“พิพิธภัณฑ์ดนตรีเพื่อการศึกษา” ของวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา หายไปไหน ?

“พิพิธภัณฑ์ดนตรีเพื่อการศึกษา”
ของวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา หายไปไหน ?
พิชชาณัฐ ตู้จินดา
[ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำวิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา]

ควบคู่กับการบุกเบิกการเรียนการสอนดนตรีเป็นวิชาเอกสถาบันแรกในระดับอุดมศึกษา ในหลักสูตรประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูง [ป.กศ.ชั้นสูง] ของวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ตั้งแต่ พ.ศ. 2513 กิจกรรมสำคัญที่ได้รับความสนใจจากนักเรียนนักศึกษาและเป็นความคิดก้าวหน้าทางวิชาการดนตรีสมัยนั้น คือ “นิทรรศการดนตรี” จัดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2514 ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2522 อันเป็นหมุดหมายตั้งต้นที่ภายหลังทำให้เกิด “พิพิธภัณฑ์ดนตรีเพื่อการศึกษา” เพื่อพิสูจน์หลักการตามที่คณะผู้จัดนิทรรศการดนตรี ครั้งที่ 2 เน้นย้ำเป็นใจความสำคัญในข้อเขียนคำนำจากเล่มสูจิบัตรจัดงาน ว่า “ดนตรีเป็นวิชาการสาขาหนึ่งที่มีความจำเป็นและไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสาขาอื่นๆ”

หลักฐานสมุดภาพถ่ายบันทึกเหตุการณ์งานนิทรรศการดนตรี ครั้งที่ 1 ทำให้ทราบว่า กิจกรรมย่อยที่เกิดขึ้นภายในงานตลอดทั้งวัน ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2514 ได้แก่ ขับร้องและบรรเลงดนตรีทั้งไทยและตะวันตก แสดงนาฏศิลป์ไทย บรรยายวิชาการ เรื่อง “ดนตรีกับชีวิตประจำวัน” โดยอาจารย์อวบ เหมรัชตะ ศึกษานิเทศก์กรมการฝึกหัดครู บรรยายความรู้เบื้องต้นดนตรีไทยและตะวันตก โดยอาจารย์สงัด ภูเขาทอง อาจารย์วาสิษฐ์ จรัณยานนท์ โดยเฉพาะพื้นที่ใต้อาคารห้องสมุดที่จัดแสดงเครื่องดนตรีพร้อมคำอธิบาย ทั้งเครื่องดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีตะวันตก ส่วนหนึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ทำการเรียนการสอนของวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จฯ [1] อีกส่วนได้รับอนุเคราะห์จากสำนักดนตรีพาทยโกศล [2] โดยครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล

งาน "นิทรรศการดนตรี" วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จัดครั้งเเรกเมื่อ พ.ศ. 2514

งาน “นิทรรศการดนตรี” วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จัดครั้งเเรกเมื่อ พ.ศ. 2514

งาน "นิทรรศการดนตรี" วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จัดครั้งเเรกเมื่อ พ.ศ. 2514

งาน “นิทรรศการดนตรี” วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จัดครั้งเเรกเมื่อ พ.ศ. 2514

งาน "นิทรรศการดนตรี" วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จัดครั้งเเรกเมื่อ พ.ศ. 2514

งาน “นิทรรศการดนตรี” วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จัดครั้งเเรกเมื่อ พ.ศ. 2514

งาน "นิทรรศการดนตรี" วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จัดครั้งเเรกเมื่อ พ.ศ. 2514

งาน “นิทรรศการดนตรี” วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จัดครั้งเเรกเมื่อ พ.ศ. 2514

และหากพิจารณารายการแสดงประจำวันในเล่มสูจิบัตร [3] งานนิทรรศการดนตรี ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน พ.ศ. 2522 ยังทำให้ทราบอีกว่า แม้ลักษณะกิจกรรมที่เกิดขึ้นจะคล้ายคลึงกับการจัดงานครั้งแรก หากแต่หัวข้อบรรยายวิชาการและประเภทวงดนตรีที่ทำการแสดงครั้งนี้มีความหลากหลายกว้างขวางมากกว่า ทั้งยังได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานภายนอกด้านดนตรีทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าเป็น บรรยายวิชาการ เรื่อง “การเรียนดนตรีในยุโรป” โดย เรือเอกวีระพันธ์ วอกลาง บรรยายและสาธิตดนตรีจีน โดยอาจารย์คุ้ย คูสมิทธิ์ บรรยายและสาธิตดนตรีไทย โดยอาจารย์เสรี หวังในธรรม บรรยายและสาธิตดนตรีแจ๊ส การบรรเลงมโหรีหญิง ดนตรีร่วมสมัย ขับร้องประสานเสียง หัสดนตรี วงพื้นเมืองประจำภาค ปี่พาทย์ไม้แข็ง และโยธวาทิต

โดยเฉพาะที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการจัดแสดงเครื่องดนตรีพร้อมคำอธิบายครั้งนี้ ได้จัดแสดงเครื่องดนตรีโลกบางชนิดจากประเทศเมียนมา เวียดนาม จีน อินเดีย เครื่องดนตรีต่างภูมิภาคของไทยและเครื่องดนตรีชาติพันธุ์หายากหลายชิ้น โดยได้รับอนุเคราะห์จากอาจารย์ประทวน เจริญจิตต์ อาจารย์วิชาศิลปะและดนตรี โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ [ปทุมวัน] นักเขียนภาพ นักวิชาการดนตรีและนักสะสมรวบรวมเครื่องดนตรี เคยมีผลงานเขียนบทความดนตรีตีพิมพ์ลงนิตยสาร “ดนตรีกาล” เรื่อง “พระอภัยมณีไม่ได้เป่าปี่ใน” และ “ใครว่าผู้หญิงเล่นดนตรีน้ำเต้าไม่ได้” ที่ทำให้การจัดแสดงเครื่องดนตรีของวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จฯ จากที่เคยเป็นไปอย่างชั่วครั้งชั่วคราวมาสู่การจัดแสดงถาวรแบบพิพิธภัณฑ์ในเวลาต่อมา

งาน "นิทรรศการดนตรี" วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จัดครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2522 บุคคลกลางภาพ คือ อาจารย์ประทวน เจริญจิตต์

งาน “นิทรรศการดนตรี” วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จัดครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2522 บุคคลกลางภาพ คือ อาจารย์ประทวน เจริญจิตต์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดารัตน์ ชาญเลขา ข้าราชการบำนาญ ภาควิชาดนตรีไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จฯ ร่วมงานนิทรรศการดนตรี ครั้งที่ 1 ตั้งแต่เป็นนักเรียนเอกดนตรี หลักสูตรประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงของวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จฯ และเป็นลูกศิษย์อาจารย์ประทวน เจริญจิตต์ ในชั้นเรียนปริญญาตรี สาขาดุริยางคศาสตร์ [รุ่นแรก] ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เล่าลำดับเหตุการณ์ ว่า

“เรียนจบแล้วถึงมาบรรจุที่บ้านสมเด็จฯ ปี 2520 กลับมาเล่าให้อาจารย์สงัดฟัง ว่าอาจารย์ประทวนเก่งวาดภาพประกอบเพลง ใช้น้ำมันใส่ผมผสมสีแล้ววาดลงบนกระดานด้วยมือ ยังไม่เท่าไหร่ เล่าถึงตรงนี้สิที่อาจารย์สงัดสนใจมาก คือได้ไปเห็นเครื่องดนตรีที่บ้านอาจารย์ประทวนเยอะมากๆ มีทุกภาคของไทย แล้วยังมีอีกของหลายประเทศ เมื่อสองท่านมีโอกาสได้พบกัน คุยกันถูกคอมาก อาจารย์สงัดเลยถาม ‘อาจารย์มีเครื่องดนตรีสะสมไว้เยอะเลยหรือครับ ผมอยากดูจังเลยครับอาจารย์’ รู้สึกว่าอาจารย์จะได้ไปดูด้วยถ้าจำไม่ผิด นิทรรศการดนตรีครั้งที่ 2 จึงเชิญอาจารย์ประทวนมาวาดภาพประกอบเพลง แล้วคัดเครื่องดนตรีบางส่วนมาจัดแสดง

“นานเข้าอาจารย์ประทวนก็พูดว่า ‘เครื่องดนตรีพวกนี้เก็บไว้ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ผมไม่มีทุน’ ใจจริงอาจารย์สงัดอยากซื้อไว้ที่บ้านสมเด็จฯ แต่ราคาค่อนข้างสูง วิทยาลัยก็ไม่ได้เห็นความสำคัญเรื่องนี้มาก อาจารย์สงัดเลยถามอาจารย์ประทวนว่า ‘อย่างนั้นนำมาโชว์ไว้ที่บ้านสมเด็จฯ ดีไหมครับ ผมจะทำพิพิธภัณฑ์ให้’ จริงๆ เริ่มต้นจุดประกายตั้งแต่งานนิทรรศการดนตรี ครั้งที่ 2 แล้วล่ะ เมื่อพูดอย่างนั้นอาจารย์ประทวนก็เห็นชอบตอบตกลง คือนำมาจัดแสดงไว้ที่บ้านสมเด็จฯ จนกว่าอาจารย์จะขายเครื่องดนตรีเหล่านี้ได้ หรือไม่ก็สร้างพิพิธภัณฑ์ของตัวเอง คนสมัยก่อนเชื่อใจกันมากนะ เพราะการนำเครื่องดนตรีมาครั้งนั้น จำได้ว่าไม่มีการทำบันทึกลงลายลักษณ์อักษรใดๆ อาจารย์สงัดกับอาจารย์ประทวนท่านทำกันด้วยใจจริงๆ”

จึงเป็นจุดตั้งต้นให้เครื่องดนตรีจำนวนมากของอาจารย์ประทวนได้รับการขนย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จฯ ใน พ.ศ. 2529 เพื่อจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ดนตรีร่วมกับเครื่องดนตรีที่ได้รับบริจาค โดยมีอาจารย์สงัด ภูเขาทอง อาจารย์ภาควิชาดนตรีศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นผู้นำความคิดและลงมือลงแรงขั้นเตรียมการเองทั้งหมด ไม่ว่าเป็น สร้างกล่องไม้สำหรับตั้งเครื่องดนตรีขนาดใหญ่ สร้างชั้นเหล็กและแป้นไม้พร้อมแกนเหล็กสำหรับวางเครื่องดนตรีต่างขนาด ผลงานความสำเร็จครั้งแรก คือ พ.ศ. 2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทอดพระเนตรการจัดแสดงเครื่องดนตรีดังกล่าวในพิธีเปิดศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จฯ โดยมีรับสั่งกับอาจารย์สงัดซึ่งเป็นผู้ถวายรายงาน ว่า “ขอให้พิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมจริงๆ” และครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่มีการจัดแสดงเครื่องดนตรีด้วยวิธีการจัดหมวดหมู่ตามระบบอีริค ฟอน ฮอร์น บอสเติล

แน่นอนว่า สังคมภายนอกและประชาคมดนตรีย่อมต้องรับทราบการเกิดขึ้นของการจัดแสดงเครื่องดนตรีที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จฯ เพราะอย่างน้อยสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ย่อมต้องเสนอข่าวเสด็จฯ ซึ่งอีก 2 ปี ต่อมา เครื่องดนตรีทั้งหมดได้นำมาวางจัดแสดงถาวรแบบพิพิธภัณฑ์ภายในห้องโถงชั้น 2 อาคารวิเศษศุภวัตร ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการ ว่า “พิพิธภัณฑ์ดนตรีเพื่อการศึกษา” โดยเครื่องดนตรีสำคัญบางชิ้นจัดแสดงในตู้กระจกติดดวงไฟอย่างดีที่ได้รับบริจาคจากคุณจงกล พลายน้อย มีพิธีเปิดให้เข้าชมเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2534 โดย ดร.นิเชต สุนทรพิทักษ์ อธิบดีกรมการฝึกหัดครู ถือเป็นความก้าวหน้าทางวิชาการครั้งประวัติศาสตร์ของสถาบันระดับอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านดนตรีสมัยนั้น

งานเปิดพิพิธภัณฑ์ดนตรีเพื่อการศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2534 บุคคลที่ 3 จากซ้าย คือ ดร.นิเชต สุนทรพิทักษ์ บุคคลที่ 4 จากซ้าย คือ อาจารย์สงัด ภูเขาทอง

งานเปิดพิพิธภัณฑ์ดนตรีเพื่อการศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2534 บุคคลที่ 3 จากซ้าย คือ ดร.นิเชต สุนทรพิทักษ์ บุคคลที่ 4 จากซ้าย คือ อาจารย์สงัด ภูเขาทอง

ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับไปอ่านข้อเขียนของอาจารย์สงัด ภูเขาทอง ใน “อนิตยสารรายไม่แน่นอน” ฉบับรายงานความล้มเหลว จัดพิมพ์โดยภาควิชาดนตรีศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ลงวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 จึงทำให้ทราบมุมมองความคิดและข่าวการจัดหาสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ดนตรีหรือชื่อขณะนั้น คือ “หอวัฒนธรรมดนตรี” ที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จฯ ความว่า

“ข่าวการจัดหอวัฒนธรรมดนตรี ผมต้องขอขอบคุณท่านรองอธิการฯ ฝ่ายบริหาร อ.สุรชัย สังข์ศรี ที่ได้เตือนผมเป็นระยะๆ ห้องได้จัดไว้ให้แล้ว ผมบอกว่าไม่ลืมหรอกครับแต่ต้องใจเย็นๆ ตอนนี้ผมต้องการไปรถหวานเย็นไม่อยากไปรถด่วน ผมคิดวิธีไว้ตามแบบของผมก็มาก แต่ตอนนี้ผมขอเวลาศึกษางานใหม่ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งผู้บริหารและระบบบริหาร ซึ่งผมยังงงๆ อยู่ ยิ่งเป็นตัวเลขยิ่งเวียนหัวใหญ่ เพราะผมโง่ทางตัวเลข ดูอะไรๆ เป็นตัวเลขไปหมด เฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการจัดซื้อ จัดจ้าง เพราะจะต้องเอาไปถ่ายทอดให้กับบริวาร เขาจะได้ช่วยทำต่อไป

“งานหอวัฒนธรรมดนตรีเป็นงานท้าทายอยู่ไม่เบา ผมจะต้องทำแน่ตามแบบความคิดของผม แต่จะไม่ใช้วิธีเนรมิตเอาเงินเข้าล่อ ครูบ้านสมเด็จฯ แก่ๆ จำได้ไหมครับ สมัยที่เห่ออาคาร ๗ ผมเห็นภาคต่างๆ สมัยนั้น เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคม วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และอะไรอีกหลายอย่าง ประชันกันจัดห้องในเชิงวิชาการ แต่ละห้องผมคิดว่าลงทุนหลายทีเดียว แต่ลงท้ายด้วยเวลาปีกว่าๆ ผมกล้าพูดได้เต็มปากว่า… ล้มเหลว จะอ้างว่าเพราะต้องเอาห้องไปสอนพวกภาคค่ำก็ฟังไม่ขึ้นครับ กลายเป็นที่อยู่ของฝุ่น ทรัพย์สินที่มีค่าค่อยๆ โทรมไป แล้วก็หายไป ที่เหลือกลายเป็นขยะ

“สิ่งต่างๆ ที่ผมได้เห็นมาอย่างนี้ทำให้ผมคิดมาก เพราะเมื่อทำทั้งทีไม่อยากให้เป็นแค่พิพิธภัณฑ์ อันว่าพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทยไม่ว่าในบางกอก สุโขทัย เชียงแสน อยุธยา หรือแม้แต่ที่บ้านเชียง คงเป็นแค่พิพิธภัณฑ์เท่านั้นเอง แต่สิ่งที่ผมคิดสำหรับห้องดนตรีจริงอยู่มันไม่แคล้วเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่อยากจะให้ได้รับประโยชน์มากกว่านั้น เช่น เป็นที่ค้นคว้า ศึกษา บริการและเผยแพร่ ประสมกันให้เกิดคุณค่าของศิลป์ สิ่งของต่างๆ หากมีมิใช่จะเอามากองๆ เป็นดุ้นแสม ใจเย็นๆ ไว้ก่อนนะครับ น้ำหยดทีละถังก็เต็มตุ่มไปเอง

“เห็นห้องที่ปรับปรุงอย่างสวยงามให้ชื่นใจ บรรยากาศทางเท้า ทางเดิน สนามหญ้า เห็นกำลังปรับปรุงคงงามแน่ เสียอย่างเดียวที่พื้นห้องค่อนข้างดำไปหน่อย ถ้าได้กระเบื้องที่เป็นสีๆ ลายๆ คงจะงามกว่านี้ และถ้าจะให้ดีขึ้นไปอีกติดแอร์ให้ด้วย ยิ่งวิเศษใหญ่ ผมจะได้หอบที่นอนหมอนมุ้งมาขออาศัย ประพฤติพรหมจรรย์แบบสัตยาเคราะห์อย่างมหาตมคานธี ไม่กลับบ้านแล้ว…”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สนอง คลังพระศรี อาจารย์ประจำแขนงวิชาดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้หนึ่งที่มีโอกาสชมพิพิธภัณฑ์ดนตรีเพื่อการศึกษา ตั้งแต่เป็นนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งยังเป็นลูกศิษย์และร่วมทำงานกับอาจารย์สงัดที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า

“ตื่นตัวชัด ค่อนข้างฮือฮา มีเครื่องดนตรีตื่นตาตื่นใจที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ตอนนั้นความรู้ Ethnomusicology ยังไม่เติบโต เพิ่งมาพูดช่วงปี 2532 ตอนอาจารย์หมอพูนพิศ อมาตยกุล กับอาจารย์สุกรี เจริญสุข ทำหลักสูตรที่มหิดล แต่เครื่องดนตรีที่ปรากฏที่บ้านสมเด็จฯ มันอลังการแล้ว ทำให้รู้สึกว่า ความเบ่งบานของความรู้ที่เกิดขึ้น นอกเหนือดนตรีไทย ราชสำนัก พื้นบ้าน มันคือดนตรีนานาชาติ มันคือฟิลิปปินส์ มันคือนอร์เวย์ เครื่องเล็กเครื่องน้อยรวมอยู่ในที่เดียว ถามว่าความแปลกให้อะไร ความแปลกทำให้รู้สึกว่า มันมีอะไรอีกมากที่คุณไม่รู้จัก แล้วคุณได้สัมผัส ได้รู้จักมันผ่านพิพิธภัณฑ์ดนตรี วิเศษไหมล่ะ

“สำเร็จในสิ่งที่อาจารย์สงัดทำ เพราะอาจารย์บุกเบิกไง อาจารย์นำพิพิธภัณฑ์ดนตรีไปตั้งไว้ในบ้านสมเด็จฯ ได้ ผมว่าเท่มากนะ แน่นอนว่ามันมีพิพิธภัณฑ์ที่อื่นบ้าง แต่แค่จุดหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ทั้งหมด มันไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ดนตรี แล้วไม่ใช่เรื่องง่ายที่คุณจะรวบรวมของเหล่านี้ คุณต้องมีความคิดก่อน ต้องเดินทาง มีเงินมีเครือข่าย ต้องคิดก่อนว่าดนตรีคืออะไร บางคนบอกดนตรีคือการปฏิบัติ แต่บางคนบอกดนตรีไม่ใช่แค่ปฏิบัติ ดนตรีมีเรื่องอื่นๆ ด้วย ก็คือการพูดถึงดนตรีวิชาการ เพราะถ้าไม่มีความคิดก็สร้างงานไม่ได้ คุณคิดอะไรไม่ได้ คุณก็ปฏิบัติไม่ได้ คุณไม่รู้จะเล่นอะไรแล้วคุณจะเล่นอะไรได้ มิวสิคมิวเซียมที่มหิดล ส่วนหนึ่งจึงเกิดขึ้นจากความคิดตั้งใจ แล้วก็ความมุ่งมั่นของอาจารย์สงัด”

ภาพการจัดเเสดงเครื่องดนตรีถาวรเเบบพิพิธภัณฑ์ ภายในโถงชั้น 2 อาคารวิเศษศุภวัตร วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการ ว่า "พิพิธภัณฑ์ดนตรีเพื่อการศึกษา"

ภาพการจัดเเสดงเครื่องดนตรีถาวรเเบบพิพิธภัณฑ์ ภายในโถงชั้น 2 อาคารวิเศษศุภวัตร วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการ ว่า “พิพิธภัณฑ์ดนตรีเพื่อการศึกษา”

ภาพการจัดเเสดงเครื่องดนตรีถาวรเเบบพิพิธภัณฑ์ ภายในโถงชั้น 2 อาคารวิเศษศุภวัตร วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการ ว่า "พิพิธภัณฑ์ดนตรีเพื่อการศึกษา"

ภาพการจัดเเสดงเครื่องดนตรีถาวรเเบบพิพิธภัณฑ์ ภายในโถงชั้น 2 อาคารวิเศษศุภวัตร วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการ ว่า “พิพิธภัณฑ์ดนตรีเพื่อการศึกษา”

ภาพการจัดเเสดงเครื่องดนตรีถาวรเเบบพิพิธภัณฑ์ ภายในโถงชั้น 2 อาคารวิเศษศุภวัตร วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการ ว่า "พิพิธภัณฑ์ดนตรีเพื่อการศึกษา"

ภาพการจัดเเสดงเครื่องดนตรีถาวรเเบบพิพิธภัณฑ์ ภายในโถงชั้น 2 อาคารวิเศษศุภวัตร วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการ ว่า “พิพิธภัณฑ์ดนตรีเพื่อการศึกษา”

แม้ว่าพิพิธภัณฑ์ดนตรีจะก่อตัวความคิดและเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมครั้งแรกที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จฯ หากแต่เครื่องดนตรีจำนวนไม่น้อยในพิพิธภัณฑ์เป็นสมบัติส่วนตัวของอาจารย์ประทวน เจริญจิตต์ ซึ่งใน พ.ศ. 2538 อาจารย์ประทวนตอบตกลงขายขาดมอบเครื่องดนตรีดังกล่าวแก่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวิชาการดนตรี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ได้มีการนำไปจัดแสดงนิทรรศการครั้งแรกในนามมหาวิทยาลัยมหิดล ที่โครงการศึกษาดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป ณ ศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์ ครั้งที่ 2 ที่ชั้น 4 อาคารบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ 3 งานระดมทุนจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนขนย้ายไปจัดเก็บร่วมกับเครื่องดนตรีอื่นๆ ในอาคารมิวสิคมิวเซียวอุษาคเนย์ ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ทั้งนี้ จากการสำรวจเครื่องดนตรีที่เคยจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ดนตรีเพื่อการศึกษา ที่ทุกวันนี้บางส่วนยังคงหลงเหลืออยู่ในคลังทรัพย์สินของวิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จฯ ส่วนหนึ่งเป็นเครื่องดนตรีเดิมของวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จฯ อีกส่วนเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับมาจากการบริจาค แต่ละชิ้นปิดกระดาษพิมพ์รหัสหมายเลข ชื่อเครื่องดนตรีและชื่อผู้บริจาคชัดเจน อาทิ วิทยาลัยครูเพชรบูรณ์ สงัด ภูเขาทอง จงกลนี ถึกวงศ์ ศักดิ์ชัย หิรัญรักษ์ เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี สุกรี เจริญสุข แบ่งออกเป็นเครื่องดีด สี ตี เป่า และเขย่า รวมจำนวนทั้งสิ้น 91 ชิ้น พร้อมเครื่องเป่าทองเหลืองประทับตรากรมตำรวจ ยี่ห้อบูเซ่แอนด์ฮอคส์ ที่โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จฯ ได้รับมอบจากกรมตำรวจตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2500

บันทึกเป็นหมายเหตุว่า เครื่องดนตรีทั้ง 91 ชิ้น เคยทำหน้าที่ครั้งสุดท้ายในนิทรรศการดนตรีขนาดย่อมชั่วคราวเมื่อ พ.ศ. 2539 ในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เปิดอาคาร 100 ปี ศรีสุริยวงศ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จฯ และทั้งนี้ เมื่อภาควิชาดนตรีไทยและดนตรีตะวันตกได้รับพัฒนายกสถานะเป็น “วิทยาลัยการดนตรี” เมื่อ พ.ศ. 2557 ถือเป็นสถาบันดนตรีเทียบเท่าคณะแห่งแรกและแห่งเดียวของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ทั้งยังเป็นผู้นำความคิดก้าวหน้าทางวิชาการและกิจกรรมดนตรีอีกมากในอดีต ถามว่าควรฟื้นคืนพิพิธภัณฑ์ดนตรีและทบทวนการบริหารจัดการเครื่องดนตรีเหล่านี้หรือไม่อย่างไร เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและเครื่องระลึกถึงความบากบั่นบุกเบิกสร้างความเป็นดนตรีในบ้านสมเด็จฯ ของครูอาจารย์ในยุคแรกเริ่ม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพัตรา วิไลลักษณ์ คณบดีวิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จฯ ให้สัมภาษณ์แผนปรับปรุงอาคารพระยาสีหราชเดโชชัย [อาคาร 27] ที่ตั้งทำการวิทยาลัยการดนตรีและคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อรองรับงานพิพิธภัณฑ์ดนตรี ห้องสมุด และร้านค้าวิทยาลัยฯ ที่จะเกิดขึ้นบนชั้น 14 ในอนาคต ว่า

“คณะมนุษยศาสตร์ฯ จะย้ายที่ทำการเมื่อตึกใหม่แล้วเสร็จ ในสภาพเป็นจริง คือห้องสมุดของเราใช้งานไม่ได้ ปัจจุบันเป็นที่เก็บหนังสือ แต่ไม่มีพื้นที่คนอ่าน เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ดนตรี ที่จัดสรรพื้นที่ได้ประมาณหนึ่ง เนื่องจากสถานที่ค่อนข้างจำกัด คิดรวมไปถึงร้านค้าวิทยาลัยฯ เพื่อที่ว่าจะได้เบ็ดเสร็จในชั้นเดียว ถามว่าเกิดขึ้นจริงได้มากน้อยและเมื่อไหร่ หนึ่ง ขึ้นอยู่ว่าคณะมนุษยศาสตร์ฯ ย้ายที่ทำการเร็วช้าเมื่อไหร่ สอง ต่อรองสถานที่ได้เท่าไหร่ เพราะเดิมทางมหาวิทยาลัยบอกให้เรา 6 ชั้น ซึ่งถ้าน้อยกว่านี้สิ่งที่อยากให้เกิดคงเกิดยาก แต่อย่างไรก็ยังมีหวัง เพราะเราเสนองบฯ ปี 63 ปรับปรุงชั้นดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว อยู่ที่ว่ามหาวิทยาลัยจะเล็งเห็นความสำคัญเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด”

เมื่อฟื้นเป็นพิพิธภัณฑ์ดนตรีเต็มตัวไม่ได้ด้วยข้อจำกัดงบประมาณสถานที่ เครื่องดนตรีเหล่านี้ก็ควรเป็นส่วนหนึ่งทำหน้าที่บอกเล่า “ความเป็นมาของวิชาดนตรีในบ้านสมเด็จฯ” ร่วมกับข้อมูลอื่นๆ รอบด้านที่บรรจุไว้ในห้องเดียว ไม่ว่าเป็น ประวัติการก่อตั้ง บ้านสมเด็จฯ ในบริบทสังคมดนตรี คณาจารย์ ผู้บริหาร นักศึกษา ผลงาน ถ้วยโล่รางวัลเกียรติยศ รวมถึงข้อมูลภาพถ่ายเก่ากิจกรรมดนตรีบ้านสมเด็จฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 จำนวน 8,636 ใบ [4] ที่ถือเป็นบันทึกจดหมายเหตุชั้นเยี่ยมอย่างดี เทปคาสเซ็ท วีดิโอ ซีดีและดีวิดีเพลงรวมกว่า 1,000 รายการ [5] ทำงานร่วมกับห้องสมุดดนตรีที่วิทยาลัยฯ ตั้งชื่อแล้วว่า “สงัด ภูเขาทอง” ออกแบบเป็นห้องทึบหรือกระจกที่ทุกคนต้องเดินผ่านเพื่อไปสู่ห้องสมุดหรือร้านค้าวิทยาลัยฯ แล้วจัดการเชื่อมโยงเปิดเป็นเครือข่ายกับพื้นที่วัฒนธรรมอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จฯ ไม่ว่าเป็น หอเกียรติยศ แหล่งเรียนรู้ธนบุรีศึกษา บ้านเอกะนาค เพื่อเคลื่อนไหวไม่ปิดตายกลายเป็นที่อยู่ของฝุ่น อย่างที่อาจารย์สงัด ภูเขาทอง เขียนบอกใน “อนิตยสารรายไม่แน่นอน” ฉบับรายงานความล้มเหลว

เชิงอรรถ
[1] อาทิ เครื่องดนตรีตะวันตกจำนวนไม่มาก ทั้งกลุ่มเครื่องลมทองเหลือง เครื่องลมไม้ เครื่องสาย และเครื่องกระทบ เครื่องดนตรีไทยประเภทละ 1 ชิ้น ทั้งกลุ่มเครื่องดีด เครื่องสี เครื่องตี เครื่องเป่า และเครื่องประกอบจังหวะ
[2] อาทิ ชุดเครื่องเป่าไทยประดับมุก ได้แก่ ปี่มอญ ปี่ใน ปี่กลาง ปี่นอกต่ำ ปี่นอก ปี่นอกกลาง ปี่ชวา ปี่ไฉน ชุดเครื่องมโหรีเลี่ยมงาประดับมุก ได้แก่ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องกลาง จะเข้ ชุดเครื่องหนังและเครื่องประกอบจังหวะ ได้แก่ ตะโพนไทย กลองทัด กลองแขก กระจังโหม่งประดับมุกสัญลักษณ์อักษร พศ ตะโพนมอญ เปิงมางคอก และพิณน้ำเต้า
[3] เนื้อหาภายในเล่มสูจิบัตรงานนิทรรศการดนตรี ครั้งที่ 2 ประกอบด้วย คำนำจากคณะผู้จัดงาน ในนามภาควิชาดนตรีศึกษา คณะมนุษย์ศาสตร์ฯ วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา วัตถุประสงค์การจัดงาน รายการแสดงประจำวัน บทความ เรื่อง “ไหว้ครูและครอบดนตรีไทย” โดยครูมนตรี ตราโมท (สำเนา) ประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง ระเบียบการบรรเลงดุริยางค์ในการพระราชพิธีหรือพิธีการต่างๆ รายชื่อหน่วยงานและบุคคลที่มีอุปการะคุณในการจัดงาน และกวีนิพนธ์
[4] ประกอบด้วยภาพถ่ายจำนวน 233 อัลบั้มเล็ก และอีก 3 อัลบั้มใหญ่ ภาพปลีกๆ ที่ไม่ได้ใส่อัลบั้มอีกจำนวน 479 ใบ โดยแต่ละอัลบั้มระบุลำดับหมายเลข วัน/ เดือน/ ปี ที่บันทึก และชื่อกิจกรรม อาทิ พิธีไหว้ครูดนตรี รับน้องนักศึกษาใหม่ แข่งขันดนตรี การเรียนการสอน งานแสดงมุทิตาจิต แสดงดนตรีไทยและสากล บันทึกเสียง ดนตรีสัญจร งาน 72 ปี และพระราชทานเพลิงอาจารย์สงัด ภูเขาทอง
[5] ประกอบด้วยเพลงไทย เพลงสากล เพลงพระราชนิพนธ์ เพลงเทิดพระเกียรติ เพลงลูกทุ่ง เพลงลูกกรุง เพลงพื้นบ้าน บันทึกการบรรเลงสด การแข่งขันดนตรี และสารคดีดนตรี

บรรณานุกรม
กรณิศ รัตนามหัทธนะ. (2561). เบื้องหลังนิทรรศการ Great and Good Friends การแสดงของขวัญที่พระมหากษัตริย์ไทยพระราชทานแก่สหรัฐฯ วิธีจัดเก็บ อนุรักษ์ และขนส่งโบราณวัตถุล้ำค่า 79 ชิ้น จากสหรัฐฯ มาจัดแสดงที่ไทย. ค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2562, จาก https://readthecloud.co/scoop-43/
ประทวน เจริญจิตต์. (มิถุนายน 2526). ใครว่าผู้หญิงเล่นดนตรีน้ำเต้าไม่ได้. ดนตรีกาล. 1. หน้า 15-23.
ประทวน เจริญจิตต์. (มิถุนายน 2526). พระอภัยมณีไม่ได้เป่าปี่ใน. ดนตรีกาล. 1. หน้า 43-52.
วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. ภาควิชาดนตรี. (2522). คำนำนิทรรศการดนตรี ครั้งที่ 2 ๒๖-๒๘ กันยายน ๒๕๒๒ ณ วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยากรุงเทพมหานคร [สูจิบัตร]. (ม.ป.ท.).
ศักดิ์ชัย หิรัญรักษ์. (2535). โครงสร้างทางกายภาพของเครื่องลมไม้ และ การจัดแบ่งหมวดหมู่. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปรัชญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล. ค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2562, จาก http://mulinet11.li.mahidol.ac.th/e-thesis/scan/0741.pdf
สงัด ภูเขาทอง. (2547). ดนตรีบ้านสมเด็จฯ จากความทรงจำ ในอนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพนายสงัด ภูเขาทอง ณ ฌาปนสถาน วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗. นครปฐม: โรงพิมพ์เพชรเกษมการพิมพ์.
สงัด ภูเขาทอง. (2547). อนิตยสารรายไม่แน่นอน ฉบับรายงานความล้มเหลว ในอนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพนายสงัด ภูเขาทอง ณ ฌาปนสถาน วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗. (ม.ป.ท.).
สุกรี เจริญสุข. (2547). อาจารย์สงัด ปูชนียบุคคลครูดนตรี ในอนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพนายสงัด ภูเขาทอง ณ ฌาปนสถาน วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗. (ม.ป.ท.).
สุดารัตน์ ชาญเลขา. (2547). ปกิณกะคนดนตรี: อาจารย์สงัด ภูเขาทอง ในอนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพนายสงัด ภูเขาทอง ณ ฌาปนสถาน วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗. (ม.ป.ท.).

สัมภาษณ์
สนอง คลังพระศรี. (24 กุมภาพันธ์ 2562). สัมภาษณ์.
สุดารัตน์ ชาญเลขา. (13 มีนาคม 2562). สัมภาษณ์.
สุพัตรา วิไลลักษณ์. (28 กุมภาพันธ์ 2562). สัมภาษณ์.
อนุรักษ์ บุญเเจะ. (27 กุมภาพันธ์ 2562). สัมภาษณ์.

[บทความ เรื่อง “พิพิธภัณฑ์ดนตรีเพื่อการศึกษา” ของวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา หายไปไหน ? ตีพิมพ์เผยเเพร่ครั้งเเรกในวารสารดนตรีบ้านสมเด็จฯ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม-มิถุนายน พ.ศ. 2562]

Comment

  1. เอกพสิษฐ์ พชรกุศลพงศ์ says:

    กิจกรรม ที่ก่อเกิดจากภาควิชาดนตรี วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยอ.สงัด ภูเขาทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *