50 ปี ปี่พาทย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยา : วิถีผลิตครู-ศิลปินปี่พาทย์ บนเส้นทางการศึกษาปัจจุบัน

50 ปี ปี่พาทย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยา :
วิถีผลิตครู-ศิลปินปี่พาทย์ บนเส้นทางการศึกษาปัจจุบัน
พิชชาณัฐ ตู้จินดา [Pitchanat Toojinda]
[ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาดนตรีไทย
วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา]

ใช่-ที่ว่าตัวหลักสูตรผลิตบัณฑิตดนตรีของแต่ละสถาบัน ที่ไหนๆ ก็มีส่วนคล้ายคลึงกันทั้งนั้น ยิ่งหนีไม่ออกคือวิชาปฏิบัติ เพราะอย่างน้อยใช้กรอบการใช้งาน ประเภทเพลง หรือว่ากันถึงที่สุด คือลำดับขั้นในการเรียน [1] เป็นหลักคิดกำหนดหลักสูตร แต่ไม่ใช่ทั้งหมด-ที่จะบอกว่าบัณฑิตดนตรีจากสถาบันไหนๆ ก็เหมือนกัน เพราะสิ่งแตกต่างคือวิถีความคิด ประสบการณ์ จากเบ้าหลอมที่มีวัฒนธรรมองค์กรวัฒนธรรมพื้นที่ต่างกัน

โดยเฉพาะ ‘บ้านสมเด็จเจ้าพระยา’ สถาบันเปิดสอนหลักสูตรดนตรี ตั้งแต่มีสถานะตั้งต้นเป็นวิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ชัดเจนแล้วว่ามีวิถีความคิด ‘สร้างสรรค์’ ให้ความสำคัญกับการยอมรับอัตลักษณ์ทางดนตรีไทยที่ ‘หลากหลาย’ ไม่จำกัดอยู่ภายใต้แนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง แม้ธรรมชาติวิชาจะมีลักษณะอยู่ในขนบสังคมจารีตก็ตาม

กล่าวภาพรวม ไม่เพียงบ้านสมเด็จเจ้าพระยาจะเป็นสถาบันแรกที่เปิดสอนหลักสูตรดนตรีในระดับอุดมศึกษา หากแต่หลายแนวคิดสร้างสรรค์จากโลกอนาคต ทั้งกิจกรรมวิชาการและการจัดการเรียนการสอนดนตรีเกิดขึ้นนำหน้าจากที่นี่ ไม่ว่าเป็น แนวคิดจัดตั้งคณะเปิดทำการเรียนการสอนดนตรีโดยเฉพาะ อาคารเรียนดนตรี หลักสูตรมัธยมดนตรี พิพิธภัณฑ์ดนตรีโลก การเรียนข้ามศาสตร์ที่ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตร [2] แม้บางแนวคิดจะได้รับการต่อยอดสำเร็จเป็นรูปธรรมที่สถาบันอื่นก่อนก็ตาม หากแต่ปฏิเสธไม่ได้ ว่าความสำเร็จเหล่านั้นเกิดขึ้นด้วยมือของคนจากบ้านสมเด็จเจ้าพระยาเช่นกัน

โดยเฉพาะก้าวแรกในการผลิตครูดนตรีตั้งแต่ พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา เป็นรากฐานก้าวสำคัญส่งผลมีส่วนให้ ‘เด็กบ้าน’ ที่หมายถึงเด็กจากสำนัก/บ้านดนตรีปี่พาทย์ทั้งกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด ตัดสินใจเข้ามาศึกษาต่อยังสถาบันที่ครูดนตรีในโรงเรียนของตนสำเร็จการศึกษา เป็นสายสัมพันธ์เกาะเกี่ยวยึดโยงสืบเนื่องถึงปัจจุบัน โดยเปิดกว้างโอบรับความหลากหลายทางดนตรีจากสำนักหลายท้องที่ ด้วยแนวคิดรักษาอัตลักษณ์ความเป็นปัจเจก ในขณะเดียวกันก็ยอมรับความหลากหลายของความเป็นปัจเจกด้วยเช่นกัน

วงปี่พาทย์มอญ วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อ พ.ศ. 2529

วงปี่พาทย์มอญ วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อ พ.ศ. 2529

ผศ.ดร.รังสรรค์ บัวทอง [3] ศิษย์เก่าปี่พาทย์และอาจารย์ มรภ.บ้านสมเด็จฯ ให้ความเห็น ว่า “เด็กมีฝีมือมาจากหลายบ้านหลายสำนัก ทั้งนนทบุรี เพชรบุรี อ่างทอง อยุธยา กาญจนบุรี อย่างผมมาจาก ‘บ้านบัวทอง’ สุพรรณบุรี สิ่งหนึ่งที่รู้สึกได้ คือที่นี่คัดคนที่นิสัยก่อน ฝีมือดูตามทีหลังว่าเก่งอย่างไร เก่งต่อเก่งเจอกัน คนที่มีบทบาทเปลี่ยนแปลงมากคือครู ถ้าครูไม่ยึดติด ว่าเด็กคนนี้มาจากบ้านนี้ เด็กคนนี้มาจากบ้านนั้น ทุกคนเท่าเทียมกัน กินข้าวหม้อเดียวกัน วงคือวง บทบาทใครตรงไหนทำอะไร ครูทำหน้าที่พ่อบ้านที่ดี คนเก่งก็อยู่ร่วมกันได้

“เป็นความวิเศษ ว่าที่นี่ไม่เคยปิดกั้นเรื่องทางเพลง บางทีเด็กมีความรู้มาจากสำนักใหญ่ๆ มาถึงยังไงก็ต้องปรับ สมมุติวันนี้จะเล่นเพลงทางนี้ คุณก็ต้องเล่นเพลงทางนี้ งานหน้าจะเล่นเพลงทางบ้านคุณบ้างล่ะ เคยฟังแล้วดี ขอมาเล่นบ้างสิ หางเพลงอันนี้ใครทำ ถ้าดีก็ขอมาเล่น เด็กจึงไม่รู้สึกแปลกแยก

“อย่างครูที่สอนยุคก่อน คืออาจารย์มนัส ขาวปลื้ม [ลูกศิษย์บ้านสมเด็จฯ เรียก ‘เฮียเหม็ง’ – ผู้เขียน] อาจารย์ทำงานประจำอยู่กรมศิลปากร ท่านใช้ทางฆ้องมาตรฐานในการสอน มาตรฐานที่นี้หมายความว่า ที่ทั่วไปใช้กัน พูดง่ายๆ ถ้าเด็กจบไป จะไปเล่นกับวงโน้นก็ได้วงนี้ก็ได้ แต่ถามว่าท่านจำกัดไหม ไม่จำกัด ยิ่งเรียนยิ่งได้ความรู้ ชอบเสียอีกที่ไปเรียนเพลงจากบ้านโน้นบ้านนี้แล้วนำมาใช้ เพียงแต่เวลาสอบเข้าทำงาน ดูหน่อยว่าตรงไหนเขาใช้อะไรกัน คุณก็เอาตรงนั้นไปสอบ ถ้าไม่รู้ทิศทางก็ตายใช่ไหม”

อธิบายการจัดการเรียนการสอนวิชาเอกปี่พาทย์ของบ้านสมเด็จเจ้าพระยาปัจจุบัน กล่าวคือมีลักษณะเป็น ‘ตลาดวิชา’ ที่นำเสนอสรรพวิชาความรู้หลากหลายแก่สังคม ที่แม้ตลอด 4 ปี นักศึกษาจะได้เรียนเครื่องมือเอกกับอาจารย์ที่ทำหน้าที่สอนเฉพาะแต่ละเครื่องมือ [4] หากแต่นักศึกษายังจะได้เรียนกับอาจารย์ปี่พาทย์ครบทุกท่านในรายวิชาปฏิบัติที่แต่ละท่านรับผิดชอบ โอกาสจึงได้สัมผัสวิธีการสอน รูปแบบการอธิบาย วิธีคิดในการปฏิบัติ/ฝึกซ้อม/ปรับวง ประสบการณ์ โดยเฉพาะนำเสนอทางเพลงสายสำนักสำคัญหลักทั้งพระนคร-ธนบุรี เป็นช่องทางเลือกวิถีดนตรีของนักศึกษาสำหรับค้นหาสร้างตัวตนในอนาคต

ไม่เพียงวิชาเอกปี่พาทย์ เพราะวิชาเอกเครื่องสายไทยของบ้านสมเด็จเจ้าพระยาก็มีวิถีความคิดไปในทิศทางเดียวกัน ผศ.ดร.สุรพงษ์ บ้านไกรทอง [5] ให้ความเห็น ว่า “ภาพรวมเครื่องสายไทยที่นี่ ผมขอนิยามว่าเป็น ‘สถาบันแห่งความหลากหลาย’ มีระดับการสอนหลากหลาย ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน จนถึงขั้นฝึกคิดขั้นลองลงมือทำ และขั้นที่ประยุกต์ศาสตร์ต่าง ๆ ได้ ในส่วนตัวผมพยายามทำให้การเรียนดนตรีไทยที่นี่ไม่ผูกกับสายสำนัก แต่สร้างให้ผู้เรียนรับฟัง ยอมรับ เปิดใจได้ทุกแนวทาง อีกทั้งเตรียมพร้อม เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้การบรรเลงทุกแนวทางอีกด้วย เพราะก่อนที่คุณจะเลือกได้ว่าตัวตนของคุณเป็นแบบไหน คุณต้องเรียนรู้แต่ละแนวก่อน ตัวอย่างเช่น เครื่องสี เช่นซอด้วง ซออู้ ผมจะเตรียมซอเอาไว้สองสำรับ ทั้งซอสายไหมสายลวด คุณชอบสายไหมให้สีสายไหม คุณชอบสายลวดให้สีสายลวด

“ยกตัวอย่าง ถ้าในชีวิตคุณไม่เคยฝึกคันชักแบบพระยาภูมีเสวินเลย ขึ้นไปเป็นเดี่ยวขั้นสูง คุณจะไปต่อเพลงในสำนักพระยาภูมีเสวินก็ไม่ได้ เช่นเดียวกันถ้าคุณไม่เคยสีว่าดอกแบบหลวงไพเราะเสียงซอ หรือไม่เคยฟังเคยสีทางครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล คุณก็ไม่อาจไปรับเพลงเดี่ยวอันใหญ่โตของเขาได้

“เรามีโครงการ ชื่อ ‘ศิลปินต้นแบบ’ คือพยายามให้เด็กรู้จักศิลปินมาก ๆ เชิญครูผู้ใหญ่ให้นักศึกษาได้มาสัมผัส ได้ซึมซับมุขปาฐะความเป็นสำนัก ได้เรียนรู้ครูที่มีปรัชญาต่างกัน มีแนวคิดต่างกัน คุณชอบแบบไหน เราก็จะดูแลให้คุณได้เรียนรู้และศึกษาแบบที่คุณชอบให้ได้มากที่สุด โจทย์คือทำอย่างไรให้เขามีความเพียบพร้อม เพราะเมื่อวันหนึ่งโอกาสมาถึง เขาก็พร้อมที่จะรับโอกาสนั้นได้เสมอ อันนี้คือสิ่งหนึ่งที่ผมเห็น ว่าเป็นจุดเด่นที่บ้านสมเด็จฯ ที่มีมอบให้กับพวกเขา”

กล่าวตรงไปตรงมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า จำนวนนักศึกษาวิชาเอกปี่พาทย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยาปัจจุบัน แนวโน้มเป็น ‘เด็กชมรม’ ที่หมายถึงเด็กนักเรียนที่เรียนรู้ดนตรีและทำกิจกรรมดนตรีในรั้วโรงเรียน มากกว่าจำนวน ‘เด็กบ้าน’ ปัจจัยอาจเพราะทางเลือกสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรดนตรีมีมากขึ้นและเข้าถึงได้จากหลายท้องถิ่นภูมิภาค โดยเฉพาะการล้มสลายคลี่คลายของระบบสำนัก/บ้านดนตรีปี่พาทย์ทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด แม้ภาพรวมฝีมือปฏิบัติอาจไม่เจนจัดทัดเทียมมาตรฐานอดีต แต่ต้องยอมรับ ว่านอกจาก ‘เด็กบ้าน’ จำนวนหนึ่ง นักศึกษาวิชาเอกปี่พาทย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยาปัจจุบันที่เป็น ‘เด็กชมรม’ จำนวนไม่น้อยเป็นนักศึกษาที่มีพื้นฐานคุณภาพดีและมาพร้อมกับความมุ่งมั่นเพื่อต่อยอดสู่มืออาชีพ

ผศ.ดร.รังสรรค์ บัวทอง ให้ความเห็น ว่า “กล้าพูดได้ว่าความโดดเด่นของบ้านสมเด็จฯ คือคุณภาพฝีมือปฏิบัติ ชื่อเสียงมาจากการบรรเลงโชว์ แข่งขัน ประชันวง ความนิยมสร้างสมกันมาตั้งแต่ยุคศิษย์เก่า คนที่มีบทบาทเรื่องการประกวดประชันวงของบ้านสมเด็จฯ คืออาจารย์มนัส ขาวปลื้ม จะประกวดกี่ครั้งๆ ก็ติดอันดับหนึ่งในสามทุกครั้ง ยุคนั้นบรรเลงโชว์มากกว่าประชันวง บ้านสมเด็จฯ ติดอันดับได้รับเชิญบรรเลงโชว์มาโดยตลอด ถ้าประชันวงก็ไม่ถึงขั้นเอาเป็นเอาตาย หนักบ้างเบาบ้าง แต่ทุกสถานการณ์ก็เอาอยู่

“มองว่าปัจจุบันบ้านสมเด็จฯ มีความพร้อมมากกว่าแต่ก่อน เพราะอาจารย์ที่นี่มีความถนัดครอบคลุมทุกเครื่องมือ นอกจากปฏิบัติยังมีคนทำงานวิชาการ พูดง่ายๆ ว่าทั้งบุ๋นบู๊ เพียงแต่ในยุคคนปัจจุบันจะกำหนดทิศทางบ้านสมเด็จฯ ให้ไปทางไหน แน่นอนด้วยการศึกษาไทยที่บีบบังคับทุกอย่าง บีบบังคับแม้กระทั่งเวลาของอาจารย์ที่ต้องควบคุมดูแลวง เรื่องปฏิบัติก็ยังคงต้องเน้นให้เป็นจุดแข็งต่อไป หมายความว่าไม่ควรไปตามช้างในเรื่องอื่น แต่ควรเป็นช้างเสียเองในเรื่องที่เราถนัด”

กล่าวเบื้องต้นแนะนำข้อแตกต่างระหว่างหลักสูตรที่มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตครู อย่างสาขาวิชา ‘ดนตรีไทยศึกษา’ และหลักสูตรที่มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตศิลปิน อย่างสาขาวิชา ‘ดนตรีไทย’ ที่ทั้งสองสาขาวิชาอยู่ภายใต้ร่มภาควิชาดนตรีไทย วิทยาลัยการดนตรี กล่าวคือหลักสูตรดนตรีไทยศึกษา แม้จำนวนวิชาปฏิบัติดนตรีจะไม่มากเท่าหลักสูตรดนตรีไทย [6] หากแต่นอกจากตัวเพลงและเนื้อหารายวิชา นักศึกษาหลักสูตรดนตรีไทยศึกษายังต้องเรียนรู้ซึมซับให้ความสำคัญกับวิธีถ่ายทอด หัวใจการสอนและอธิบาย อาทิ วิชาการสอนปฏิบัติระนาดเอก หรือวิชาการสอนทฤษฎีและประวัติดนตรีไทย เช่นเดียวกันที่นักศึกษาหลักสูตรดนตรีไทยต้องลงลึกเนื้อหาดนตรีและมุ่งฝึกทักษะฝีมือปฏิบัติเป็นหัวใจสำคัญ

นอกจากนี้ ทั้งสองหลักสูตรยังเพิ่มมุมมองขยายพื้นที่ความรู้ที่เน้นหนักต่างกัน ไม่ว่าเป็น วิชาศึกษาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการห้องเรียนและความเป็นครูของหลักสูตรดนตรีไทยศึกษา และวิชาที่กล่าวถึงเนื้อหาดนตรีโดยเฉพาะและตะเข็บศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับดนตรี ได้แก่ ดนตรีไทยร่วมสมัย สำนักและบุคคลสำคัญทางดนตรีไทย มานุษยวิทยาดนตรี ดนตรีชาติพันธุ์ ของหลักสูตรดนตรีไทย ที่แม้ทั้งสองหลักสูตรจะถูกพูดถึงกันมากในภาวะปัจจุบัน คือวิกฤตจำนวนนักศึกษาที่สัมพันธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับอัตราการเกิดของประชากรไทยที่ลดลงเมื่อเทียบกับอดีต [7] หากแต่วิกฤตเป็นโอกาสได้ทบทวนมองย้อนกลับมาพิจารณาข้อได้ข้อเสียเมื่อเปรียบเทียบ ‘ปริมาณ’ กับ ‘คุณภาพ’ และ ‘เม็ดเงิน’ ว่าแท้จริงแล้วคุณภาพการศึกษาไทยควรหลงตัวเลขปริมาณหรือให้ความสำคัญสร้างศักยภาพบุคคล

ที่ไม่เพียงทั้งสองหลักสูตรจะมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้เป็นครูและศิลปินตามอุดมคติ หากแต่ยังต้องการสร้างตัวตนบัณฑิตให้มีคุณลักษณะ ‘นักจัดการ’ ที่ดีอีกด้วย อย่างที่ ผศ.ดร.สุรพงษ์ บ้านไกรทอง ให้ความเห็น ว่า “สถาบันอุดมศึกษา หมายถึง สถานที่ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ในการศึกษา ถ้าเขาเป็นปัญญาชนในสังคมที่อุดมด้วยปัญญา อุดมด้วยการศึกษา เขาต้องเรียนรู้ชีวิต ชีวิตที่ไม่ได้เรียนรู้ดนตรีอย่างเดียว เพราะสิ่งสำคัญของการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันคือ การจัดการ ถ้าคุณเป็นนักจัดการที่ดี ไม่ว่าจัดการเรื่องการเรียนการสอน หรือจัดการชีวิตคุณเอง คุณจะไปทำอาชีพอะไรก็ได้ เพราะนักจัดการก็ต้องใช้วิธีขั้นนำ ขั้นสอน ขั้นสรุปเหมือนกัน มีก่อนทำ ระหว่างทำ แล้วก็หลังทำ ทั้งสองหลักสูตรจึงพยายามแนะให้เขาจับจุดนี้ให้ได้

“ข้อมูลอะไรจำเป็นที่เขาควรรู้ ตัววิชาในหลักสูตรก็ควรต้องมี เช่นกลุ่มวิชาที่ว่าด้วยข้อมูลที่พูดถึงเรื่องแนวคิด ทฤษฎี และประวัติต่าง ๆ กลุ่มวิชาที่ว่าด้วยเรื่องของการจัดการ และกลุ่มวิชาที่ว่าด้วยการปฏิบัติ อาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มวิชา ‘สามเส้า’ ที่สำคัญและจำเป็นต่อครูดนตรีและนักดนตรีไทยในยุคปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าวิถีความคิด ชุดความเชื่อ การปลูกฝังความคิดของแต่ละสถาบันแตกต่างกัน นักศึกษามหาวิทยาลัยอื่นอาจไม่คิดเหมือนกับนักศึกษาบ้านสมเด็จฯ เช่นเดียวกัน นักศึกษาบ้านสมเด็จฯ ก็มีวิถีความคิด มีชุดความเชื่อบางอย่าง ที่นักศึกษาของเราก็คิดไม่เหมือนกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขาเรียนรู้ ได้สั่งสมตลอดการเรียนในมหาวิทยาลัย ได้ทำให้เขาคิด ให้เขาเป็นแบบนั้น”

โดยเฉพาะโครงการต่างๆ ของภาควิชาดนตรีไทย วิทยาลัยการดนตรี ที่เสริมสร้างประสบการณ์การจัดการให้นักศึกษาตลอด 4 ปี ทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัย ไม่ว่าเป็น โครงการจัดการความรู้ อย่าง ‘เพลิน’ ที่ผนวกคำ เพลย์ [play] กับ เลิร์น [learn] เป็น ‘เพลิน’ พูดถึงการนำเสนอเนื้อหาประวัติดนตรีผ่านชุดการแสดงที่ออกแบบระดมสมองโดยนักศึกษา โครงการ ‘โต้วาทีวาทิต’ กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ รับฟัง โต้แย้ง วิจารณ์ วิพากษ์ โดยใช้ฐานข้อมูลทางดนตรีไทยมาตั้งเป็นประเด็นเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติที่แตกต่างกัน และ ‘สุริยวาฑิตเสวนา’ กิจกรรมพูดคุยทางปัญญาความรู้และตั้งประเด็นคำถามเกี่ยวข้องด้านดนตรี หรือโครงการจัดการกิจกรรมที่นักศึกษามีส่วนร่วมเป็นกำลังสำคัญในการวางแผน ประสานงาน ลงมือทำงานร่วมกับคณาจารย์ อย่าง ‘มหาดุริยางค์’ และ ‘ชมรมดนตรีไทย’

ที่สำคัญคือโครงการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ณ สหรัฐอเมริกา และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยคัดเลือกเข้าโครงการจากนักศึกษาที่มีความพร้อมด้านฝีมือปฏิบัติและการทำงาน นอกจากนี้ ยังส่งนักศึกษาไปเรียนรู้ดนตรีเมียนมาร์เป็นเวลาปีละ 2 สัปดาห์ ณ สถาบัน ‘เนชั่นแนล ยูนิเวอร์ซิตี้ อาร์ตแอนด์คัลเจอร์ ย่างกุ้ง’ [NUAC] สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ที่ทำความร่วมมือทางวัฒนธรรมกับบ้านสมเด็จเจ้าพระยาเข้าปีที่ 8 โดยลงทุนจัดหาซื้อเครื่องดนตรีเมียนมาร์ยกทั้งวงมาไว้ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาอีกด้วย

บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ทำความร่วมมือทางวัฒนธรรมกับ สถาบัน ‘เนชั่นแนล ยูนิเวอร์ซิตี้ อาร์ตแอนด์คัลเจอร์ ย่างกุ้ง’ [NUAC] สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เข้าปีที่ 8 โดยลงทุนจัดหาซื้อเครื่องดนตรีเมียนมาร์ยกทั้งวงมาไว้ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาอีกด้วย

บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ทำความร่วมมือทางวัฒนธรรมกับ สถาบัน ‘เนชั่นแนล ยูนิเวอร์ซิตี้ อาร์ตแอนด์คัลเจอร์ ย่างกุ้ง’ [NUAC] สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เข้าปีที่ 8 โดยลงทุนจัดหาซื้อเครื่องดนตรีเมียนมาร์ยกทั้งวงมาไว้ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาอีกด้วย

บ้านสมเด็จเจ้าพระยามีชัยภูมิที่ตั้งใจกลางความ ‘หลากหลาย’ เป็นวัฒนธรรมเฉพาะพื้นที่ เพราะแวดล้อมด้วยสีสันการรวมอยู่ของชุมชนเชื้อชาติศาสนาความเชื่อ [8] ที่ทั้งรอบรั้วบ้านสมเด็จเจ้าพระยายังอุดมด้วยแหล่งศิลปวัฒนธรรมที่ถือเป็น ‘แลนด์มาร์ค’ ธนบุรี ทั้งชุมชนช่าง สำนักดนตรี เป็นย่านพื้นที่ประวัติศาสตร์อยู่อาศัยของศิลปินคนทำงาน ‘สร้างสรรค์’ โดยเฉพาะบุคคลในตระกูลบุนนาคที่เคยครอบครองพื้นที่นี้มาก่อน ถามว่าเชื้อไฟแห่งการสร้างสรรค์มีมานานมากน้อยแค่ไหนบนพื้นที่แห่งนี้ อาจตอบได้ว่าตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นี่คือต้นทุนข้อได้เปรียบของบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่บอกกล่าวตั้งแต่ย่อหน้าแรกบทความ ว่าสิ่งแตกต่างของบัณฑิตดนตรีแต่ละสถาบัน คือวิถีความคิด ประสบการณ์ จากเบ้าหลอมที่มีวัฒนธรรมองค์กรวัฒนธรรมพื้นที่ต่างกัน

20 กันยายน 2563
โพธิ์สามต้น อิสรภาพ ธนบุรี

เชิงอรรถ
[1] ผูกโยงอย่างปฏิเสธไม่ได้ กับการ ‘ครอบ’ ในพิธีไหว้ครู เพื่อเรียนเพลงในแต่ละลำดับขั้น ตั้งแต่ขั้นต้น-ขั้นกลาง-ขั้นสูง โดยพิจารณาจากอายุ [ชั้นปีของนักศึกษา] ด้วยเป็นสำคัญ เช่น นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ว่าตามตัวหลักสูตรก็ไม่ควรตั้งต้นเรียนด้วยเพลงชุดโหมโรงกลางวัน เป็นต้น
[2] หมายความว่า นักศึกษาเครื่องมือเอกดนตรีตะวันตกต้องเรียนรู้ดนตรีไทย นักศึกษาเครื่องมือเอกดนตรีไทยต้องเรียนรู้ดนตรีตะวันตก
[3] อาจารย์ประจำภาควิชาดนตรีไทย วิทยาลัยการดนตรี ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
[4] ปี่ใน-ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัมรินทร์ แรงเพ็ชร ระนาดเอก-ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รังสรรค์ บัวทอง ระนาดทุ้ม-ผู้ช่วยศาสตราจารย์วงศ์วสันต์ วสันตสุรีย์ ฆ้องวงใหญ่-ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิชชาณัฐ ตู้จินดา ระนาดเอก/ฆ้องวงเล็ก-ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนาธิป เผ่าพันธุ์ นอกจากนี้ ยังเชิญอาจารย์พิเศษที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอีก 3 ท่าน ได้แก่ ฆ้องวงใหญ่-ครูสุรินทร์ สงค์ทอง ขับร้องเพลงไทย-ครูพัฒนี พร้อมสมบัติ เครื่องหนังไทย-ครูอนุชา บริพันธุ์
[5] อาจารย์ประจำภาควิชาดนตรีไทย วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
[6] หลักสูตรดนตรีไทยศึกษามีวิชาปฏิบัติเครื่องมือเอก 5 ตัว ไม่มีวิชาปฏิบัติรวมวง หลักสูตรดนตรีไทยมีวิชาปฏิบัติเครื่องมือเอก 7 ตัว และมีวิชาปฏิบัติรวมวง
[7] ตัวอย่างเชิงประจักษ์ คือจำนวนนักเรียนชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนรอบรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ลดจำนวนกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับ 10 ปี ที่แล้ว
[8] ได้ชื่อว่า ชุมชนเจ็ดศาสนา และวิถีชุมชนมุสลิม ‘สามกะดี-สี่สุเหร่า’

สัมภาษณ์
ธนาธิป เผ่าพันธุ์. สัมภาษณ์. 29 กรกฎาคม 2563.
รังสรรค์ บัวทอง. สัมภาษณ์. 7 สิงหาคม 2563.
วงศ์วสันต์ วสันตสุรีย์. สัมภาษณ์. 29 กรกฎาคม 2563.
สุรพงษ์ บ้านไกรทอง. สัมภาษณ์. 29 กรกฎาคม 2563.
อัมรินทร์ แรงเพ็ชร. สัมภาษณ์. 7 สิงหาคม 2563.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *