุตรนายเสนอ) ฝากตัวเป็นศิษย์นายประสิทธิ์ ถาวร ที่วิทยาลัยนาฏศิลป กรุงเทพฯ ตามความตั้งใจของนายสนิทและเครือญาติ นอกจากเปิดโอกาสรู้จักนักเรียนดนตรีจากบ้านปี่พาทย์หลายสำนัก นัยยะหนึ่งยังสืบทอดและคงไว้ซึ่งความรู้ทางเพลงสำนักบ้านบาตรของครูหลวงประดิษฐไพเราะอีกด้วย เป็นการต่อยอดฐานความรู้เดิมของวงปี่พาทย์ท่าหลวงโดยทายาทรุ่นใหม่ในครอบครัว เพราะทราบกันดีว่านายประสิทธิ์ ถาวร เป็นศิษย์รักมีฝีมืออีกคนหนึ่งของสำนักบ้านบาตร

นายศักดิ์ชัย ลัดดาอ่อน [21] เล่า “ลุงสนิทต่อเดี่ยวเชิดนอกให้ผมตั้งแต่ก่อนเข้าวิทยาลัยนาฏศิลป กรุงเทพฯ ครูประสิทธิ์ยังเคยให้ตีออกงานครั้งหนึ่ง ตอนนั้นทั้งลุงสนิท ลุงเสน่ห์ แล้วก็พ่อพูดเป็นเสียงเดียวกัน ว่าให้ผมไปเรียนที่นั่นดีแล้ว ลุงสนิทเป็นคนพาผมไปฝากกับครูประสิทธิ์ด้วยตนเอง เพราะเขาสนิทสนมกันพอสมควร ครูให้เกียรติเรียกลุงว่า ‘พี่สนิท’ ตั้งแต่พบกันที่บ้านบาตร ผมเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลปต้องซ้อมหนักกับครูประสิทธิ์ทุกวัน ต่อเพลงกันข้ามปี นอกจากผมและน้องๆ ในครอบครัว ลูกศิษย์ของพ่อที่ท่าหลวงก็ยังรักษาแนวทางบรรเลงไว้ได้ส่วนหนึ่ง”

นายสมชาย ทับพร [22] อดีตเคยร่วมขับร้องกับวงปี่พาทย์ท่าหลวง เล่าให้ความเห็น “บ้านท่าหลวงเวลาเขาจะทำอะไรเขาทำเรียบร้อย ลึกซึ้งมีฝีมือ เป็นบ้านปี่พาทย์ที่รักษาทางบรรเลงของครูหลวงประดิษฐไพเราะเอาไว้ได้ดีมากบ้านหนึ่ง โดยรักษาศิลปะเก่าๆ เอาไว้ได้ ยกตัวอย่างให้ฟังอย่างนี้ดีกว่า ครูสนิท ลัดดาอ่อน ลุงของครูน้อย (นายศักดิ์ชัย ลัดดาอ่อน) มีชื่อเสียงขนาดครูหยด ศรีอยู่ ซึ่งเป็นพ่อของครูกาหลง พึ่งทองคำ เจ้าของวงปี่พาทย์ที่บางม่วงบางใหญ่รู้จัก ครูหยดแกอยู่ถึงจังหวัดนนทบุรี แต่รู้จักกันกับครูสนิทที่อยู่ถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นี่แสดงว่าคนสมัยก่อนเขาถึงกันทั้งชื่อชั้น ฝีมือ และความรู้”

ภาพและเสียงในทรงจำชาวบ้านนักดนตรีปี่พาทย์ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อฝีมือบรรเลงระนาดเอกมหรสพสมโภชของครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เมื่อ พ.ศ. 2467 ส่งผลให้ความรู้ความก้าวหน้าทางเพลงดนตรีปี่พาทย์จากสำนักบ้านบาตรถ่ายทอดสู่สำนักปี่พาทย์วงดนตรีน้อยใหญ่ในอำเภอท่าเรือและพื้นที่ใกล้เคียง ผ่านสามนักดนตรีไทยศิษย์ครูหลวงประดิษฐไพเราะสามช่วงระลอกเวลา คือ นางทองสุก บูรณพิมพ์ ในช่วง พ.ศ. 2468 นายสนิท ลัดดาอ่อน ใน พ.ศ. 2475 และนายประสิทธิ์ ถาวร จากตำบลท่าเจ้าสนุก ใน พ.ศ. 2477 ที่ทุกวันนี้ยังคงสืบทอดกระจายร้องเล่นโดยกลุ่มลูกศิษย์นายสนิทจากวงปี่พาทย์ท่าหลวงและกลุ่มลูกศิษย์นายประสิทธิ์ ถาวร จากวงปี่พาทย์นายทองพูล นาคเจริญ [23] ตั้งอยู่หน้าวัดจงกลณี ตำบลท่าเจ้าสนุก

หลายตำบลในอำเภอท่าเรือยังอุดมด้วยสำนักปี่พาทย์และวงดนตรีรับจ้างเก่าใหม่ หากแต่ใช้ทางบรรเลงในตระกูลหรือสืบทอดจากครูอาจารย์ในท้องถิ่น ไม่ว่าเป็น ตำบลบ้านร่อม ได้แก่ คณะนายไพร อินทวรัน คณะ ส.สุรัตน์ มหาสุคนธ์ ตำบลวังแดง ได้แก่ คณะนายหวน ขำคม ตำบลท่าเจ้าสนุก ได้แก่ คณะนายปัดและนายจวน ละมั่งทอง ตั้งอยู่บ้านสวนพริกมะขามโพลง คณะสมหมาย สวัสดิรักษา ตั้งอยู่บ้านขวาง ตำบลศาลาลอย ได้แก่ คณะพยนต์ศิลป์ คณะผู้ใหญ่ละเอียด แสงกะหนึก คณะสมพงศ์ ถาวรสิริ คณะอรพรรณ (ส้ม) ถาวรสิริ อีกด้วย

เชิงอรรถ
[1] นำเสนอเฉพาะเหตุการณ์ความสัมพันธ์ทางเพลงดนตรีระหว่างสำนักบ้านบาตรกับวงปี่พาทย์ท่าหลวง เรียบเรียงข้อมูลและคัดเนื้อหาบางตอนจากประวัติศาสตร์นิพนธ์ เรื่อง “วงปี่พาทย์ท่าหลวง ครอบครัว ‘ลัดดาอ่อน’ ชาวแพชุมชนวัดไก่จ้นแห่งลุ่มแม่น้ำป่าสัก” ส่วนหนึ่งของรายงานวิจัย เรื่อง “ศิลปวัฒนธรรม ชุมชนและดนตรีไทย ลุ่มน้ำป่าสัก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร (คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) พิชชาณัฐ ตู้จินดา และคณะ ได้รับทุนสนับสนุนฯ จาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2559 สามารถอ่านรายละเอียดฉบับเต็มได้จากรายงานวิจัยชื่อเรื่องเดียวกัน

[2] สะกดตามต้นฉบับ

[3] ชื่อหนังสือ “ตำรายากลางบ้าน” (มีสรรพคุณชะงัด) โดย พระเทพวิมลโมลี (มุญมา คุณสมฺปนฺโน ป.9) วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร

[4] ทายาทชั่วคนที่ 5 ของตระกูล “ลัดดาอ่อน” นับตั้งต้นตั้งแต่นายว่าว ที่ยังคงมีชีวิตและสืบทอดความรู้เพลงปี่พาทย์ของครอบครัว คือ นายปองณัฐ ลัดดาอ่อน ปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิชาเอกปี่พาทย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ บุตรนายชนินทร์ ลัดดาอ่อน นายปองณัฐนับลำดับชั้นญาติเป็น ‘โหลน’ ของนายว่าว

[5] นายพร้อม บูรณพิมพ์ ได้รับมรดกเครื่องดนตรีปี่พาทย์จากนายโหมดนางไข่ บูรณพิมพ์ นายพร้อมมีศักดิ์เป็นน้าชายนางทองสุก บูรณพิมพ์

[6] นายเสนอ ลัดดาอ่อน บอกเล่าจากทรงจำ ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ เรื่อง วงปี่พาทย์วัดไก่จ้น อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา: กรณีศึกษาครูเสนอ ลัดดาอ่อน ของ ปราโมท ศรีสุวรรณ์ สาขาวิชานาฏศิลป์ไทย บัณฑิตศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2557

[7] นายเสนอ ลัดดาอ่อน บอกเล่าจากทรงจำ ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ เรื่อง วงปี่พาทย์วัดไก่จ้น อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา: กรณีศึกษาครูเสนอ ลัดดาอ่อน ของ ปราโมท ศรีสุวรรณ์ สาขาวิชานาฏศิลป์ไทย บัณฑิตศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2557

[8] วันที่ เดือน ปี อ้างอิงจาก “หัวข้อกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินเปิดการทดน้ำท่าหลวง” หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เนื้อหากล่าวถึงแผนงานรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทำพิธีเปิดเขื่อนพระราม 6 ณ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2467 รายละเอียดบางช่วงกล่าวถึงมหรสพสมโภชและกิจกรรมเพลงดนตรีภายในงาน โดยเฉพาะ “โขนร้อง” ของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5) ที่ควบคุมวงปี่พาทย์และบรรเลงระนาดเอกโดยครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนนายคร้าม ลัดดาอ่อน

[9] คำนวณจากปีที่เรืออากาศเอกโองการ กลีบชื่น บวชพระช่วงอายุ 20-21 ปี ตามธรรมเนียมโบราณ (เรืออากาศเอกโองการเกิด พ.ศ. 2455)

[10] ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ เรื่อง วงปี่พาทย์วัดไก่จ้น อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา: กรณีศึกษาครูเสนอ ลัดดาอ่อน ของ ปราโมท ศรีสุวรรณ์ สาขาวิชานาฏศิลป์ไทย บัณฑิตศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2557

[11] เสียชีวิตเพราะถูกลอบวางยาสั่ง

[12] นางทองสุก บูรณพิมพ์ อดีตนายวงปี่พาทย์วัดพระพิเรนทร์ ศิษย์ดนตรีไทยที่มีฝีมือของครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เกิดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2457 ถึงแก่กรรม พ.ศ. 2537 อายุรวม 80 ปี บุตรสาวนายปั้นนางเมี้ยน บูรณพิมพ์ (นางเมี้ยนบุตรสาวนายโหมดนางไข่) นางทองสุกมีพี่น้อง 4 คน คือ ทองดี ทองสุก ทองแสง ปุทม นางทองสุกสมรสกับเรืออากาศเอกโองการ กลีบชื่น มีบุตรธิดา 2 คน ได้แก่ อรพินธุ์ (แจ้งจรัส) และสิงห์ กลีบชื่น

[13] วงปี่พาทย์ท่าหลวงสมัยที่นายเสนอ ลัดดาอ่อน เป็นโต้โผนายวง นายเสนอยังผลิตเครื่องดนตรีไทยคุณภาพดีจำหน่ายที่บ้านท่าหลวง อาทิ ผืนระนาดเอกทุ้มและอุปกรณ์เครื่องดนตรีไทย ปัจจุบันมีนายสมชาย ลัดดาอ่อน (บุตรชาย) สืบทอดความรู้วิชาช่างดังกล่าวอยู่ที่จังหวัดน่าน

[14] นางอรพินธุ์ (แจ้งจรัส) อายุ 81 ปี ข้าราชการบำนาญครูโรงเรียนวัดราชบพิธและโรงเรียนวัดราชสิทธาราม บุตรสาวเรืออากาศเอกโองการ กลีบชื่น และนางทองสุก บูรณพิมพ์ สมรสกับนายสมปอง แจ้งจรัส (บุตรนายเปล่งและนางเชื้อ แจ้งจรัส นายวงปี่พาทย์ฝั่งธน กรุงเทพฯ) มีทายาทสืบเชื้อสายดนตรีไทยรุ่นต่อมา 5 คน คือ นพพร ประพันธ์ บรรพต ภัคจิรา และสมพล

[15] นายพิน ป่านกลั่น นักดนตรีปี่พาทย์ที่มีฝีมือความรู้ดีในการบรรเลงระนาดทุ้ม อดีตหัวหน้าวงดนตรีไทยกองดุริยางค์ตำรวจยุคแรกๆ

[16] บุตรนายเสนอ ลัดดาอ่อน อดีตคนฆ้องวงใหญ่วงปี่พาทย์ท่าหลวงและข้าราชการบำนาญวิทยาลัยเทคนิคน่าน

[17] นายสนิท ลัดดาอ่อน เกิด พ.ศ. 2462 ถึงแก่กรรม พ.ศ. 2528 รวมอายุ 66 ปี อดีตเจ้าหน้าที่กรมชลประทานประจำประตูน้ำตำบลหนองแค จังหวัดสระบุรี และพนักงาน บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (ท่าหลวง) จำกัด สมรสกับนางเฉลียว สุวัจนานนท์ มีบุตรธิดา 4 คน คือ กรุณา (สุดสงวน) อานันท์ ลัดดาอ่อน ปราณี (เลิศชุณหะเกียรติ) สานิตย์ ลัดดาอ่อน

[18] นายเสน่ห์ ลัดดาอ่อน เกิด พ.ศ. 2469 ถึงแก่กรรม พ.ศ. 2524 รวมอายุ 55 ปี อดีตครูฝ่ายปกครองและดูแลงานธุรการการเงินโรงเรียนท่าหลวงวิทยานุกูล สมรสกับนางทองใบ แซ่บ่าง มีบุตรธิดา 4 คน คือ สุมาลี (สุทธิศรีสังข์) ทัศนัย ลัดดาอ่อน รัตนา (รูปขจร) อุษณี (ลัดดาอ่อน)

[19] นายเสนอ ลัดดาอ่อน เกิด พ.ศ. 2476 ถึงแก่กรรม พ.ศ. 2558 รวมอายุ 82 ปี อดีตพนักงาน (ฝ่ายช่างซ่อมบำรุง) ประจำบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (ท่าหลวง) จำกัด สมรสครั้งแรกกับนางมะลิ สุขประเสริฐ มีบุตรธิดา 6 คน คือ ศักดิ์ชัย ลัดดาอ่อน สมชาย ลัดดาอ่อน สุชาติ ลัดดาอ่อน ชนินทร์ ลัดดาอ่อน นิษา (ถนอมรูป) ยุทธยา ลัดดาอ่อน สมรสอีกครั้งกับนางกาญจนา พูลศิลป์ มีธิดา 1 คน คือ ด.ญ. สุทธิดา ลัดดาอ่อน นายเสนอยังมีพี่สาวอีกหนึ่งคน คือ นางเสนียม (กระทุ่มเขตต์) สมรสกับนายสง่า กระทุ่มเขตต์ มีบุตรธิดา 5 คน คือ ยุพา (บัวสมบูรณ์) วีณา (เฟื่องอารมณ์) ด.ญ.วันเพ็ญ สุรสิทธิ์ กระทุ่มเขตต์ จินดา (วชิรวัฒนา)

[20] บุตรนายเสนอ ลัดดาอ่อน อดีตนักดนตรีวงปี่พาทย์ท่าหลวง ปัจจุบันรับราชการเป็นนักดนตรีสังกัดวงดนตรีไทยกรุงเทพมหานคร

[21] บุตรนายเสนอ ลัดดาอ่อน อดีตนักระนาดเอกวงปี่พาทย์ท่าหลวงและหัวหน้ากลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร

[22] ข้าราชการบำนาญ นักวิชาการละครและดนตรีระดับ 9 สังกัดสำนักการสังคีต กรมศิลปากร

[23] นายทองพูล นาคเจริญ มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับนายประสิทธิ์ ถาวร และนายละมุด จำปาเฟื่อง (นายละมุดมีศักดิ์เป็นพี่เขยและเป็นครูของนายประสิทธิ์ ที่บ้านเกิด และเป็นผู้พานายประสิทธิ์ไปฝากตัวเป็นศิษย์ครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ที่สำนักบ้านบาตร) นายทองพูลสมรสกับนางถนอม มีทายาทสืบเชื้อสายดนตรีไทยรุ่นต่อมา คือ สะอิ้ง นาคเจริญ ไพฑูรย์ นาคเจริญ (ลูกศิษย์นายประสิทธิ์ ถาวร) สุทิน นาคเจริญ ปัจจุบันวงปี่พาทย์คณะนายทองพูล นาคเจริญ ดูแลโดยอุทัย นาคเจริญ (บุตรนายไพฑูรย์) และสุทิน นาคเจริญ

เอกสารอ้างอิง
กษภรณ์ ตราโมท บรรณาธิการ. (2552). คณะละครเจ้าคุณพระประยูรวงศ์หรือละครเจ้าคุณพระฯ. ใน ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพนางพูนทรัพย์ ตราโมท. กรุงเทพมหานคร: บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด.
“ทดน้ำ แควป่าสัก” หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. กษ ๔/๒.
ปราโมท ศรีสุวรรณ์. (2557). วงปี่พาทย์วัดไก่จ้น อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา: กรณีศึกษาครูเสนอ ลัดดาอ่อน. วิทยานิพนธ์ หลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์ไทย บัณฑิตศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์, กรุงเทพฯ.
ประวัติชีวิตและงาน. (2498). ใน หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง). (ม.ป.ท.).
ประวัติชีวิตและงาน. (2546). ใน หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ นายประสิทธิ์ ถาวร. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอเดียสแควร์.
พระครูวรดิตถ์คณารักษ์ (สนั่น พฺรหฺมสโร). (2526). อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูวรดิตถ์คณารักษ์ (สนั่น พฺรหฺมสโร) 10 เมษายน 2526 ณ เมรุวัดไก่จ้น ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพมหานคร: บัณฑิตการพิมพ์.

สัมภาษณ์
เฉลียว ลัดดาอ่อน. (6 มีนาคม 2559, 12 มีนาคม 2559). สัมภาษณ์.
ชนินทร์ ลัดดาอ่อน. (5 ตุลาคม 2558, 20 เมษายน 2559). สัมภาษณ์.
วีรชาติ สังขมาน. (4 มีนาคม 2559). สัมภาษณ์.
ศักดิ์ชัย ลัดดาอ่อน. (22 ตุลาคม 2558, 3 มีนาคม 2559, 28 เมษายน 2559). สัมภาษณ์.
สมชาย ทับพร. (8 ตุลาคม 2558). สัมภาษณ์.
สมชาย ลัดดาอ่อน. (30 เมษายน 2559). สัมภาษณ์.
สุทิน นาคเจริญ. (27 กรกฎาคม 2559). สัมภาษณ์.
เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์. (28 เมษายน 2559). สัมภาษณ์.
อรพินธุ์ แจ้งจรัส. (20 พฤษภาคม 2559). สัมภาษณ์.

นายคร้าม ลัดดาอ่อน ผู้ทรงอิทธิพลการเมืองท้องถิ่นในสังคมตำบลท่าหลวง นอกจากเป็นนักดนตรีมีความรู้ฝีมือดีและเป็นโต้โผนายวงปี่พาทย์ประจำตำบล ยังดูแลสุขทุกข์ลูกบ้านโดยดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน

นางทองสุก บูรณพิมพ์ นักปี่พาทย์หญิงจากตำบลม่วงงาม จังหวัดสระบุรี ศิษย์ครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

นายสนิท ลัดดาอ่อน บรรเลงระนาดเอกทำปี่พาทย์หากินกับวงปี่พาทย์ท่าหลวงที่จังหวัดสระบุรี (นายเปิ้ล อยู่สวัสดิ์ ระนาดเอกเหล็ก นายปาน เพิ่มสุข ระนาดทุ้ม นายเสนอ ลัดดาอ่อน ฆ้องวงใหญ่ นายทองหล่อ อัชฌาศัย ฆ้องวงเล็ก นายประสิทธิ์ สว่างแจ้ง กลองทัด)

นายเสนอและนายเสน่ห์ ลัดดาอ่อน บรรเลงฆ้องวงใหญ่และฆ้องวงเล็ก วงปี่พาทย์ท่าหลวงขึ้นเวทีประชันวงปี่พาทย์ที่วัดพระพิเรนทร์ พ.ศ. 2515 บรรเลงเพลงแขกลพบุรี เถา (ทางบางคอแหลม) และเดี่ยวเพลงแขกมอญรอบวง (นายสมชาย ทับพร ขับร้อง เรือตรีสุวิทย์ แก้วกระมล ปี่ใน นายศักดิ์ชัย ลัดดาอ่อน ระนาดเอก นายปาน เพิ่มสุข ระนาดทุ้ม นายสมชาย ลัดดาอ่อน ฉิ่ง นายประทีป จาติกานนท์ เครื่องหนัง)

นายศักดิ์ชัย ลัดดาอ่อน อดีตนักระนาดเอกวงปี่พาทย์ท่าหลวงและหัวหน้ากลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร

นายสมชาย ลัดดาอ่อน อดีตคนฆ้องวงใหญ่วงปี่พาทย์ท่าหลวงและข้าราชการบำนาญวิทยาลัยเทคนิคน่าน

นายชนินทร์ ลัดดาอ่อน อดีตนักดนตรีวงปี่พาทย์ท่าหลวง ปัจจุบันรับราชการเป็นนักดนตรีสังกัดวงดนตรีไทยกรุงเทพมหานคร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *