หยั่งตื้นลึกท้องธารจักรวาลความรู้
ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล จาก ‘โหมโรงอาทิตย์อุทัย’
พิชชาณัฐ ตู้จินดา
[ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาดนตรีไทย วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา]
อาจเพราะคำ ‘เพลงใหม่น่ะแต่งได้ แต่ของเก่าได้ของเขาหมดแล้วหรือยัง’ ที่ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล กล่าวท้ายสัมมนาดนตรีงานหนึ่ง หรือเพราะถ่อมเนื้อเจียมตนตามวิถีปฏิบัติคนดนตรี ที่เคารพด้วยไม่ทำเทียมเกินหน้าครูอาจารย์ อย่างบิดาตน คือ จางวางทั่ว พาทยโกศล และสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต [ทูลกระหม่อมบริพัตร] เจ้านายชุบเลี้ยงอุปถัมภ์องค์สำคัญในชีวิต มรดกเพลงดนตรีผลงานประพันธ์ครูเทวาฯ ที่ทุกวันนี้ยังคงร้องเล่นในกลุ่มศิษย์พาทยโกศล/สถาบันการศึกษา เท่าที่สืบค้นจากทรงจำศิษย์ในบ้านและหลักฐานโน้ตเพลง จึงปรากฏเพียง โหมโรงอาทิตย์อุทัย โหมโรงมหาจุฬาลงกรณ์ และกลุ่มเพลงมอญ ได้แก่ เขมรทม นาคบริพัตร ช้างประสานงา สุดสงวน พม่าเห่ เท่านั้น
นอกจากนี้ ยังฝากผลงานเพลงดนตรีผ่านวิทยุกระจายเสียงสถานีพญาไท ที่แม้ไม่อาจหาข้อมูลรายชื่อเพลงแน่ชัดมายืนยัน หากแต่ข้อความจากข้อเขียนประวัติครูเทวาฯ ในหนังสือเสด็จฯ พระราชทานเพลิงครูเทวาฯ ระบุให้ทราบ ว่า ‘เหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้ต้องทำเพลงใหม่นั้น ครูเทวาประสิทธิ์เคยเล่าว่า วงปี่พาทย์สำคัญผลัดเวรกันเข้าบรรเลงเป็นประจำอยู่ ๓ วง เรียกว่าวงคณาจารย์ ซึ่งมีวงของจางวางทั่ว พาทยโกศล ด้วยวงหนึ่ง แต่ละวงประกวดประขันกันมาก ไม่ค่อยจะยอมบรรเลงเพลงเก่าๆ ที่ซ้ำซาก ต่างพยายามทำเพลงใหม่ๆ ขึ้นมาอวดกัน หลายเพลงใช้บรรเลงครั้งเดียว ทำให้ลืมกันเสียมาก ครูเทวาประสิทธิ์ได้มีส่วนช่วยบิดาแต่งเพลงสำหรับส่งวิทยุด้วยอย่างสำคัญทีเดียว’
กล่าวจาระไนเฉพาะ ‘โหมโรงอาทิตย์อุทัย’ หากไม่ทราบต้นสายปลายเหตุทำนองเพลงต้นรากตามบอกที่มาเพลงในหนังสือเสด็จฯ พระราชทานเพลิงครูเทวาฯ ว่า ‘เพลงนี้ทำขึ้นจากเพลงเต่าทองสองชั้น ซึ่งอยู่ในเพลงช้าเรื่องเต่าทอง’ แน่นอนว่า ย่อมต้องสังเกตเห็นบังเกิดเป็นข้อสงสัย [เท่าที่พบ] ไม่ว่าเป็น
– เพลงนี้เข้าหน้าทับกลอง [ปรบไก่] ครึ่งจังหวะ [หมายความว่า หน้าทับกลองเข้าเสียง ‘ทั่ง’ ท้ายห้องที่แปดโน้ตไทยในบรรทัดแรก] ดังนั้น ท่อน 1 เที่ยวแรกกับเที่ยวกลับจึงมีความยาวไม่เสมอกัน [เที่ยวแรกยาว 2 จังหวะครึ่ง เที่ยวกลับยาว 3 จังหวะ]
– ท่อน 2 เที่ยวแรกยาวกว่าเที่ยวกลับ 2 จังหวะ [เที่ยวแรกยาว 5 จังหวะ เที่ยวกลับยาว 3 จังหวะ] โดยท้ายท่อน 2 เที่ยวกลับเปลี่ยนเสียงลูกตกท้ายจังหวะที่ 3 จากเที่ยวแรกเสียงลาเป็นเสียงที
– ท่อน 3 ยาว 4 จังหวะ ทั้งเที่ยวแรกและเที่ยวกลับเสมอกัน
– ท่อน 4 ยาว 12 จังหวะ บรรเลงยาวไม่กลับต้น [กรณีนี้ไม่ได้หมายความว่ากลับต้นแล้วในตัว เพราะหากกลับต้นแล้วในตัวลูกตกเที่ยวแรก [6 จังหวะ] และเที่ยวกลับ [6 จังหวะ] ต้องตรงกัน]
สรุปเป็นภาษาปากหากผู้ประพันธ์ปกปิดทำนองเพลงต้นราก ก็เท่ากับหา ‘ตะเข็บ’ เพลงนี้ไม่พบ และเพิ่มเติมว่า ระเบียบปฏิบัติเข้าฉิ่ง/หน้าทับกลองในเพลงตามแบบสำนักพาทยโกศล นิยมเข้าฉิ่งด้วยเสียง ‘ฉับ’ พร้อมเข้าหน้าทับกลองด้วยเสียง ‘ทั่ง’ ท้ายจังหวะแรกเพลงนั้นๆ ตามคำเล่าครูสำราญ เกิดผล ที่ฟังจากปากครูช่อ สุนทรวาทิน ศิษย์ฆ้องจางวางทั่ว ว่า ‘เข้าทั่งพร้อมเสียงฉับลงไปแรงๆ กลองตัวเมียไม่ต้องพึ่งตัวผู้’ ส่วนเพลงเรื่องเต่าทองเป็นเพลงเรื่องประเภทเพลงช้า ตัวเพลงช้าเต่าทองมีลักษณะ ‘สองชั้นฉาย’ [1] สองไม้ในตัวเรื่องเรียก ‘กบเต้น’ ผลงานประพันธ์ครูทองดี ชูสัตย์ [2] น้าชายหลวงกัลยาณมิตตาวาส [ทับ พาทยโกศล/ ปู่แท้ๆ ของครูเทวาฯ] หากแต่โน้ตสากลรายมือเขียนครูอาจ สุนทร ศิษย์จางวางทั่ว เขียนหัวกระดาษเรียกเพลงนี้อย่างแตกต่าง ว่า ‘เต่าทองเรื่อง’
ครูสมศักดิ์ ไตรย์วาสน์ ศิษย์พาทยโกศล อายุ 74 ปี คนผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมือฆ้องโหมโรงอาทิตย์อุทัยจากครูพังพอน แตงสืบพันธุ์ โดยอ่านจากโน้ตสากลลายมือเขียนครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล เล่า “เพลงนี้หาทางระนาดลำบาก เท่าที่จำได้ ยังไม่เคยออกเล่นงานที่ไหนครบวง ส่วนใหญ่เล่นโหมโรงกัลยาณมิตร โหมโรงประเสบัน ตอนที่ครูเทวาฯ ยังอยู่ก็ไม่เคยเล่น ได้แต่ซ้อมกันเฉพาะพวกเราที่บ้าน ได้ต่อกันไม่กี่คน ที่ได้ก็ตายหมด ท้ายเพลงนี้ลงวาเฉพาะของที่บ้าน ครูพังพอนท่านบอก ‘เพื่อให้แยกแยะประเภทไม่ปะปน ระหว่างวาลงโรงการแสดงลงอย่างหนึ่ง กับวาลงท้ายโหมโรงเสภาก็ต้องลงอีกอย่างหนึ่ง’
“ผมต่อเพลงนี้เมื่ออายุ 20 กว่าแล้ว เพราะท่านพิจารณาหลายอย่าง นิสัยใจคอ ความขยันอดทน ด้วยความที่หวง นอกจากมีงานบรรเลงจำเป็นจริงๆ ถึงได้ต่อ อีกอย่างเพราะผมมาจากสายครูพริ้ง ดนตรีรส ญาติผม ผมเรียกปู่ เรียกครูเทวาฯ โป๊ป ครั้งหนึ่งจำได้ ผมได้ข่าวว่าปู่พริ้งจะขายเครื่อง เครื่องมอญ สมัยนั้นสองโค้งสี่ราง ผมก็บอกโป๊ปว่าปู่จะขายเครื่อง โป๊ปก็บอก ‘ไหนลองไปถามเขาซิ ว่าเขาจะขายเท่าไหร่’ ทางผมก็ไปถามทางโน้น ‘ปู่ ครูเทวาฯ ถามว่าจะขายเครื่องเท่าไหร่’ ทางโน้นตอบ ‘เอ็งกลับไปถามเขาว่า เขาจะให้ข้าเท่าไหร่’ เล่นคารมอย่างนี้ไม่ไหว ตอนนั้นผมโตแล้ว เลยเงียบเลย”
![ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล ผู้ประพันธ์ ‘โหมโรงอาทิตย์อุทัย’ อาจารย์พิเศษภาคประวัติดนตรีไทย สอนนักเรียน ป.กศ.สูง [ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง] เอกดนตรี วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ระหว่าง พ.ศ. 2514-2515 ในภาพ นำเครื่องดนตรีบ้านพาทยโกศลร่วมแสดงในงาน ‘นิทรรศการดนตรี’ ครั้งที่ 1 วันที่ 29-30 กันยายน และ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2514 บริเวณโถงใต้ห้องสมุด [ปัจจุบันคืออาคารวิทยาลัยการจัดการ มรภ.บ้านสมเด็จฯ] โดยถ่ายร่วมกับนายจรูญ มิลินทร์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จฯ สมัยนั้น](http://kotavaree.com/wp-content/uploads/2019/10/ครูเทวา0002-415x640.jpg)
ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล ผู้ประพันธ์ ‘โหมโรงอาทิตย์อุทัย’ อาจารย์พิเศษภาคประวัติดนตรีไทย สอนนักเรียน ป.กศ.สูง [ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง] เอกดนตรี วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ระหว่าง พ.ศ. 2514-2515 ในภาพ นำเครื่องดนตรีบ้านพาทยโกศลร่วมแสดงในงาน ‘นิทรรศการดนตรี’ ครั้งที่ 1 วันที่ 29-30 กันยายน และ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2514 บริเวณโถงใต้ห้องสมุด [ปัจจุบันคืออาคารวิทยาลัยการจัดการ มรภ.บ้านสมเด็จฯ] โดยถ่ายร่วมกับนายจรูญ มิลินทร์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จฯ สมัยนั้น [ที่มา: พิชชาณัฐ ตู้จินดา]
ต้องไม่ลืมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ มีรับสั่งให้ครูเทวาฯ แต่ง โหมโรงอาทิตย์อุทัย เมื่อ พ.ศ. 2480 ขณะออกไปเฝ้าที่ตำหนักประเสบัน เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ก็เท่ากับว่าโหมโรงนี้เกิดขึ้นในขณะที่ครูเทวาฯ มีอายุเพียง 30 ปี เท่านั้น [เพราะเกิด พ.ศ. 2450] แม้ภายหลังภาพจำครูเทวาฯ ในสำนึกคนทั่วไปมักจับซอสามสายมากกว่าเห็นตีเครื่องดนตรีปี่พาทย์ ดังข้อความยืนยันจากข้อเขียนประวัติครูเทวาฯ ระบุ ‘ต่อมาเมื่อวงการดนตรีไทยซบเซาลง ครูเทวาประสิทธิ์จึงได้กลับมาสีซอสามสายอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีอายุแล้ว คราวนี้ได้ไปเรียนกับพระยาอมาตยพงศ์ธรรมพิศาลที่บ้านท่าน เมื่อหันมาฝึกฝนตัวเองทางซอสามสาย จึงมีฝีมือและมีชื่อขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง ผู้ที่รู้จักชื่อครูเทวาประสิทธิ์ในระยะหลังนี้ มักจะรู้จักเพราะสีซอสามสายเสียเป็นส่วนใหญ่’
หากแต่การประพันธ์เพลงโดยรู้วิธีจ่ายมือฆ้องทั้งสำนวนท้าและรับได้อย่างลงตัวทั่วทั้งวง อย่างโหมโรงอาทิตย์อุทัย และพลิกแพลงทางพื้นบางวรรคตอนให้เป็นทำนองขัด/เหลื่อม ทั้งยังเลือกใช้มือฆ้อง ‘ลูกเท่า’ แบบที่มักพบในหลายเพลงของสำนักพาทยโกศล [5] และมือฆ้องบางทำนองที่มีลักษณะพิเศษหรือเล่นมือให้แตกต่างจากมือฆ้องธรรมดาทั่วไป [6] นี่ย่อมแสดงชัดชั้นเชิงว่า ครูเทวาฯ ผ่านการเรียนดนตรีปี่พาทย์และฆ้องวงใหญ่อันเป็นขุมคลังปัญญาเพลงดนตรีมาอย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะกลุ่มเพลงเรื่องประเภทต่างๆ เพราะต้องไม่ลืมอีกเช่นกันว่า ข้อเขียนประวัติครูเทวาฯ ระบุชัด ‘ครูเทวาประสิทธิ์ตีระนาดได้ตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ และด้วยเหตุที่ฉลาด ใฝ่รู้ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ไม่ช้านักก็เล่าเรียนเพลงประเภทต่างๆ ทั้งง่ายยากและบรรเลงเครื่องดนตรีทุกชนิดอย่างคล่องแคล่ว แม้แต่ปี่ซึ่งเป่ายาก ก็พยายามหัดกับบิดาจนเป่าได้ตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี ’
ครูสมศักดิ์ ไตรย์วาสน์ เล่าเพิ่ม “ในสายตาที่ผมเคยเห็น ท่านตีระนาด ผมตีฆ้อง เครื่องมุก งานญาติกันที่แปดริ้ว ประโคมประจำบ้าน ทางดี แต่ถ้าใจลอยเราเข้าไม่ถูกนะ พูดง่ายๆ ว่ากลอนล้ำลึก แล้วมีฝีมือทุกชิ้น คนฆ้องว่าแม่นยังล้ม ไปอัดเสียงที่สถานีวิทยุทุ่งมหาเมฆ ออกสด เพลงเชิดจีน พี่ใบ [ทองใบ คล่องฝีมือ] ตีระนาด แกจะเข้าตีทุ้ม พี่ใบไหว้เลย บอกครูอย่าตี กลัว เวลาตีทุ้มชอบหาทางเสียงต่ำๆ งานทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม มีสองภาค ภาคแรกไม้นวม ภาคหลังไม้แข็ง ครูเทวาฯ จะเขียนจดหมายไปหาครูเฉลิม บัวทั่ง ‘ขอยืมลูกชายตีระนาดออกทีวี’ เมื่อก่อนนี้ข่าวคุย ว่าครูเฉลิมเคยมาอยู่กับจางวางทั่ว พาทยโกศล
“เพลงเดี่ยวเยอะ ทางปรุหมด มีอยู่ครั้งจำได้ ต่อเดี่ยวแขกมอญฆ้องใหญ่ให้ปึ้ก [ครูอุทัย พาทยโกศล] ปึ้กยังจำไม่ได้เลย ข้างบ้านมีอยู่วงเขาตีโชว์สวนขึ้นมาแล้ว ครูเทวาฯ ขึ้นไปบนบ้านชั้นสอง เปิดหน้าต่างตะโกน ขโมย แล้วนิสัยแกนะ ถ้าไม่ขอ ไม่ถาม ข้าไม่พูด แกเล่าว่าไปบ้านพระยาประสาน [พระยาประสานดุริยศัพท์] 3 เดือน ยังไม่ได้เพลง ไปทุกวันจนพระยาประสานชม ‘เด็กคนนี้มีมานะ’ นี่วิธีลองใจ ผมประหม่าทุกครั้งที่เจอหน้า งานวัดประยูรฯ ผมตีระนาดมุล่ง แกเข้าทุ้ม มือไม้ผมสั่น จบเพลงแกถาม ‘คนระนาดเป็นอะไร’”
นอกจากนี้ อาจสังเกตรูปรอยวิธีการประพันธ์โหมโรงอาทิตย์อุทัยของครูเทวาฯ ได้ว่า เข้าข่ายได้รับแบบอย่างการประพันธ์จากเพลงพระนิพนธ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นตัวอย่าง โดยเฉพาะ ‘แผนกเพลงไทยเดิม ซึ่งเป็นทางและทำนองสำหรับใช้บรรเลงพิณพาทย์โดยตรง’ หากแต่จะชี้ชัดลงไปว่าตรงไหน อย่างไร และเพลงอะไร ย่อมเป็นเรื่องละเอียดอ่อนถี่ถ้วนที่ควรวิเคราะห์กลั่นกรองอย่างกว้างขว้างลงลึกไม่ด่วนสรุป เพราะข้อเขียนประวัติครูเทวาฯ ระบุพอให้ทราบ ว่า ‘ครูเทวาฯ เรียนรู้วิทยาการดนตรีทั้งอย่างไทยและตะวันตก พร้อมทั้งหัดสีซอสามสายและแต่งเพลงกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต’
อีกทั้งช่วงเวลาที่เกิดโหมโรงอาทิตย์อุทัยยังเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงพระนิพนธ์บทเพลงต่างๆ ในแผนกเพลงไทยเดิม ขณะที่ประทับอยู่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ขึ้นถึง 17 เพลง การที่มีรับสั่งให้ครูเทวาฯ แต่งเพลงนี้ โดย ‘ขยายอัตราเรียบเรียงขึ้นใหม่ให้เป็นเพลงโหมโรงสำหรับปี่พาทย์ และให้แต่งให้ถูกต้องตามแบบแผนของเพลงไทยจริงๆ เพื่อจักได้ถือเป็นบรรทัดฐานแต่งเพลงต่อไป’ อาจเพราะทรงต้องการพิจารณาตรวจสอบความสามารถทางการประพันธ์ของครูเทวาฯ ในฐานะที่ได้รับหลักความรู้ด้านการประพันธ์เพลงจากพระองค์ และต้องทรงเห็นแล้วว่า ภูมิธรรมปัญญาความรู้ของครูเทวาฯ ขณะนั้นถึงขีดความสามารถที่ย่อมทำได้
![ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล ขณะเดินทางไปเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ณ เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย คณะผู้จัดขอขอบพระคุณครอบครัว ‘พาทยโกศล’ [คุณราตรี คุณนพวรรณ พาทยโกศล] ที่อนุเคราะห์และอนุญาตให้ถ่ายสำเนาพระรูปสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ เอกสารสำคัญ และชุดภาพครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล เพื่อนำลงพิมพ์เผยแพร่ในสูจิบัตร](http://kotavaree.com/wp-content/uploads/2019/10/1-467x640.jpg)
ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล ขณะเดินทางไปเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ณ เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย [ขอขอบพระคุณครอบครัว ‘พาทยโกศล’ [คุณราตรี คุณนพวรรณ พาทยโกศล] ที่อนุเคราะห์และอนุญาตให้ถ่ายสำเนาพระรูปสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ เอกสารสำคัญ และชุดภาพครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล เพื่อนำลงเผยแพร่ประกอบบทความ]
สำเหนียกว่า ขณะที่หยั่งตื่นลึกท้องธารจักรวาลความรู้ครูเทวาฯ จาก ‘โหมโรงอาทิตย์อุทัย’ ดุจกันที่เนื้อหาสาระบทความชิ้นนี้ก็หยั่งตื่นลึกหยาดปัญญาผู้เขียนที่ไม่นานก็ระเหิดตามกระแสลมเวลา ไม่เทียบเคียงผลงานประพันธ์และบรรเลงหลายชิ้นของครูเทวาฯ ที่สู่ความเป็น ‘อมตะ’ เพราะแม้เข็มนาฬิกาล่วงเลยมาถึง 112 ปี ก็ไม่อาจกร่อนคมปัญญาและพลังฝีมือครูลงได้ บทความชิ้นนี้จึงเป็นเพียงอะตอมหน่วยเล็กสุดในจักรวาลความรู้อันไพศาลและไม่อาจหยั่งลึกของผู้มีนาม ‘เทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล’
เชิงอรรถ
[1] อ่านเพิ่มเติม ‘สองชั้นฉาย’ ได้ในบทความ ‘เพลงเรื่อง: บทบาทหน้าที่ และความสำคัญ’ วารสารเพลงดนตรี ฉบับพฤษภาคม พ.ศ. 2556 เขียนโดย พิชชาณัฐ ตู้จินดา
[2] อ่านเพิ่มเติม ‘ครูทองดี ชูสัตย์’ ได้ในหนังสือ ‘เพลงหน้าพาทย์ไหว้ครู’ ของนายสำราญ เกิดผล [ศิลปินแห่งชาติ] กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิมพ์
[3] ดู โน้ตเพลงโหมโรงอาทิตย์อุทัยเมื่อทาบเปรียบเทียบกับเพลงช้าเรื่องเต่าทอง ได้ที่แนบท้ายบทความ
[4] อ่านเพิ่มเติม ‘กรอ กวาด ขัด เหลื่อม และล้อรับ’ ได้ในหนังสือ ‘การประพันธ์เพลงไทย’ ของรองศาสตราจารย์พิชิต ชัยเสรี สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[5] ดู โน้ตเพลงโหมโรงอาทิตย์อุทัย ได้ที่แนบท้ายบทความ [เช่น บรรทัดที่ 13 ห้องที่ 1-4 และบรรทัดที่ 33 ห้องที่ 1-4]
[6] ดู โน้ตเพลงโหมโรงอาทิตย์อุทัย ได้ที่แนบท้ายบทความ [เช่น บรรทัดที่ 14 ห้องที่ 5-8 และบรรทัดที่ 59 ห้องที่ 1-4]
[7] ดู โน้ตเพลงโหมโรงอาทิตย์อุทัย ได้ที่แนบท้ายบทความ [บรรทัดที่ 62-63]
[8] ดู โน้ตเพลงโหมโรงอาทิตย์อุทัย ได้ที่แนบท้ายบทความ [บรรทัดที่ 64]
[9] ดู โน้ตเพลงโหมโรงอาทิตย์อุทัย ได้ที่แนบท้ายบทความ [บรรทัดที่ 66]
เอกสารอ้างอิง
เทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล. เรื่องการสังคีตที่พระองค์ทรงสนพระทัย. ใน พระประวัติและจริยาวัตรของ จอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้า บริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และเอกสารที่ได้ทรงปฏิบัติราชการ กองทัพเรือพิมพ์สนองพระเดชพระคุณแสดงกตเวทีเป็นที่ระลึก ในการพระราชทานเพลิงพระศพพระองค์ท่าน ณ พระเมรุท้องสนามหลวง วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2493. ธนบุรี: โรงพิมพ์อุทกศาสตร์.
เทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล. ใน หนังสืออนุสรณ์ในการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพนายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล ณ เมรุวัดประยุรวงศาวาส วันที่ 19 มีนาคม พุทธศักราช 2517. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์.
สัมภาษณ์
ชาตรี อบนวล. สัมภาษณ์. 23 สิงหาคม 2561.
สมศักดิ์ ไตรย์วาสน์. สัมภาษณ์. 10 ตุลาคม 2561.
[บทความ เรื่อง “หยั่งตื้นลึกท้องธารจักรวาลความรู้ ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล จาก ‘โหมโรงอาทิตย์อุทัย’” ตีพิมพ์เผยเเพร่ครั้งเเรกในสูจิบัตรงาน สุริยวาฑิตเสวนา ครั้งที่ 3 “คีตวันทา เทวาประสิทธิ์ 111 ปี รฦก ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล” วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2561]